“หมอธี-หมออุดม” ย้ำ กกอ.-สกอ.ทำถูกต้องประกาศรายชื่อหลักสูตรไม่ผ่านมาตรฐาน ชี้เด็กต้องรู้ว่าหลักสูตรที่มาเรียนเป็นเช่นไร
ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตรจากการประเมินการประกันคุณภาพภายในระดับหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดและ ในกำกับของ สกอ.ในปีการศึกษา 2558 และ 2559 ขึ้นเวบไซต์ www.mua.go.th ไปแล้ว ตามที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) มีมติให้เผยแพร่หลักสูตรที่ไม่ได้มาตรฐาน 182 หลักสูตร จากที่เปิดสอน จำนวน 9,099 หลักสูตร ในสถาบันอุดมศึกษา 40 แห่งนั้น
ล่าสุดวันที่ 17 ม.ค.2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายชัดเจนว่าเด็กจบแล้วต้องงานทำ และต้องการให้หลักสูตรการศึกษาต่าง ๆ ปรับปรุงพัฒนาเพื่อผลิตคนได้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ จึงต้องการให้เด็กได้รู้ข้อมูล ซึ่งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีสถานะเป็นนิติบุคคลเป็นอิสระกำกับโดยสภามหาวิทยาลัย ศธ. สกอ.ไม่มีอำนาจสั่งการได้ เพราะไม่ใช่กรณีปัญหาทุจริต ปัญหาธรรมาภิบาล หรือกรณีสภามหาวิทยาลัยไม่สามารถบริหารงานได้ ตรงนี้ก็มีกฎหมายที่ให้ ศธ. สกอ.เข้าไปดู
แต่การที่ สกอ.ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านมาตรฐาน เป็นไปตามมติ กกอ.ก็ทำหน้าที่หรือไม่ ทำตามข้อเท็จจริงหรือไม่ และการประกาศก็ไม่ได้โทษว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่ทำเพื่อปกป้องเด็ก ส่วนมหาวิทยาลัยที่มีรายชื่อตามที่ประกาศ แห่งใดจะออกมาชี้แจงก็เป็นสิทธิ์
“มองอีกด้านในอดีตเวลามีนักศึกษามาเดินขบวน เรียกร้องหลักสูตรไม่ผ่าน ก็ถูกต่อว่าทำไมไม่ประกาศให้เขารู้ล่วงหน้า แต่พอครั้งนี้ประกาศก็มีเสียงสะท้อนมากมาย กลายเป็นประเด็นทั้งที่ไม่ใช่ประกาศทันที แต่ให้รู้ล่วงหน้าเป็นปีๆ ให้แก้ไข เช่น ถ้าเหตุเกิดจากอาจารย์ไม่พอก็ต้องไปแก้ไขให้อาจารย์พอ เป็นต้น ดังนั้น นโยบายของนายกฯ ของ ศธ.คือ ต้องให้เด็ก คนมาเรียนรู้ว่าหลักสูตรเป็นอย่างไร แล้วใครจะเป็นคนบอกเขาถ้า กกอ.ไม่ทำหน้าที่นี้ และเป็นหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยก็ต้องแก้ไข” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
ด้านนพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การที่ สกอ.เผยแพร่รายชื่อหลักสูตรไม่ได้รุกล้ำ หรือบีบมหาวิทยาลัย เพราะทำตามมติ กกอ.เพื่อปกป้องนักศึกษาให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และเป็นไปตามนโยบายของนายกฯ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 ว่าต้องเผยแพร่ข้อมูล
ส่วนมหาวิทยาลัยก็ต้องปรับปรุงแก้ไข ตามที่แนะนำ เช่น ขาดอาจารย์ก็ต้องหาอาจารย์เพิ่ม ให้ตามเกณฑ์ เป็นต้น ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ต้องปิด เพราะถ้าทำต่อก็กระทบคุณภาพ ตรงนี้ตนมองว่าเป็นเรื่องสากลทั่วโลก ทั้งนี้ พยายามให้ สกอ.ดูแลเรื่องการสนับสนุนส่งเสริม ดูแลมาตรฐานและคุณภาพ เพราะไม่ต้องการให้ สกอ.ไปวุ่นวายกับมหาวิทยาลัย ที่ต้องมีอิสระในการทำงาน อิสระในเรื่องวิชาการ
ดังนั้น การเปิดเผยรายชื่อหลักสูตรไม่ผ่านมาตรฐาน เป็นหน้าที่ ที่ กกอ.ต้องทำเพื่อรักษาสิทธิ์ให้กับนักศึกษา ผู้ปกครอง และประเทศด้วยไม่เช่นนั้นสูญเสียงบประมาณที่ทุ่มจำนวนมาก แต่สุดท้ายจบมาไม่มีงานทำกลายเป็นผลเสีย