สุดยอดสมองไทย โดยทีมนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมการจัดการเพื่อความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร สามารถสร้าง “รถยนต์ไฟฟ้า” ต้นแบบคันแรกได้สำเร็จ และน่าทึ่งกว่านั้นคือการคิดค้นนวัตกรรมยืนยันเจ้าของรถแบบสแกนเส้นเลือดดำ หรือ Vein Scanner สำหรับสตาร์ทรถยนต์ไฟฟ้าและระบบรักษาความปลอดภัย
ดร.ปริญญ์ บุญกนิษฐ ผู้ช่วยอธิการบดี และในฐานะอาจารย์ผู้ดูแลโครงการ เผยถึงความสำเร็จนี้ว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” ต้นแบบคันนี้มีจุดเด่น ตรงที่เป็นรถที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทั้งทางเสียง หรือทางอากาศ เนื่องจากระหว่างการสตาร์ทหรือขับขี่นั้นเครื่องยนต์จะมีเสียงเงียบ อีกทั้งองค์ประกอบส่วนต่างๆ เช่น แบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน ฟอสเฟต เทคโนโลยีตัวใหม่ล่าสุดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เนื่องจากสารฟอสเฟตเป็นสารที่มีอยู่ทั่วไปในอากาศ และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป สามารถชาร์จได้ 2,000 ครั้งต่ออายุการใช้งาน หรือชุดขับเคลื่อนที่ใช้มอร์เตอร์แบบกระแสสลับ (Induction Motor) โดยรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบคันนี้ สามารถรับน้ำหนักได้ 1,000 -1,200 กิโลกรัม มี 2 ทีนั่ง วิ่งได้ด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 50 กม./ชั่วโมง
สำหรับจุดเด่นที่น่าทึ่งอีกประการคือ ระบบการสตาร์ท ที่นำนวัตกรรมการยืนยันตัวบุคคล ด้วย การสแกนเส้นเลือดดำ (Vein Scanner) ถือเป็นความล้ำสมัยอย่างมาก ที่นำเอาเทคโนโลยีการตรวจสอบลักษณะบุคคล มาประยุกต์ใช้กับสมองกลฝังตัวของยานยนต์ ซึ่งระบบนี้มีความแม่นยำถึง 95% และมีระดับความปลอดภัยสูงถึง 99%
“เส้นเลือดดำของคนเรานั้นมีลักษณะแตกต่างกัน เมื่อทำการใส่ข้อมูลลงไปในระบบ ระบบจะทำการสแกนเส้นเลือด ด้วยการปล่อยรังสีอินฟาเรดคลื่นสั้นออกมา จากนั้นจะทำการแปลงลายเส้นเลือดดำที่ได้เป็นภาพ แล้วจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูล หากลายเส้นเลือดดำที่สแกนนั้น มีข้อมูลที่ตรงกับฐานข้อมูลที่มีอยู่รถยนต์ไฟฟ้า ก็จะสตาร์ทขึ้นมาโดยอัตโนมัติ” ดร.ปริญญ์ กล่าว
…รถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ จากราชมงคลพระนครคันนี้ ถือว่าตอบโจทย์ทุกความต้องการของชีวิตในยุค4.0 ได้เป็นอย่างดี ทั้งกะทัดรัด อนุรักษ์พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และโดดเด่นด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย