-- advertisement --

วันศุกร์ ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567, 19.10 น.

Tag :

กมว.ปรับปรุงมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัย-ครูการศึกษาพิเศษ พร้อมฟันโทษครูผิดจรรยาบรรณ 34 ราย

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567  นายศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยภายหลังประชุม กมว. ว่า ที่ประชุม ได้พิจารณาร่างข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัย กับร่างข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูการศึกษาพิเศษ  ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องออกข้อบังคับมาตรฐานวิชาชีพครูในสองกลุ่มนี้ เนื่องจากดูแลกลุ่มเด็กพิเศษและกลุ่มเปราะบางที่ดูแลช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพราะฉะนั้น ครูที่จะมาดูแลการเรียนรู้ การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทั้งสองกลุ่มนี้จะต้องเป็นครูที่มีความรู้ความสามารถพิเศษเฉพราะทาง มีวิธีปฏิบัติงาน มีวิธีดูแลเด็กพิเศษและเด็กปฐมวัยได้อย่างถูกต้อง 

“ก่อนนี้คนอาจจะมองว่า เอาใครก็ได้มาเป็นครูในการดูแลเด็กสองกลุ่มนี้ แต่ระยะหลังนี้เราเริ่มเห็นปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น การดูแลเด็กเล็กกลุ่มพิเศษ หรือดูแลการพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ถ้าเราลงทุนกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศชาติอย่างถูกต้องเต็มที่ ผลตอบแทนนสู่สังคมจะสูงมาก เพราะฉะนั้น ครูที่จะมาช่วยดูแลเด็กปฐมวัยจึงต้องมีมาตรฐานวิชาชีพที่เฉพาะเจาะจง จึงจะสามารถช่วยในเรื่องพัฒนาการของเด็กปฐมวัยของประเทศอันจะเป็นกำลังสำคัญเป็บพลเมืองของประเทศที่สำคัญยิ่ง เพราะหลายเรื่องที่เราเห็นปัญหาในสังคมหลายอย่าง ก็มาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก บาดแผลในใจในช่วงวัยเด็กของเขา ดังนั้น เด็กปฐมวัยจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพื่อให้ได้รับการพัฒนาการทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมย์ สังคม ให้ไปในทิศทางที่ควรจะเป็น จึงจำเป็นต้องอาศัยครูที่มีความสามารถเฉพราะทางมาดูแล  ดังนั้น เราจึงพยายามผลักดันการออกมาตรฐานวิชาชีพของครูทั้งสองกลุ่มนี้ให้เกิดขึ้น“ ประธาน กมว. กล่าว 

นายศิริเดช กล่าวต่อว่า ก่อนนั้นครูทั้งสองกลุ่มนี้จะใช้มาตรฐานวิชาชีพครูทั่วไป แต่เราได้รวบรวมความเห็นในหลายๆเรื่องที่เป็นข้อน่าสังเกตุ จึงต้องมีการปรับปรุงร่างข้อบังคับนี้ให้ทันสมัยและคมชัดมากยิ่งขึ้น เพื่อว่าเวลานำไปใช้จริงจะได้เกิดปัญหาน้อยที่สุด และเกิดผลดีมากที่สุด อย่างไรก็ตาม คาดว่าร่างข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัย กับร่างข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูการศึกษาพิเศษ นี้จะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2567 นี้ หลังคณะกรรมการคุรุสภาเห็นชอบและ รมว.ศธ.ลงนามใช้ต่อไป    

ด้าน ผศ.ดร.อมลวรรณ  วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ครูปฐมวัยมี พ.ร.บ.ครูปฐมวัย ส่วนครูการศึกษาพิเศษ ก็มี พ.ร.บ.ครูการศึกษาพิเศษอยู่แล้ว แต่ถ้าเราทำมาตรฐานครูสองกลุ่มนี้ไว้ก็จะนำไปสู่ขบวนการของการผลิตครูการศึกษาพิเศษ และการผลิตครูปฐมวัย รวมถึงสาระที่ต้องเรียน ว่าจะต้องเรียนรู้อะไรบ้าง และขบวนการสอบก็ต้องว่าด้วยความรู้เหล่านี้  เพราะการประกาศสอบของคณะกรรมการคุรุสภาจะแยกเป็น 1.กลุ่มครูปฐมวัย 2.กลุ่มครูประถมศึกษา 3.กลุ่มครูการศึกษาพิเศษ 4.กลุ่มครูการศึกษาตลอดชีวิต 5.กลุ่มครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฟิสิก เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์  และ 6.กลุ่มครูอาชีวศึกษา  แต่ตอนนี้เราจะเริ่มจากร่างข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูปฐมวัย กับร่างข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูการศึกษาพิเศษ ก่อน  และหลังจากนั้น ทางสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ก็จะทำไทม์ไลน์ว่าแผนต่อไปเราจะออกข้อบังคับครูกลุ่มไหนที่เป็นแต่ละกลุ่มเฉพาะ ส่วนกลุ่มครูทั่วไปก็ใช้ พ.ร.บ.ที่ประกาศไว้อยู่แล้ว 

ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กมว.ได้พิจารณาโทษผู้กระทำผิดจรรยาบรรณ จำนวน 34 คดี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.โทษตักเตือน  2.โทษภาคทัณฑ์  และ 3.พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ  และในจำนวนนี้ มีครูที่ถูกเพิกถอนการใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ คือ ครูค้ายาเสพติด ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก การทำร้ายร่างกายเด็กจนทำให้เด็กบาดเจ็บอย่างรุนแรง ครูกล่าววาจาหยาบคลายดูหมิ่นเหยียดหยามนักเรียน ครูยืมเงินเด็กและอมเงินเด็ก  เพราะถือว่าเป็นความผิกร้ายแรงจะถูกถอดถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูทุกราย  ซึ่งครูที่จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทางต้นสังกัดได้ไล่ออกจากราชการแล้ว เราทำงานประสานกับต้นสังกัดของครูตลอดจึงทำให้การเพิกถอนใบอนุญาตฯเกิดความรวดเร็วขึ้น

“ที่ผ่านมา กมว.มีคดีค้างการพิจารณา 1,200 กว่าคดี ซึ่ง กมว.ได้เร่งพิจารณาไปแล้ว 800 กว่าคดี ที่เหลืออีกไม่มาก และคดีใหม่ก็จะพิจารณาได้เร็วขึ้น เพราะ กมว.จะทำงานควบคู่ไปกับต้นสังกัดของครู เวลาเกิดปัญหาขึ้น กมว.ก็จะลงไปสอบสวนพร้อมกับต้นสังกัดของครู ทำให้งานเร็วขึ้น การเพิกถอนและการพักใช้ใบอนุญาตทำได้เร็วขึ้น จะเห็นได้จากกรีที่ครูใช้เข็มกลัดทิ่มปากเด็กในโรงเรียน ที่ จ.สมุทรปราการ กมว.ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบทันที และสามารถเพิกถอนใบอนุญาตครูได้เร็วขึ้น ครูที่ทำผิดไม่สามารถทำหน้าที่สอนเด็กได้อีกต่อไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุด“ ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-- advertisement --