อาจารย์ นักศึกษาหลักสูตรปฐมวัย และหลักสูตรเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี น้อมนำศาสตร์พระราชา ถ่ายทอดองค์ความรู้การทำกระดาษจากฟางข้าว และสอนทำดอกไม้ประดิษฐ์จากฟางข้าว ให้กับกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน หมู่ 1 ต.กระแชง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วัดไก่เตี้ย จ.ปทุมธานี
นางสาวอรพินท์ สุขยศ หัวหน้าสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปฐมวัย เล่าว่า ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ได้น้อมนำพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์ของพระราชา นำฟางข้าวที่เหลือใช้มาเพิ่มมูลค่า โดยนำมาทำเป็นกระดาษฟางข้าว พื้นที่ตำบลกระแชง ส่วนใหญ่ทำนา โดยฟางข้าวที่เหลือส่วนใหญ่จะเผ่าทิ้งไปไม่ได้มีมูลค่า การนำฟางข้าวมาประดิษฐ์หรือกลับมาใช้ประโยชน์ ลักษณะของกระดาษจากฟางข้าวมีลวดลายเฉพาะตัว เหมือนกับกระดาษสา กระบวนการให้การผลิตไม่ซับซ้อน นำวัตถุดิบที่มีในชุมชนมาใช้ ตามศาสตร์ของพระราชา ความพอเพียงที่ยั่งยืน จึงได้นำองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้ทางกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน โดยอาจารย์หลักสูตรเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ นำกระดาษจากฟางข้าวไปต่อยอดประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ เป็นดอกไม้จันทน์ และได้นำมาสอนและถ่ายทอดให้กับกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน เพื่อสร้างอาชีพและรายได้
นายวิจิตร สนหอม อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ เล่าว่า ด้วยลวดลายเฉพาะตัวของกระดาษจากฟางข้าว และเป็นการเพิ่มมูลค่ามากขึ้น จึงได้นำมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้จันทน์ เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค หาสร้างรายได้และสร้างอาชีพให้กับกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน นำกระดาษจากฟางข้าว มาประดิษฐ์โดยตัดเป็นกลีบดอก ประกอบแต่ละกลีบเป็นดอก ลักษณะเหมือนดอกกุหลาบ จากนั้นนำมาจัดเป็นช่อ ผูกด้วยริบบิ้นสีดำให้สวยงาม ซึ่งในอนาคตทางหลักสูตรจะกลับมาอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้การประดิษฐ์งานฝีมือต่างๆ จากกระดาษฟางข้าว โดยกลุ่มแม่บ้าน นำไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่แสงตะวัน ตามศาสตร์ของพระราชา ในเรื่องของความพอเพียง กลุ่มแม่บ้านแสงตะวันเป็นคนชรา ผู้สูงอายุ นำนักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ 15 คน จิตอาสามาช่วยสอนประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์จากฟางข้าวในครั้งนี้ด้วย
น.ส.บุญนภา บัวหลวง ผู้ประสานงานกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน เล่าว่า กลุ่มแม่บ้านจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 โดยทางกลุ่มจะนำวัตถุดิบในชุมชนมา สร้างรายได้ เช่น การทำข้าวหลาม การทำสาหร่ายทอด ทำกล้วยฉาบ ขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาลและความต้องการของตลาด
…สำหรับการบริการวิชาการของทางสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะว่าจากการสอบถามจากผู้เข้าร่วมโครงการ ทุกคนสนใจ และอยากนำไปต่อยอด สามารถทำได้ง่าย “สามารถนำดอกไม้จันทน์จากฟางข้าวกลับไปทำที่บ้านได้เวลาว่าง หลังจากการทำอาชีพหลัก” โดยตอนนี้ได้หาตลาดรองรับดอกไม้จันทน์จากฟางข้าวให้กับกลุ่มแม่บ้าน สำหรับผู้สนใจกระดาษจากฟางข้าว และดอกไม้จันทน์จากฟางข้าว สามารถติดต่อมาได้ทางกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน เป็นการช่วยหารายได้เสริมให้กับกลุ่มแม่บ้านอีกทางหนึ่ง
ทางด้านจิตอาสา นายรัฐพงศ์ เรือสุวรรณ นักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ เล่าว่า กลุ่มแม่บ้านส่วนใหญ่ที่มาอบรมในโครงการนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มช่วงวัยผู้สูงอายุ แต่ทุกคนตั้งใจเรียนการทำดอกไม้จันทน์ประดิษฐ์จากฟางข้าว ตอนแรกๆ ทุกคนอาจจะตื่นเต้น จึงไม่กล้าที่จะหยิบจะจับ แต่เมื่อสอนผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง ทุกคนกล้าที่จะลงมือปฏิบัติมากขึ้น ซึ่งกลุ่มแม่บ้านที่นี่เรียนรู้เร็ว ระหว่างที่สอนยังได้เล่าได้แลกเปลี่ยนความรู้
“ถ้ามีโอกาสจะเข้าร่วมโครงการบริการวิชาการกับอาจารย์อีก เพราะว่าได้นำความรู้ไปถ่ายทอด เป็นการฝึกประสบการณ์ และความรู้ที่นำไปถ่ายทอดยังสร้างอาชีพให้กับกลุ่มแม่บ้านอีกด้วย”
ทางกลุ่มแม่บ้านใดสนใจการบริการวิชาการสังคมของทางสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ ติดต่อสอบถามได้ทางคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ โทร.0-2549-3160 และผู้สนใจกระดาษจากฟางข้าว และดอกไม้จันทน์จากฟางข้าว สามารถติดต่อไปยังกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณบุญนภา โทร.081-451-3705
——————