มทร.อีสานก้าวสู่ฮับระบบราง-อากาศยาน”หมออุดม”ชี้เป้าหมายคนวัยทำงานต้องเพิ่มสมรรถนะ
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการเยี่ยมชมและมอบนโยบายติดตามการจัดการเรียนการสอนระบบรางและอุตสาหกรรมการบิน ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)อีสาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า มทร.อีสาน เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำด้านระบบราง ภายใต้ความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในอนาคตคิดว่า มทร.อีสาน จะสามารถก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง (Hub) ทางการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้
ทั้งนี้ จากการรายงานและเยี่ยมชมผลการจัดการเรียนการสอนของ มทร.อีสาน ซึ่งสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว มีการวางแผนยุทธศาสตร์ใหม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และมีแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ล่วงหน้า ก็ต้องขอชื่นชม เพราะเป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการพยายามสื่อสารมาโดยตลอด ว่าให้สถาบันการศึกษาทุกแห่ง ต้องพยายามปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการอุดมศึกษาที่เปรียบเสมือนหัวรถจักรในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
“ตอนนี้เป้าหมายการผลิตกำลังคนของสถาบันอุดมศึกษา ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ไม่เพียงแต่เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายเท่านั้น แต่หมายถึงคนวัยทำงานกว่า 38 ล้านคน ซึ่งในจำนวนมีกว่า 20 ล้านคน ที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ( ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง( ปวส.) ทำอย่างไรที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะกำลังคนเหล่านี้ให้มีทักษะการทำงานและเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและแก้ไขปัญหาความขาดแคลนกำลังคนของประเทศ รวมทั้งจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตรองรับสังคมผู้สูงวัยด้วย”
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด คือ สถาบันอุดมศึกษาต้องจัดการเรียนการสอนตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ เน้นนโยบาย Thailand 4.0 และการพัฒนาระเบียงเศรฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนขับเคลื่อนการผลิตกำลังคนเพื่อพัฒนาระดับพื้นที่ในทุกมิติ ด้วยการผลิตคนที่มีคุณภาพ ทำงานได้ทันที คิดเป็น สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ นำความรู้ไปผลิตและสร้างงานวิจัยหรือนวัตกรรม ตลอดจนสินค้าที่มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมสร้างคนไทย 4.0 ที่ทันโลกและเทคโนโลยีเป็น Global Citizen ต่อไป
ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวว่า มทร.อีสาน เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีวิทยาเขตครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีพื้นฐานความเชี่ยวชาญในด้านโลจิสติกส์และการท่องเที่ยว, ด้านเทคโนโลยีการเกษตร และด้านการบริการและสุขภาพ โดยมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่เป็นนักปฏิบัติ ให้มีความโดดเด่นด้านเกษตร ช่างเทคนิค และบริหารธุรกิจ และในปัจจุบัน มทร.อีสาน ยังมีความร่วมมือกับ มทร.ทั้ง 9 แห่งทั่วประเทศ ในการดำเนินภารกิจใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านระบบราง เพื่อเตรียมผลิตกำลังคนระบบรางในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น รองรับเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับ สปป.ลาว และเมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยในปี 2560 ได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเครื่องกล-ระบบราง, วิศวกรรมโยธา-ระบบราง และการจัดการโลจิสติกส์ พร้อมสร้างพันธมิตรกับประเทศที่มีความเชี่ยวชาญระบบราง อาทิ จีน เยอรมนี เป็นต้น
ส่วนการดำเนินงานในปี 2561 จะเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาโท-เอกเพิ่มเติม ทั้งหลักสูตรภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมปรับปรุงให้มีความพร้อมด้านอาคาร บุคลากร และเครื่องมือต่าง ๆ มากขึ้น
และ 2.การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมการบิน ตามมาตรฐานการบินต่าง ๆ อาทิ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ The International Civil Aviation Organization: ICAO เป็นต้น มทร.อีสาน ได้ใช้แนวทางในการระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างมาตรฐานการบิน ตามความพร้อมด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ และบุคลากร โดยคาดว่าจะจัดการเรียนการสอน ทั้งในส่วนของภาคพื้นดิน เพื่อผลิตช่างซ่อมและผลิตบุคลากรด้านธุรกิจการบิน และภาคอากาศ เพื่อสร้างนักบินและแอร์โฮสเตส โดยระยะแรก มทร.อีสาน เตรียมที่จะส่งบุคลากรผู้สอนเข้ารับการอบรมเรื่องมาตรฐานการบิน เพื่อจัดการเรียนการสอนด้านอากาศยานให้มีมาตรฐาน พร้อมร่วมมือกับทุกภาคที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันการบินพลเรือน, สถาบันอาชีวศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐทุกปีด้วย