อาจยกร่างกฎหมายให้สอดรับมาตรฐานตำแหน่งใหม่-ต้องเลือกรับเงินวิทยฐานะ หรือเงินประจำตำแหน่ง
เมื่อวันที่ 6 ก.ย.59 นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ. เตรียมปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับการ ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของ ผอ./รอง ผอ.สถานศึกษาใหม่ ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้เห็นชอบในหลักการไปก่อนหน้านี้ ว่าการเข้าสู่ตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา จะสอบคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่ง เฉพาะ ผอ.โรงเรียนขนาดเล็ก ส่วนโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่จะใช้วิธีการเลื่อนลำดับ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายทีเกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานตำแหน่ง ซึ่งเดิมให้ครูชำนาญการ สามารถสมัครสอบคัดเลือกเป็น ผอ.สถานศึกษา แต่หลักเกณฑ์ใหม่กำหนดให้ผู้ที่จะสมัครเข้าสอบคัดเลือกเป็น ผอ.สถานศึกษา ต้องปฏิบัติหน้าการสอน ไม่น้อยกว่า 10 ปี และในส่วนนี้ต้องเคยดำรงตำแหน่งในทางการบริหาร อาทิ เป็นหัวหน้าแผนกวิชา หัวหน้าฝ่ายมาไม่น้อยกว่า 4 ปีด้วย
นอกจากนี้จะต้องพิจารณาว่าควรปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 3 ฉบับ หรือเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน อาจจะพิจารณายกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่
นายพินิจศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า การพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนของ ผอ./รอง ผอ.สถานศึกษา ที่ผอ.สถานศึกษาคัดเลือกมาจากครูในโรงเรียนนั้น จะเทียบเคียงกับค่าตอบแทนของอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จะมีเงินวิทยฐานะตามระดับ แต่แนวคิดใหม่จะให้มีเงินประจำตำแหน่งตามขนาดของสถานศึกษา ซึ่งมีอัตราค่าตอบแทนไม่เท่ากัน และหากครูที่เข้าสู่ตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา มีเงินวิทยฐานะ ติดตัวมา ก็จะต้องเลือกว่าจะรับเงินในส่วนใดส่วนหนึ่ง จะรับสองอย่างไม่ได้ ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. จะเร่งจัดทำหลักเกณฑ์ รายละเอียดต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จเพื่อเริ่มใช้ในการคัดเลือก ผอ.สถานศึกษาได้ทันการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560
เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวด้วยว่า การประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ. ที่มี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานวันที่ 7 ก.ย.นี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.จะเสนอวาระการคืนอัตราเกษียณข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปีงบประมาณ 2559 ให้ที่ประชุมพิจารณาโดยในภาพรวม ศธ.ได้รับอัตราเกษียนคืนจาก คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ประมาณ 20,000 กว่าอัตรา เพื่อให้หน่วยงานที่ได้รับอัตราเกษียณคืนนำไปจัดสรรให้หน่วยงานในสังกัดตามกรอบที่ คปร.กำหนดมา