-- advertisement --

รายงานพิเศษ I โรงเรียนดีใกล้บ้าน ความเท่าเทียมของคุณภาพการศึกษา

วารินทร์ พรหมคุณ

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มุ่งพัฒนาการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนทุกคนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ตามนโนบายของรัฐบาล

แต่แท้จริงแล้วในความทั่วถึง กลับพบความไม่เท่าเทียมของคุณภาพการศึกษา จากจำนวนโรงเรียนทั่วประเทศ ที่มีอยู่ 30,525 โรงเรียน ครึ่งหนึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แบ่งย่อยลงไปอีกเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 20 คน จำนวน 1,106 โรงเรียน นักเรียน 21-40 คน จำนวน 2,516 โรงเรียน นักเรียน 41-60 คน จำนวน 3,519 โรงเรียน และนักเรียน 61-120 คน ขึ้นไปมี 23,384 โรงเรียน ซึ่งนักเรียนกว่า 1,012,167 คน นี้ยังขาดโอกาสทางการศึกษาและขาดครูกว่า 80,000 คน

…ในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ ต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ เงินอุดหนุนไม่เพียงพอกับการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา ครูไม่ครบชั้น ครูไม่ตรงกับสาขา เด็กๆ ขาดทักษะทางสังคมส่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตกต่ำ

ดังนั้น เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้มีคุณภาพเข้าถึงและเท่าเทียมกัน ในคราที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ยังดำรงตำแหน่ง “รมว.ศึกษาธิการ” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นนายทหารที่รู้เรื่องการศึกษาได้เป็นอย่างดี มองเห็นอนาคตของประเทศ ซึ่งนับวันจะมีอัตราการเกิดน้อยลง หากเริ่มต้นยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ย้ายเด็กๆ ให้ไปเรียนร่วมกับโรงเรียนดีใกล้บ้าน ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือครบครัน ครูสอนครบชั้นได้ การศึกษาจะเดินไปอย่างมีคุณภาพแน่นอน จึงได้ดำเนินนโยบายควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ภายใต้ “โครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน” หรือโรงเรียนแม่เหล็ก ที่จะสร้างความเข้าใจให้กับชุมชน ผู้ปกครอง ครู และนักเรียน ของโรงเรียนขนาดเล็กให้เห็นประโยชน์และยอมรับให้นักเรียนมาเรียนรวมกับโรงเรียนดีใกล้บ้าน ในรัศมีไม่เกิน 6 กิโลเมตร ภายใต้ความสมัครใจอย่างเป็นเอกฉันท์

ซึ่งหากสามารถดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กได้ ศธ.จะสามารถทุ่มงบประมาณพัฒนาโรงเรียนดีใกล้บ้าน ให้เป็นโรงเรียนแม่เหล็ก เพื่อดึงดูดความพร้อมการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพ มีการก่อสร้างปรับปรุงห้องเรียนอาคารสถานที่ให้มีความพร้อมร่มรื่นปลอดภัยเอื้อต่อการเรียน 2ด้านวิชาการ มีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนครุภัณฑ์ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์และเครือข่ายไอซีที และ 3.ด้านบุคลากร จัดให้มีครูผู้สอนครบทุกระดับชั้น ตรงสาขาครบทุกวิชา และมีเจ้าหน้าที่ธุรการและนักการภารโรงสนับสนุนอย่างเพียงพอ

ส่วนสถานที่ของโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกควบรวมไปแล้ว จะถูกส่งมอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเป็นสถานที่ใช้ประโยชน์ตามที่ชุมชนต้องการ เช่น เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ศูนย์พัฒนาอาชีพของการศึกษานอกโรงเรียน โรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ชุมชน อีกทางหนึ่งด้วย

“…เมื่อถึงวันหนึ่ง เราต้องมี
การบริหารจัดการที่เหมาะสม
เพื่อคุณภาพการศึกษา…”

ทั้งนี้ ในระยะแรก ได้ดำเนินการในโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 20 คน ที่มีอยู่ 1,106 โรงเรียน เป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่สามารถควบรวมได้ 90 โรงเรียน เหลือเป็นเป้าหมายดำเนินการ 1,016 โรงเรียน โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการควบรวมแล้ว และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ชุมชน กรรมการสถานศึกษา ซึ่งในภาคเรียนที่ 2/2559 มีโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ถูกควบรวมแล้ว 491 โรงเรียน อยู่ระหว่างดำเนินการในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 อีกจำนวน 211 โรงเรียน รวม 702 โรงเรียน

การย้ายไปเรียนร่วมกับโรงเรียนแม่เหล็ก 491 โรงเรียนนี้ทำให้มีครู 1,194 คน ต้องย้ายตามจากโรงเรียนขนาดเล็กมาด้วย ก็ช่วยเพิ่มจำนวนครู ทำให้มีครูสอนครบชั้นและตรงสาขา ในโรงเรียนแม่เหล็กทันที

…ส่วนเป้าหมายอีก 314 โรงเรียนที่เหลือ จะมีแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 และจะดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้กับโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 40 คน จำนวนทั้งหมด 2,516 โรงเรียน ให้แล้วเสร็จในปี 2562 และน้อยกว่า 60 คนอีก 3,519 โรงเรียน ให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 โดยโรงเรียนขนาดเล็กที่มีศักยภาพ ก็สามารถกลายเป็นโรงเรียนแม่เหล็กได้เช่นกัน

เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2564 แล้วเชื่อว่าจะลดความเหลื่อมล้ำให้นักเรียนกว่า 260,000 คน และได้จำนวนครูเพิ่มมาในระบบอีก 30,000 คน ทำให้โรงเรียนแม่เหล็ก มีงบประมาณจัดการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น 500 ล้านบาทต่อปี

ในจุดนี้ช่วย “รัฐบาล” ประหยัดงบประมาณท็อปอัพ ได้ปีละ 133 ล้านบาท และงบประมาณลงทุน/ก่อสร้าง/ปรับปรุงซ่อมแซมและครุภัณฑ์ ได้ปีละ 5,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำงบประมาณเหล่านี้มาพัฒนาคุณภาพ และลดความเหลื่อล้ำในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบถึงสิ่งที่กระทรวงฯ ดำเนินโครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว และทรงห่วงใยเนื่องจากการแก้ปัญหาดังกล่าวค่อนข้างยาก เพราะโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ เป็นโรงเรียนที่อยู่คู่ชุมชนและท้องถิ่นมานาน การแก้ไขปัญหาต้องถามความสมัครใจจากคนในชุมชนก่อน

แต่อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่และชุมชนสมัครใจ ที่จะให้ สพฐ.ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นโรงเรียนดีใกล้บ้าน ซึ่ง สพฐ.ได้ตั้งงบประมาณเพื่อส่งเสริมคุณภาพให้เป็นโรงเรียนแม่เหล็กไว้แล้ว

“ผมเข้าใจดีว่าชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ต้องมีโรงเรียนประจำหมู่บ้าน แต่เมื่อถึงวันหนึ่งเราต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมเพื่อคุณภาพการศึกษา และโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีอยู่กว่า 15,000 แห่งนั้น แม้จะมีระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเข้ามาช่วยเสริม แต่ก็ยังไม่มีความสมบูรณ์ในการจัดการศึกษา ซึ่งเราต้องการให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และมีครูครบชั้นเรียน ดังนั้น เมื่อเด็กโรงเรียนขนาดเล็ก ถูกควบรวมไปก็จะได้รับการพัฒนา และเด็กจะได้รู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคมหมู่มาก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นมาก เนื่องจากเด็กจะต้องเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมในอนาคต” เลขาธิการ กพฐ. กล่าวย้ำ

วันนี้…เมล็ดพันธุ์ที่ดีกำลังจะเติบโตขึ้นในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ และจะเป็นต้นกล้าที่แข็งแกร่งในอนาคตเช่นเดียวกับเด็กๆ ในโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยอย่างมีศักยภาพ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษา อนาคตของเด็กๆ จะเป็นบุคลากรที่ดีและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป

-- advertisement --