วารินทร์ พรหมคุณ
เชียร์ “ทีมพนมดิน Robot” วก.ท่าตูม
ชิงแชมป์หุ่นยนต์เอบียู เอเชียแปซิฟิก ที่ญี่ปุ่น
นับเป็นความภาคภูมิใจของวิทยาลัยการอาชีพท่าตูม (วก.ท่าตูม) อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ที่ “ทีมพนมดิน Robot” จากวก.ท่าตูม สามารถคว้าแชมป์ประเทศไทย ในการแข่งขันหุ่นยนต์เอบียู โรบอท คอนเทสต์ (ABU : Asia-Pacific Robot contest) ประจำปี 2560 ภายใต้ชื่อการแข่งขัน “ยุทธการจานร่อน” ซึ่งมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันทั้งระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา มากถึง180 ทีม
และได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปชิงแชมป์หุ่นยนต์นานาชาติ เอบียู เอเชียแปซิฟิก คอนเทสต์ 2017 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงวันที่ 27-28 ส.ค.2560 นี้ ซึ่งทีมพนมดิน Robot จะต้องลงสนามประลองกับอีก 18 ประเทศ
“การแข่งขันหุ่นยนต์เอบียู โรบอท คอนเทสต์ ประจำปี 2560 นับเป็นเวทีสำคัญที่นักเรียน นักศึกษาจะนำความรู้ความสามารถมาพัฒนาหุ่นยนต์ ที่มีศักยภาพสูง มาประลองฝีมือด้านอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรม และการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ มาใช้อย่างเต็มความสามารถ ซึ่งการแข่งขันที่ช่วยกระตุ้นความสนใจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี นำไปสู่การพัฒนาการเรียนหรือยกระดับต่อยอดผลงานสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 อีกด้วย”
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวถึงความสำคัญของการแข่งขันดังกล่าว และเป็นเวทีส่งเสริมให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาได้ใช้โอกาสแสดงศักยภาพ
อย่าง วก.ท่าตูม ส่งทีมลงแข่งขันหุ่นยนต์เอบียู มา 2-3 ปีต่อเนื่อง โดยในช่วงปีการศึกษา 2558 ทีมนักศึกษาได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ3 ในระดับอาชีวศึกษา หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาต่อ ๆ กันมา จนมาถึงทีมพนมดิน Robot ที่คว้าแชมป์มาครอง โดยฟันฝ่าตั้งแต่การแข่งขัน 180 ทีม เหลือรอบ 80 ทีม รอบ 40ทีม และ16ทีมสุดท้าย ซึ่งมีทีมจากอาชีวศึกษาเข้ารอบชิงชัยถึง 8 ทีม
ซึ่งศึกยุทธการจานร่อน…กติกาของเกมส์คือ ผู้เล่นจะเป็นผู้บังคับหุ่นยนต์ให้สามารถร่อนจาน ไปวางบนเสาให้ได้มากที่สุดภายในระยะเวลาแข่งขัน 3 นาที จะเป็นผู้ชนะ โดยมีอุปสรรคเป็นลูกบอล (Beach ball) วางอยู่บนเสาทุกต้น ผู้เล่นจะต้องให้ลูกบอลบนเสาหล่นจากเสาด้วย จานร่อนถึงจะสามารถนับเป็นคะแนนได้ โดยการแข่งขันจะมีเสาอยู่ทั้งหมด 7 ต้น
…นอกจากด้านเทคนิคอุปกรณ์แล้ว ทีมเวิร์ก สติ..ไหวพริบแก้เกม เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ทีมพนมดิน Robot เป็นแชมป์ประเทศไทย
ผอ.ศิริวรรณ วงค์วิลา จาก วก.ท่าตูม กล่าวถึงความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือกันหลายฝ่าย และปัจจัยสำคัญ คือการให้โอกาส การสนับสนุนด้านงบประมาณและทรัพยากร ทั้งวัสดุอุปกรณ์ และเวลาที่ต้องทุ่มเทให้พวกเขา ขณะเดียวกันก็ปลูกฝังความรักความสามัคคีในวิทยาลัย เพราะนักศึกษาที่มาทีมหุ่นยนต์ การเรียนบางครั้งก็จะต้องยกเว้น ดังนั้นครูอาจารย์ที่สอนในรายวิชาที่นักศึกษาไม่ได้เข้าเรียน ก็ต้องพร้อมที่จะสอนเสริมให้กับพวกเขาเมื่อจบการแข่งขัน ซึ่งในความสามัคคีของครูอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นปัจจัยเกื้อหนุนแก่ลูกศิษย์ที่มีความสำคัญมาก
“วก.ท่าตูม เราไม่ได้เป็นหนึ่งแต่ก็ไม่ได้เป็นสองรองใคร เพราะเชื่อว่าเราเป็นหนึ่งที่ให้โอกาสนักศึกษาตรงนี้ ทุกคนมีความคาดหวังที่เรามาถึงจุดนี้แล้ว แต่จะไม่กดดันเด็กๆ ดิฉันบอกครูที่ปรึกษาเสมอๆ ว่าไม่ให้กดดัน ให้ซ้อมแบบสภาพที่เราสามารถทำได้ ทุกคนมีความคาดหวัง แต่ความคาดหวังเราต้องมีวิธีการบอกเด็ๆ ให้ฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ ให้กำลังใจ หากทำได้เต็มที่แล้วได้ถึงระดับไหน รางวัลที่เท่าไหร่เราก็ยอมรับ เพราะการแข่งขันเรามีทุกปี และตอนนี้รุ่นพี่ที่กำลังจะจบปีการศึกษา ก็จะฝึกรุ่นน้องต่อๆ ไป ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งของการเตรียมความพร้อมของวิทยาลัย…พูดง่าย ๆ ก็คือ เราต้องมีตัวตายตัวแทน”
ผอ.วก.ท่าตูม ยังกล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ลงทีมลงแข่งขันมาหลายปี ทำให้ วก.ท่าตูม มีนโยบายขับเคลื่อนการเรียนการสอน ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยบรรจุเป็นรายวิชาสอนในแผนกอิเล็กทรอนิกส์ เรียนวิชาพื้นฐานกันตั้งแต่ชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) 3 และชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) 1 ซึ่งโชคดีที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาเก่ง และมีความรู้ทักษะเรื่องหุ่นยนต์
“ไม่ใช่แค่เรื่องหุ่นยนต์แต่ วก.ท่าตูม ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของอาชีวศึกษา นวัตกรรมทั้งหลายทั้งปวงของอาชีวะ คือสุดยอด ดังนั้นสิ่งประดิษฐ์ปีนี้ จึงกำหนดให้หนึ่งแผนก ต้องมีนวัตกรรมอย่างน้อย 3 ชิ้นงาน วก.ท่าตูม มี 7แผนก ก็ต้องไม่ต่ำกว่า 30 ชิ้น และเราสนับสนุนงบฯ เต็มที่ ไม่ว่าเด็กๆ จะทำอะไร ขอให้ทำเต็มที่ และมีผลงานออกมาใช้ได้จริง”
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการสอนภาษาอังกฤษ ให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารขั้นพื้นฐานได้ โดยจะมีการประเมินครูสอนภาษาอังกฤษด้วย ถ้าเด็กๆ ไม่สามารถสื่อสารได้ หรือสื่อสารได้น้อย ครูผู้สอนต้องพิจารณาตัวเอง ซึ่งถือเป็นนโยบายที่โหดหินมาก เพราะมิฉะนั้นครูก็จะไม่พัฒนาตัวเอง เด็กๆ ก็ขาดแรงกระตุ้นในการฝึกทักษะ ซึ่งเท่าที่ติดตาม เด็ก วก.ท่าตูม หลายคนกล้าพูด กล้าทักทายเป็นภาษาอังกฤษ มากขึ้น
ด้าน นายบัญญัติ ธุรานุช อาจารย์ที่ปรึกษาทีมพนมดิน Robot ให้แง่มุมที่เหนือจากการแข่งขันหุ่นยนต์ว่า
“การสร้างหุ่นยนต์หนึ่งตัว จะมีองค์ประกอบหลากหลาย อย่างเช่นชุดมอเตอร์ ชุดคอนโทรล License มีการเขียนโปรแกรมเข้าไปในตัวหุ่นและมีตัวเซ็นเซอร์ อุปกรณ์เหล่านี้ เด็กๆ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ หรือประยุกต์ใช้งานกับชีวิตประจำวัน หรือวิชาชีพในอนาคตได้ เช่น ในครัวเรือน อาจพัฒนาเซ็นเซอร์จับขโมย หรือปิด-เปิดน้ำอัตโนมัติ เก็บผ้า เก็บผ้าม่าน ราวตากผ้าอัตโนมัติ เป็นต้น ถ้าเด็กรู้จักวิธีการคอนโทน รู้จักควบคุมมอเตอร์ แม้แต่ในโรงงาน ในฟาร์มเกษตร เช่น ให้อาหารปลา อาหารไก่ ให้น้ำอัตโนมัติ ก็สามารถกำหนดเวลาได้ เพราะมีเซ็นเซอร์และตัวคอนโทรนควบคุม..สามารถนำไปใช้ในสิ่งที่ต้องการได้หลายอย่าง”
ขณะที่ นายจิรายุทธ ทองด้วน นักศึกษา ปวส.1 สาขาอิเล็กทรอนิกส์ ตัวแทนทีมพนมดิน Robot กล่าวว่า การสร้างหุ่นยนต์จะนำโจทย์ที่เอบียูให้มาเป็นตัวตั้ง โดยปรึกษากับอาจารย์ที่เป็นที่ปรึกษา จะสร้างอย่างไร ทำงานกันยังไงถึงจะชนะ ส่วนหน้าที่ก็จะแบ่งตามความถนัดของแต่ละคน จุดเด่นของหุ่นยนต์ที่เราชนะทีมอื่นได้ ก็คือวิ่งได้เร็วและมีความแม่นยำสูง แต่ที่สำคัญคือทีม เพราะการทำงานเป็นทีม มันค่อนข้างยาก เพราะกว่าที่เราจะมาทำงานร่วมกันได้ ต้องใช้เวลา ทุกคนมีความถนัดแตกต่างกันไปเราก็จะแบ่งงานตามความถนัดของแต่ละคน ให้ทำงานตามความถนัดของตัวเองให้มีประสิทธิภาพและดีที่สุด
“พวกเรารู้สึกดีใจที่ความพยายาม ความขยันอดทน และความมุ่งมั่นของทีม ส่งผลให้เราประสบความสำเร็จในวันนี้ได้ ส่วนการแข่งขันที่ญี่ปุ่น พวกเรามีความมั่นใจในระดับหนึ่ง เพราะทำงานเป็นทีม ทุกคนมีความรักสามัคคีกัน และต่างเชื่อเหมือนกันว่า…พวกเรา และหุ่นยนต์มีศักภาพไม่แพ้ใคร“นายจิรายุทธ กล่าวทิ้งท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ