</p>
ทุน’บุญชู ตรีทอง’ ผู้ให้การศึกษา..มุ่งหวังเดียวพัฒนาประเทศไทย
ฐานรากการศึกษา ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมต่างให้ความสนใจและจับตามองในทุกยุคสมัย เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการช่วยส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในประเทศ ให้พร้อมด้วยทักษะความรู้ในการประกอบอาชีพ รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีนโยบายในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรมีความรู้เท่าทันต่อสถานการณ์ ซึ่งในอดีตจะเห็นได้ว่ามีนโยบายการศึกษา ที่เน้นผู้เรียนเป็นสูญกลาง และล่าสุดกับการปลูกฝังให้มีทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ มีพื้นฐานความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถคิดและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคม ตามกรอบนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่ทว่ามีหลากหลายความเห็นสะท้อนมาว่า เป้าหมายที่ต้องการกับความเป็นจริงนั้น สวนทางกันโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นแล้ว แก่นแท้ของระบบการศึกษาไทยที่ดีและมีคุณภาพ ควรพัฒนาไปในทิศทางไหน และอะไรคือสิ่งที่สังคมต้องการ
นายบุญชู ตรีทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง กล่าวว่าอดีตระบบการศึกษาไทย มหาวิทยาลัยคุณภาพในพื้นที่ภาคเหนือมีเพียง 3 แห่ง และสามารถรองรับนักศึกษาได้ประมาณ 1.2 แสนราย แต่กลับสวนทางกับจำนวนนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นม.ปลาย (ม.6) ในพื้นที่ มีจำนวนสูงถึง 1.7 แสนราย ขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐ มีอยู่ 23 แห่ง (ไม่นับมหาวิทยาลัยราชภัฎ เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัย)
ดังนั้น สถาบันการศึกษาในพื้นที่ จึงจำเป็นต้องอาศัยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่าง ระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) มาเป็นผู้ช่วยในการจัดการเรียนการสอน ประกอบกับองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และนวัตกรรมต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในแง่มุมต่างๆ ทั้งการมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิพากษ์ (Critical Thinking) การคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่สามารถต่อยอดได้เชิงพาณิชย์ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
“ขณะที่ยังดำรงตำแหน่ง รมต.ทบวงมหาวิทยาลัย ได้เร่งเสนอนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาคุณภาพสู่ภูมิภาคต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่แข็งแกร่งทางวิชาการ 6 มหาวิทยาลัย ขยายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาคจำนวน 36 จังหวัด ซึ่งมติ ครม.อนุมัติจำนวนทั้งสิ้น 31 จังหวัด
…ผมมองว่าการลงทุนกับตัวบุคคลนั้นเป็นสิ่งยั่งยืนยิ่งกว่า เป็นเพราะการกระจายความรู้สู่เมล็ดพันธุ์ที่ในพื้นที่ที่ห่างไกล ย่อมได้ผลผลิตคุณภาพที่ทวีคูณ ตนในฐานะเด็กนักเรียนต่างจังหวัด (แม่ฮ่องสอน) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสที่ดีด้านการศึกษา จึงทำให้สามารถสอบชิงทุนเข้าศึกษาต่อในกรุงเทพฯ และมีคุณภาพชีวิต รวมถึงหน้าที่การงานที่มั่นคงอย่างในปัจจุบัน”
นายบุญชู กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่ปี 2535 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ดำเนินการขยายการศึกษาสู่ภูมิภาค ณ จังหวัดลำปาง ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพและการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการศึกษาในเขตภาคเหนือ ซึ่งในระยะแรกได้เปิดสอนในหลักสูตรด้านสังคมศาสตร์ ระดับปริญญาโท ที่ศาลากลาง จังหวัดลำปาง (หลังเดิม) แต่ต่อมา “ธรรมศาสตร์” มีความจำเป็นในการจัดหาพื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียนถาวรเพื่อรองรับการเรียนการสอน ตนในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปางในสมัยนั้น จึงร่วมอนุเคราะห์ที่ดินกว่า 364 ไร่ อีกทั้งบริจาคทุนทรัพย์รวมกว่า 62 ล้านบาท เพื่อจัดสร้างเป็นอาคาร ‘สิรินธรารัตน์’ อาคารเรียนรวมหลังแรก สำหรับเป็นสำนักงานในการบริหารจัดการ และจัดการเรียนการสอน
แต่ทั้งนี้ ในระยะแรกของการจัดการเรียนการสอนเพียงหลักสูตรสังคมศาสตร์ นายบุญชู พิจารณาเห็นว่าไม่สามารถกระตุ้นความตื่นตัวของคนในท้องถิ่นได้ อีกทั้งเล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่มีส่วนสนับสนุนให้คนท้องถิ่นมีความรู้ที่เท่าทันเทคโนโลยี ตลอดจนการติดต่อซื้อขายระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ (Internet of Things : IoT) การสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต อินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้ง (Internet Banking) ที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนในธุรกิจการเงินได้อย่างแนบเนียน ฯลฯ จึงนำไปสู่การขยายหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์ ณ มธ.ศูนย์ลำปาง ผ่านการจัดตั้ง ‘คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี’ ในหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาเทคโนโลยีการเรียนรู้ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย ควบคู่ไปกับความสามารถในการผลิตนวัตกรรมตอบโจทย์ท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม
นายบุญชู กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดี เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เชี่ยวชาญขั้นสูงสุด จึงได้มอบ “ทุนบุญชู ตรีทอง” ทุนสนับสนุนการศึกษาแบบให้เปล่าแก่นักเรียนในพื้นที่ 17 จังหวัด ที่สนใจที่ศึกษาต่อในหลักสูตรดังกล่าว ทันทีเมื่อแรกเข้า และพร้อมสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษา กรณีที่นักศึกษาสามารถรักษามาตรฐานผลการศึกษาได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนต่อเนื่องหากนักศึกษาสนใจศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสโลกแห่งการเรียนรู้ที่กว้างขึ้น และเก็บเกี่ยวทุกองค์ความรู้ที่ได้กลับมาต่อยอดและพัฒนาประเทศในแง่มุมต่างๆ ตลอดจนสามารถกระจายความรู้สู่บุคคลอื่นได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ได้ให้การส่งเสริมบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญการศึกษาขั้นสูงสุด จำนวนรวมทั้งสิ้น 23 คน
อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่สนใจสมัครชิงทุนสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและสมัครออนไลน์ที่ www.reg.tu.ac.th ในรอบโควตาพื้นที่ ระหว่างวันที่ 15-31 ม.ค.2561 และรอบแอดมิสชั่นส์กลาง ระหว่างวันที่ 6-10 มิ.ย.2561 สอบถามเพิ่มเติม ฝ่ายรับเข้าศึกษาโทร.0-2564-4441-79 ต่อ1634-1638 และที่เว็บไซต์ www.lampang.tu.ac.th และ www.tuadmissions.in.th