-- advertisement --

นวัตกรรมเพื่อมวลชนของนักวิจัยรามคำแหง คว้า 3 รางวัลจากเจนีวา

นักวิจัยรามฯ คว้า3 รางวัลที่เจนีวา จากงานวิจัยจัดระบบไฟจราจรช่วยรถผู้ป่วยฉุกเฉินคล่องตัว

ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) เปิดเผยว่าจากที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนส่งผลงานวิจัยไทยเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการบนเวทีประกวดผลงานวิจัยระดับนานาชาติ 46th International Exhibition of Inventions Geneva ที่กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ช่วงกลางเดือนเม.ย.2561 เวทีดังกล่าวเป็นงานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้นและจัดนิทรรศการเป็นประจำทุกปีต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสวิส เช่น The Swiss Federal Government of the State และ the City of Geneva และองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลกหรือ WIPO (The World Intellectual Property Organization) โดยภายในงานมีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการกว่า 1,000 ผลงาน จาก 55 ประเทศ

อธิการบดี ม.ร. กล่าวต่อไปว่า สำหรับ ม.ร.ได้ส่งผลงานวิจัยร่วมประกวด 2 ผลงาน ซึ่งเป็นผลงานของ ดร.จริยา ร่มสายหยุด จากประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และเป็นที่น่ายินดีที่ทั้ง 2 ผลงานสามารถคว้ารางวัลมาได้ถึง 3 รางวัล เป็นรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ ผลงานแอพพลิเคชั่นสำหรับวิเคราะห์พื้นผิวถนน และรางวัลเหรียญทองแดง ด้วยผลงานระบบการจัดการสัญญาณไฟจราจรเพื่อรถฉุกเฉิน และยังได้รับรางวัลพิเศษจาก Korea Invention Promotion Association อีกหนึ่งรางวัล

“เมื่อปี 2560 ผลงานวิจัยสูตรสมุนไพรเพื่อใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่คิดค้นโดย ดร.จริยา ก็เคยได้รับรางวัลเหรียญทอง ด้านนวัตกรรมจากเวทีประกวดผลงานวิจัยระดับนานาชาติ ที่กรุงเจนีวา มาแล้วหนึ่งรางวัล และได้รับการผลักดันออกสู่สาธารณะเพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ผลงานของอาจารย์นักวิจัยจากรามคำแหงได้รับรางวัลจากเวทีระดับโลกครั้งนี้ ทั้งยังได้รับความสนใจจากทั้งภาครัฐและเอกชน จนเกิดการพัฒนาต่อยอดและปรับใช้ได้จริงในสังคม”

ด้าน ดร.จริยา ร่มสายหยุด เจ้าของผลงานวิจัย กล่าวว่า งานวิจัยทั้ง 2 ผลงานนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากที่ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสังคมผู้ป่วยสูงอายุ และพบว่าผู้สูงอายุเรียกใช้รถฉุกเฉินและมีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยบนรถฉุกเฉินสูงถึง 20% เนื่องจากปัญหาการจราจร และพบอีกว่ารถฉุกเฉินใช้เวลา14 นาทีในการเดินทางเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งเป็นอัตราสูงกว่ามาตรฐานที่ทางการแพทย์กำหนดคือ 8 นาที

ดังนั้น ระบบการจัดการสัญญาณไฟจราจรเพื่อรถฉุกเฉินจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับรถฉุกเฉิน พร้อมการแจ้งเตือนบุคคลทั่วไปเมื่อรถฉุกเฉินเข้ามาใกล้ และมีแอพพลิเคชันสำหรับวิเคราะห์พื้นผิวถนน ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจจับหลุมบนถนนมาช่วยเพิ่มศักยภาพความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วย โดยผลงานวิจัยทั้ง 2 ผลงานนี้ตนได้คิดค้นร่วมกับอาจารย์ ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ดร.เกรียงศักดิ์ ขาวเนียม คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

ปัจจุบันงานวิจัยทั้ง 2 ผลงานนี้ สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีในรูปของแอพพลิเคชั่น ทั้งระบบแอนดรอยด์และ IOSในชื่อ iAmbulance และ Road Surface และสำหรับการบูรณาการต่อยอดในปัจจุบันได้มีการติดตั้งแผงวงจรในพื้นที่ลาดกระบัง รวมทั้งหมด 8 โรงพยาบาล โดยได้ติดตั้งอุปกรณ์ตลอดเส้นทาง เพื่อช่วยให้รถฉุกเฉินเดินทางเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจนถึงโรงพยาบาลได้ทันเวลา

“ดีใจและภาคภูมิใจมาก ที่ผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลการันตีคุณภาพ และยังสามารถนำไปใช้ได้จริงในสังคม ทำให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ในความสามารถของนักวิจัยไทย พร้อมได้สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจากนี้ยังคงมีผลงานวิจัยออกสู่สาธารณชนเรื่อยๆ เพราะการทำวิจัยเป็นเรื่องสนุก และยังช่วยยกระดับสังคมไทยให้ก้าวสู่ความเป็นสมาร์ทซิตี้ยิ่งขึ้น”ดร.จริยา กล่าวทิ้งท้าย

-- advertisement --