เสมา 1 ย้ำสอบรอบเดียวเพื่อความเท่าเทียม กลุ่มราชภัฏ-ราชมงคล ยังกังวัลและมีเงื่อนไขเฉพาะ
วันที่ 5 ก.ย.59 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ทปอ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และ ทปอ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เกี่ยวกับระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ว่า ที่ประชุมเห็นด้วยในหลักคิดกับระบบการจัดสอบรูปแบบใหม่ ที่ทปอ.ได้นำเสนอ ภายใต้หลักคิดให้นักเรียน เรียนจบชั้น ม.6 สอบครั้งเดียว ไม่ต้องวิ่งรอกสอบ ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายกับผู้ปกครอง เด็กสิทธิเลือกเรียนในคณะ/สาขาที่ต้องการ มหาวิทยาลัย มีสิทธิเลือกเด็กเข้าเรียนได้ตรงตาความถนัด โดยในส่วนของ มรภ. และ มทร.ขอนำเรื่องดังกล่าว ไปหารือกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อหาแนวทางการคัดเลือก ที่เป็นไปตามบริบทของมหาวิทยาลัย ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการจัดสอบครั้งเดียว จะทำให้เด็กเครียด หรือเสียโอกาสนั้น
ที่ประชุมยืนยันว่า การสอบครั้งเดียวเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เด็กจะต้องรู้และยอมรับในศักยภาพของตนเอง ซึ่งหากสอบครั้งนี้ไม่ได้ ก็มีโอกาสสอบได้อีกในปีถัดไป เราไม่ได้ตัดโอกาสในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยของเด็ก ส่วนมหาวิทยาลัยจะใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือ GPAX และคะแนนการทอสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET เป็นองค์ประกอบหนึ่งหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย แต่โดยนโยบายตนต้องการให้นำคะแนนในห้องเรียนไปใช้ เพื่อไม่ให้เด็กทิ้งห้องเรียน
ด้านนางสมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดี มรภ.วไลยอลงกรณ์ ประธาน ทปอ.มรภ. กล่าวว่า จากนี้จะนำรายละเอียดต่าง ๆ ไปหารือในที่ประชุม ทปอ.มรภ. โดยเบื้องต้นมรภ.อยากขอให้คงการสอบรับตรงของ มรภ.ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.ไว้ เพื่อให้มหาวิทยาลัย สามารถคัดเด็กได้ตรงตามบริบทที่จะเน้นให้โอกาสเด็กในท้องถิ่นได้เข้าเรียนกว่า 85%
ขณะที่ ผู้แทน ทปอ.มทร. กล่าวว่า ประเด็นที่กลุ่มมทร.กังวลคือ ระบบดังกล่าวจะทำให้มหาวิทยาลัยได้เด็กที่ไม่ตรงกับวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งจากนี้คงต้องไปหารือร่วมกัน
นายประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการ ทปอ. กล่าวว่า จากนี้ ต้องรอทางกลุ่ม มรภ. และกลุ่มมทร.ไปหารือกัน ว่าจะเข้าร่วมในระบบการรับนักศึกษาเข้าเรียนหรือไม่นั้น โดยระหว่างนี้ทาง ทปอ.จะไปหาแนวทางบูรณาการข้อสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และข้อสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT และข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชา และข้อสอบรับนักศึกษาแพทย์และทัตแพทย์ ของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) เข้าด้วยกัน
ส่วนจะเป็นข้อสอบเดียวหรือแยกเป็นหลายข้อสอบยังไม่สรุป แต่จะต้องให้มหาวิทยาลัยสามารถคัดเลือกเด็กเข้าเรียนได้ตรงกับความต้องการ ซึ่งหากทุกฝ่ายเห็นชอบที่จะเข้าร่วมในระบบดังกล่าว ก็คาดว่าจะสามารถวางระบบได้ภายในเดือน ธ.ค.59 และจัดทำคู่การจัดสอบเพื่อเผยแพร่ให้นักเรียนได้รับทราบระบบใหม่ ภายในเดือนเม.ย.60