ตอกย้ำหลักการ กยศ.หนุนทุนเด็กจนได้เรียน-“กำจร”แนะนำให้มหา’ลัยเป็นผู้กู้แทน
วันที่ 13 ก.ย.59 รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนได้หารือกับ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เกี่ยวกับข้อเสนอที่จะให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ยกเลิกข้อกำหนดว่าผู้กู้ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า2.00 แล้ว ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ มีความเห็นในแนวทางเดียวกัน ว่าหลักการให้กู้ยืมเงินของ กยศ.คือการให้ทุนทรัพย์แก่เด็กยากจน ในลักษณะของการกู้ยืม ไม่ใช่ให้ทุนเรียนดี ฉะนั้นถ้าเป็นเด็กที่ยากจน ก็ต้องได้กู้ เพราะต้องดูที่ความยากจนก่อน ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ รับว่าจะไปหารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง อีกครั้ง ซึ่งหาก รมว.คลัง เห็นด้วยก็สามารถมอบเป็นนโยบายให้ กยศ.ไปดำเนินการได้เลย
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะเสนอให้ยกเลิกเรื่องเกรด 2.00 แล้ว ศธ.จะเสนอให้ยกเลิกเรื่องการคัดกรองสถานศึกษา ที่ต้องมีผลการรับรองคุณภาพจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)ด้วย
ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ส่วนตนมองว่าการแก้ไขปัญหาเด็กไม่มาชำระหนี้ กยศ.นั้นต้องกลับไปดูว่าใครที่มีอำนาจในการชำระหนี้ และที่ได้ประโยชน์จาก กยศ.บ้าง ซึ่งนอกจากนักศึกษาแล้ว ก็คือมหาวิทยาลัย ฉะนั้นควรให้มหาวิทยาลัย เป็นผู้กู้ กยศ.แล้วนำเงินนั้นไปให้นักศึกษากู้ต่อ โดยใช้กติกาการกู้ยืมเหมือนเดิมเพียงแต่เปลี่ยนสถานภาพเจ้าหนี้ ลูกหนี้เท่านั้น ถ้าเด็กไม่มาคืนเงินมหาวิทยาลัยก็ต้องรับผิดชอบ และถ้ามหาวิทยาลัยไม่ส่งเงินคืน กยศ.ก็สามารถงดจัดสรรเงินกู้ให้มหาวิทยาลัยได้ ส่วนที่เกรงว่าเด็กจะเดือดร้อน เพราะมหาวิทยาลัยจะไม่ไปกู้ กยศ.มาให้นั้นไม่ต้องเป็นกังวล เพราะทุกวันนี้มหาวิทยาลัย ก็แย่งเด็กกันอยู่แล้ว ถ้ามหาวิทยาลัยไหนไม่มีเงินให้กู้เด็กก็จะหนีไปเรียนที่อื่นที่มีเงินให้กู้เอง
ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า ตนได้หารือนอกรอบกับ รมว.คลัง แล้ว ซึ่ง รมว.คลัง ก็รับฟังและพร้อมจะรับไปพิจารณา อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่าควรยกเลิกการใช้เกรดเฉลี่ยมาเป็นเงื่อนไข ในการพิจารณาให้กู้ กยศ. เพราะวัตถุประสงค์ของกองทุน คือต้องการช่วยเหลือเด็กยากจน และเด็กที่เรียนไม่เก่งก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเด็กเกเรและจะไม่ใช้หนี้ แต่ที่ได้เกรดเฉลี่ยน้อยอาจเป็นเพราะบางคนต้องทำงานช่วยเหลือครอบครัว