-- advertisement --

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อาสาสมัครโครงการกองทุนการศึกษา ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา ในพื้นที่จ.ราชบุรี ประกอบไปด้วย โรงเรียนบ้านบึง (สันติมโนประชาสรรค์) โรงเรียนบ้านโป่งกระทิงบน โรงเรียนกลุ่มนักข่าวหญิง 2 (บ้านบ่อหวี) โรงเรียนรุจิรพัฒน์ โรงเรียนสินแร่สยาม และวิทยาลัยเทคนิคโพธาราม โดยมีนายอังกูร ศีลาเทวากุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ดร.บรรเจิด อุ่นมณีรัตน์ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 พร้อมคณะจาก มรภ.หมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) ตัวแทนจากหน่วยงาน องค์กรเอกชน ร่วมให้การสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา พร้อมทั้งโรงเรียนเครือข่ายคุณธรรมของโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 7-8 ธ.ค.ที่ผ่านมา

คุณหญิงกษมา กล่าวว่า การมาตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา ในพื้นที่ จ.ราชบุรี นั้น เกิดจากเมื่อเดือนก.พ. 2555 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชกระแสรับสั่งไปยังประธานองคมนตรีว่า มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง มาทำให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนาการศึกษา ให้ทำแบบภาคเอกชน คือ เรียบง่าย รวดเร็ว คล่องตัว แต่ต้องประหยัด พอเพียง ซื่อสัตย์สุจริต และไม่ควรประชาสัมพันธ์เกินไป โดยมีพระราชกระแสรับสั่งไปยังประธานองคมนตรีว่ามีพระราชประสงค์จะพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง เพื่อจัดตั้งโครงการกองทุนการศึกษา เพื่อมาทำให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนาการศึกษาและพระราชทานการศึกษาแก่เด็กทั่วไป ทั้งนี้สถานศึกษาสายสามัญศึกษาที่คัดเลือกมาร่วมโครงการนั้น จะมีลักษณะโดยทั่วไปคือ เป็นสถานศึกษาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ หรืออยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ หรือ มีความสำคัญด้านความมั่นคงชายแดน เป็นสถานศึกษาที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก และเป็นสถานศึกษาที่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นตัวอย่างของการพัฒนาได้ หลายโรงเรียนที่คัดเลือกมาร่วมโครงการ เป็นโรงเรียนที่อยู่ชายขอบซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์อย่างหลากหลายอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ทั้งนี้ ทรงให้ศึกษาตัวอย่างจากโรงเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ต่าง ๆ เป็นแนวทางประกอบการดำเนินงานด้วย

คุณหญิงกษมา กล่าวด้วยว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1. ส่งเสริม สนับสนุน และปลูกฝังค่านิยมการยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นพลเมืองที่มั่นคงอยู่ในคุณงามความดี 2. ส่งเสริมและสนับสนุนเด็กที่มีความประพฤติดีให้ได้รับการศึกษาจนสำเร็จการศึกษา 3. ส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือโรงเรียนที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร โดยปัจจุบันมีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งหมด 4 รุ่น รวมจำนวน 155 แห่ง จำแนกเป็นสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 143 แห่ง และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อีกจำนวน 12 แห่ง มีนักเรียนที่ได้รับพระราชทานทุนการศึกษา 6 รุ่นและนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญด้านการศึกษา และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้คณะองคมนตรี ดำเนินการสานต่อโครงการกองทุนการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามพระบรมราโชบายที่พระราชทานไว้โดยให้ปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นในทุกมิติ และต่อยอดให้บรรลุวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างพื้นฐานแก่เยาวชนให้เป็นคนดี มีทัศนคติที่ดีและถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง มีคุณธรรม มีงานทำและมีอาชีพ และเป็นพลเมืองที่ดีมีระเบียบวินัย

ด้าน ดร.บรรเจิด อุ่นมณีรัตน์ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 กล่าวว่า โรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี มีจำนวน 4 แห่ง เป็นโรงเรียนในสังกัดสพฐ. 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านตะโกล่าง อ.สวนผึ้ง โรงเรียนรุจิรพัฒน์ อ.สวนผึ้ง และโรงเรียนบ้านโป่งกระทิงบน อ.บ้านคา สังกัดสอศ. 1 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิดโพธาราม อ.โพธาราม ในปีการศึกษา 2564 มีโรงเรียนเครือข่ายคุณธรรมของโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษาเพิ่มขึ้น 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสินแร่สยาม อ.สวนผึ้ง เครือข่ายโรงเรียนบ้านตะโกล่าง โรงเรียนกลุ่มนักข่าวหญิง 2 (บ้านบ่อหวี) อ.สวนผึ้ง เครือข่ายโรงเรียนรุจิรพัฒน์ และโรงเรียนบ้านบึง (สันติมโนประชาสรรค์) อ.บ้านคา และโรงเรียนรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ อ.เมืองราชบุรี เครือข่ายโรงเรียนบ้านโป่งกระทิงบน ซึ่ง จ.ราชบุรี มีนักเรียนผู้รับทุนพระราชทาน อยู่ในความดูแลของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี จำนวนทั้งสิ้น 10 ราย กำลังเรียนในระดับประถมศึกษา 2 ราย ระดับมัธยมศึกษา 2 ราย ระดับอาชีวศึกษา 2 ราย และระดับอุดมศึกษา 4 ราย

ดร.บรรเจิด กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม เห็นว่าโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา จ.ราชบุรี ที่ท่านเป็นผู้ดูแล ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ครอบครัวนักเรียนมีฐานะยากจน เมื่อนักเรียนเรียนจบการศึกษาภาคบังคับแล้วส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนต่อ ควรส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ในการประกอบอาชีพ เพื่อให้หาเลี้ยงตนเองได้ เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ โดยประสานความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดทำหลักสูตรวิชาอาชีพในสถานศึกษา และจัดอมรมทักษะอาชีพให้กับนักเรียนตามความสนใจ ในส่วนของนักเรียนที่ต้องการเรียนต่อให้เรียนต่อสายอาชีพ เพื่อให้สามารถหางานทำได้ในระยะเวลาอันสั้นหรือเรียนต่อจนจบปริญญาตรีเพื่อกลับมาพัฒนาท้องถิ่น

-- advertisement --