กลัวถอยลงคลอง-ต้องทลายกำแพงเชื่อมโยงงาน/ชี้ 2 จุดเน้นสำคัญ รธน.ปฏิรูปการศึกษา
วันที่ 30 ม.ค.60 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้มีการจัดประชุมสภาการศึกษาเสวนา OEC Forum เรื่อง รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวปาฐกถาเรื่อง “รัฐธรรมนูญกับทิศทางการปฏิรูปการศึกษา” ตอนหนึ่งว่า
“…การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ ที่ผ่านมาเราพยายามหาคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาของประเทศ ยิ่งพัฒนายิ่งแย่ลงพยายามเลียนแบบการเรียนการสอนประเทศที่ประสบความสำเร็จ แต่กลับไม่สามารถพัฒนาได้อย่างสุขสงบในการดำรงชีวิต ทั้งความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ การไม่สนใจใยดีกับการบังคับใช้กฎหมาย มีการแสวงหาอำนาจในทางไม่ชอบ ทำให้ที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้อย่างไร ก็ยังมีปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงขึ้น ทั้งหมดเราเชื่อว่าเกิดจากระบบการศึกษา กรธ.จึงคิดว่าจะต้องเน้นสอนเด็กตั้งแต่เริ่มต้น โดยซึ่งนักวิชาการบอกไว้ว่าเด็กที่เกิดมามีสมองไม่เท่ากัน มีทั้งเก่ง ปานกลาง และอ่อนเด็กที่มันสมองดีไม่มีปัญหา แต่เด็กปานกลางลงมาจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้น ในหมวดของหน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 จึงกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อจะได้สอนเด็กให้ได้ตามสัตถุประสงค์ มีสำนึก ความรับผิด รับชอบและมีวินัย
นายมีชัย กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญ กำหนดจุดสำคัญ 2 จุด คือ บังคับให้รัฐจัดการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียน แต่การศึกษาเป็นเรื่องของการลงทุน ดังนั้นจึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งจากภาคเอกชนและท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จุดที่ 2 คือ การจะทำให้เด็กเป็นอะไร โดยกำหนดไว้ในวรรค 4 ที่ให้การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ
อย่างไรก็ตาม คนในแวดวงการศึกษารู้ดี ว่าจุดเน้นทั้ง 2 จุดไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เรายังไม่ได้ทำ ส่วนหนึ่งเพราะกลไกของเรามีการแบ่งเป็นแท่ง มีอาณาจักรของตนเอง ไม่มีใครคิดที่จะเชื่อมโยงพัฒนาเด็กในภาพรวม ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษา จึงต้องคิดแบบทลายกำแพง ทลายแท่ง ล้มกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) แต่ไม่ได้ล้มจริงๆ เพียงแต่คิดว่าจะปฏิรูปการเรียนการสอนในประเด็นใด ตอนไหนและอย่างไร จากนั้นจึงค่อยคิดถึงหน่วยงานและการเชื่อมโยงในแบบที่ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านยังจำเป็นต้องมีอยู่ แต่ต้องมีกลไกให้การทำงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เป็นฝ่ายปฏิบัติไม่ใช่หน่วยที่คิดวางแผน
อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญที่สุดของการศึกษาอยู่ที่ครู แต่ครูที่จะคิดเรื่องการสอนและพัฒนาเด็กมีน้อย เพราะใครไม่รู้บอกครูว่าจะก้าวหน้าในวิชาชีพได้ต้องทำผลงานทางวิชาการ ซึ่งผู้ที่คิดคงนึกว่าครูจะนำผลงานนี้ไปต่อยอดในการเรียนการสอน แต่ความจริงกลับปรากฏว่าครูทำในสิ่งที่น่าอับอายไปจ้างเขาทำผลงานวิชาการ แน่นอนว่ายังมีครูที่เสียสละและอุทิศเวลาให้กับเด็ก แต่ครูส่วนมากยังคงกังวลอยู่กับการทำผลงานวิชาการ ไหนจะต้องกังวลกับหน่วยงานในกำกับ วิ่งเต้นย้ายกลับภูมิลำเนา ทำให้เสียงลือที่การย้ายกำหนดให้จ่ายเป็นกิโลเมตรดังขึ้นทุกที กลไกที่สร้างขึ้นทำให้ครูเป็นทาส
ประธาน กรธ.กล่าวต่อว่า ส่วนมหาวิทยาลัยที่ผลิตครูเน้นสอนแต่เชิงวิชาการเท่าที่มันสมองของผู้เรียนจะรับได้ แม้ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) จะผลิตครูมากที่สุด โดยมีสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ในฐานะองค์กรวิชาชีพเข้าไปกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานอีกชั้นหนึ่ง ทำให้ระบบการศึกษาตกต่ำ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะวิชาชีพครูเท่านั้น แต่วิชาชีพอื่น ๆ ก็มีองค์กรวิชาชีพค่อยกำกับดูแล ทำให้มหาวิทยาลัยขาดอิสระไม่สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ เพราะต้องทำตามที่สภาวิชาชีพกำหนด และถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ อีก 10 -20 ปีข้างหน้า การศึกษาก็จะถอยลงคลองไม่มีทางดีขึ้น ดังนั้น จึงกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่า องค์กรวิชาชีพสามารถเข้าไปดูเรื่องมาตรฐานวิชาชีพได้ แต่จะขัดขวางการจัดการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้
“สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะเกิดกับการปฏิรูปการศึกษา คือ สอนเด็กให้มีความรู้เบื้องต้นเท่านั้น แล้วสอนให้เด็กใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเองตลอดชีวิต การศึกษาต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ และการปฏิรูปจะต้องไม่ใช้คนในวงการศึกษาล้วน ๆ เพราะคนในวงการศึกษากับ ออกจากกรอบไม่ได้
…ดังนั้นเราต้องให้คนนอกที่สนใจการศึกษา เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อจะได้มองทะลุ ดังนั้น กรธ.จึงกำหนดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งคณะกรรมอิสระขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ภายใน 2 ปี หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่งประธานคณะกรรมการจะต้องไม่ใช่นายกรัฐมนตรี เพราะจะให้คนเกิดความเกรงใจไม่กล้าเสนอเห็น แต่จะต้องเป็นคนนอกที่เข้าใจการศึกษา ใจกว้าง เป็นที่ยอมรับพร้อม รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ส่วนการออกกฎหมายเพื่อรองรับรัฐธรรมนูญนั้น ทราบว่า ศธ.ได้เริ่มทำบ้างแล้ว แต่ขอให้คิดในภาพรวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่คิดเป็นแท่ง ไม่เช่นนั้นการศึกษาก็จะวงกลับไปที่เดิม
…การปรับโครงสร้าง คงต้องเริ่มคิดใหม่ ซึ่ง ศธ.จะมีข้าราชการระดับ 11 กี่คนก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบายเอง การรวมเป็นหนึ่งจะทำให้การศึกษาพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน และคนที่จะมากำกับจะต้องมาจากทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้โรงเรียนเดินไปข้างหน้าตามแนวทางที่เขาคิดเอง ไม่ใช่การบังคับบัญชาด้วยอำนาจ การสั่ง เลื่อน ปลด ย้าย ทำให้ครูอยู่ใต้อาณัติคนที่ไม่รู้เรื่องการศึกษาอย่างแท้จริง” นายมีชัย กล่าว