งานวันนักประดิษฐ์ ปี 2560 นี้จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม: พลังสร้างความมั่นคง สู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน” โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเปิดเวทีต้อนรับนักประดิษฐ์ไทยและนานาชาติ กว่า 19 ประเทศ ส่งผลงานเข้าร่วม และปีนี้ ต้องยกนิ้วให้กับชาวอาชีวศึกษา ที่ขนทัพสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ เข้าประชัน โดยสามารถคว้ารางวัลในประเภทอาชีวศึกษาได้หลายรายการดังนี้
สิ่งประดิษฐ์ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน รางวัลชนะเลิศ “เครื่องล้างหัวฉีดดีเซลคอมมอนเรล” จาก วิทยาลัยเทคนิค(วท.)กาญจนบุรี รองชนะเลิศ อันดับ 1 “ชุดกักคราบน้ำมันในน้ำ นวัตกรรมจากน้ำยางพาราแบบประหยัดพลังงาน” จาก วท.สุราษฎร์ธานี อันดับ 2 “ทุ่นเตือนภัยร่องน้ำพลังงานคลื่นทะเล” จาก วท.สุราษฎร์ธานี และอันดับ 3 “เครื่องตัดอิฐมวลเบา” จาก วท.ตราด
สิ่งประดิษฐ์ด้านเกษตร อาหาร และอุตสาหกรรม รางวัลชนะเลิศ “เครื่องช่วยผูกไม้กวาดดอกอ้อกึ่งอัตโนมัติ เพื่อการประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ และคนพิการ” โดยฝีมือเด็กเทคนิคระนอง รองชนะเลิศ อันดับ 1 “ตู้อบและรมควันยางพาราประหยัดพลังงานแบบใช้งานภายในครัวเรือน” จาก วทสุราษฎร์ธานี อันดับ 2 “อุปกรณ์ดำนา” มาจากเทคนิคชัยนาท และอันดับ 3 “เครื่องคัดแยกเมล็ดข้าวสารขนาดเล็ก” จาก วท.สุรินทร์
สิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข รางวัลชนะเลิศ “เครื่องช่วยฟังสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน รุ่นที่ 3” เป็นไอเดียของวิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา กรุงเทพฯ รองชนะเลิศ อันดับ 1 “เครื่องวัดระดับการหายใจคู่กล้ามเนื้อมัดเล็ก” มาไกลจากวิทยาลัยการอาชีพหลวงประธานราษฎร์นิกร จ.สงขลา อันดับ 2 เป็น “Walker อเนกประสงค์สำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ” จาก วท.สุราษฎร์ธานี และอันดับ 3 “โถปัสสาวะฉุกเฉินเพื่อผู้ป่วยและผู้สูงอายุ” จากวิทยาลัยสารพัดช่างพระนครศรีอยุธยา
สิ่งประดิษฐ์ด้านคุณภาพชีวิต ศิลปะและการออกแบบ รางวัลชนะเลิศ “ชุดตรวจค้นผู้ต้องสงสัยเพื่อความมั่นคง” ของเทคนิคบึงกาฬ รองชนะเลิศ อันดับ 1 “เครื่องถอดและประกอบโช๊คอัพแมคเฟอร์สันสตรัทแบบถอดประกอบคู่กึ่งอัตโนมัติ” จาก วท.สุราษฎร์ธานี อันดับ 2 “ศิลปะสลักดุนทองแดงประยุกต์” จาก วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช และอันดับ 3 “อุปกรณ์ทำความสะอาดรังนกนางแอ่นกินรังด้วยแรงสั่นจากคลื่นเสียงของลำโพง” ฝีมือเด็กเทคนิคสตูล
ทั้งนี้ในทุกๆ รางวัลนอกจากถ้วยรางวัลแล้วยังได้รับทุนสนับสนุนอีกด้วย โดยรางวัลชนะเลิศรับ 4 หมื่นบาท และ 3 หมื่น 2 หมื่น และ 1 หมื่นตามลำดับ แต่เหนืออื่นใดคือความภูมิใจของ”คนอาชีวะ”ที่แสดงศักยภาพให้สังคมได้รับรู้