-- advertisement --

รายงานพิเศษ I ใครอยู่เบื้องหลังหน้ากาก CCTV

วารินทร์ พรหมคุณ

เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากมีการร้องเรียนการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างระบบกล้องโทรทัศนวงจรปิด หรือ CCTV โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้โครงการ Safe Zone School (CCTV) จำนวน12 เขตพื้นที่การศึกษา แบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) 10เขต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) 2 เขต รวมทั้งสิ้น 1,104 แห่ง ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ด้วยงบประมาณ 577 ล้านบาท โดยแผนดำเนินงานเดิมจะมีการติดตั้งกล้อง CCTV ตามขนาดของโรงเรียน คือโรงเรียนขนาดเล็ก 8 ตัว โรงเรียนขนาดกลาง 16 ตัว และโรงเรียนขนาดใหญ่ 28 ตัว แต่หลังจากมีการร้องเรียน เรื่องการกำหนดสเปก และการฮั้วประมูลเอื้อบริษัทใดบริษัทหนึ่งตั้งแต่ปี 2557 โครงการนี้ก็ถูกชะลอไประยะหนึ่ง

จนกระทั้งงบประมาณส่วนหนึ่ง ถูกปรับไปดำเนินการเรื่องอื่นจนเหลืองบฯ ติดตั้งกล้อง CCTV จริง ๆ จำนวน 405 ล้านบาท อีก 100 กว่าล้านบาท มีการนำไปดำเนินการเรื่องอื่น ๆ และลดจำนวนกล้อง CCTV เหลือเฉลี่ยจุดละ 6 ตัว รวมทั้งสิ้น 6,624 ตัว

ปัญหาที่พบขณะนี้คือ กล้อง CCTV ทั้งหมดไม่สามารถเชื่อมต่อไปยังโทรศัพท์มือถือ และห้องควบคุมกลางของหน่วยงานความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาได้

จากการลงพื้นที่ของคณะกรรมการเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) ที่ติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มโครงการ ได้ตั้งข้อสังเกตและยื่นหนังสือให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ตรวจสอบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ.2542 กับบริษัทคู่สัญญาทั้ง 12 เขต และดำเนินคดีทางแพ่งและอาญากับบริษัทที่ส่งมอบงานไม่ครบ หรืออาจจงใจฮั้วประมูล เพราะมีบางบริษัทได้รับการทำสัญญาติดตั้งกล้อง CCTV มากถึง 4,794 จุด

พ.ต.ท.สามารถ ไชยณรงค์ ผอ.สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขตพื้นที่ 9 จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล ตรัง และพัทลุง กล่าวว่า จากการตรวจสอบแยกออกเป็นประเด็นแรก การติดตั้งกล้อง CCTV เป็นไปตามสัญญาหรือไม่ และจากการสุ่มตรวจเบื้องต้นพบว่า แต่ละจุด แต่ละโรงเรียนมีการติดตั้งไม่ครบตามแบบที่แนบในสัญญา อย่างเช่น กำหนดว่าเครื่องรับสัญญาณภาพ จะต้องสามารถรองรับภาพได้ 16 กล้อง แต่สามารถรองรับได้แค่ 6 ตัวเท่านั้น

ประเด็นที่สอง จะดูว่าราคาสูงไปหรือไม่ เพราะแต่ละจุดกำหนดราคากลางไว้ที่ 366,920 บาท แต่เวลาติดตั้งแล้วจะลดเหลือ 365,000 บาท หรือ ลดลงประมาณ 1,000 บาท ถึง 1,500 บาท ขณะที่สืบราคาจากท้องตลาดพบว่ากล้อง CCTV ตัวหนึ่งราคาอยู่ประมาณ 4,000-5,000 บาทเท่านั้น

ประเด็นที่สาม คือมีบริษัทที่เข้ามารับงานเพียง 4 บริษัท ซึ่งคล้ายมีการสมยอมกัน เช่นบริษัทหนึ่งไปได้อีกเขตหนึ่ง แต่อีกเขตหนึ่งบริษัทที่เคยได้งานกลับไปยื่นไม่ครบ ทำให้ได้อีกบริษัทหนึ่งได้งานไป

...สรุปก็คือว่าทั้ง 4 บริษัทไปยื่นครบทุกเขต แต่ทั้ง 4 บริษัทก็ได้งานสลับพื้นที่กันไป คล้ายกับว่าเจตนาหลีกทางให้กัน ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะเข้าข่ายฮั้วหรือไม่

ทั้งนี้ ในส่วนที่พบว่าการติดตั้งไม่ครบถ้วน ตามสัญญา คณะกรรมการตรวจรับพัสดุทั้งหมด ซึ่งอาจจะไม่มีความรู้ หรืออาจจะถูกขอให้ตรวจรับก็ตาม เมื่อมีการกระทำที่ไม่ถูก คณะกรรมการ ป.ป.ท. ก็ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนดำเนินคดี ส่วนประเด็นราคาจะแพงไปหรือไม่ ความจริง ป.ป.ท.ไม่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อสงสัยก็จะส่งเรื่องนี้ให้กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และเรื่องการสมยอมราคา ก็จะส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป

สำหรับคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ส่วนใหญ่จะมีผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นประธาน ถือว่าเป็นผู้บริหารระดับสูง ซึ่งอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรงนี้ก็อาจจะส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ แต่ถ้าหากคณะกรรมการตรวจรับพัสดุคณะใด “ตำแหน่งประธาน” อยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าผู้อำนวยการโรงเรียน หรือผู้อำนวยการกอง ตรงนี้จะอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ท. ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการขอเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งหากมีการกระทำความผิดจริงในกรณีนี้ คือเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และ มาตรา 162

“คดีนี้จะว่าไปแล้วก็ค่อนข้างใหญ่ เพราะมีมูลค่าความเสียหายกว่า 400 ล้านบาท และสำคัญคือมีผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นจำนวนมาก ทั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ”

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองจากหลักฐานที่มีอยู่ และดูจากองค์ประกอบของความผิด แบบไม่ต้องมากมายอะไร คือ ตรวจบันทึกการตรวจรับพัสดุ ว่าตรวจรับอะไรไว้บ้าง เพราะส่วนใหญ่ในการตรวจรับจะต้องลงบันทึกว่าได้ตรวจรับพัสดุไว้ครบถ้วน ถูกต้องตามแบบที่แนบในสัญญา แล้วเอาไปเปรียบเทียบกับพัสดุที่ติดตั้ง และจัดส่งมาให้ว่าเป็นไปแบบที่แนบในสัญญาหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่เป็นไปตามแบบแม้แต่นิดเดียวก็ถือว่าผิดแล้ว

ขณะที่ กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น ได้ยื่นหนังสือต่อ “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” ให้เข้าไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพราะมีกระแสข่าวว่ามีกลุ่มนายทหาร เข้าไปแทรกแซงการทำงาน ห่วง “ครู” ที่เป็นคณะกรรมการตรวจรับตกเป็น “แพะ” หลังเกิดปัญหากล้อง CCTVที่ติดตั้งไม่ได้ประสิทธิภาพไม่เป็นไปตามสเปกที่กำหนด ซึ่งจะมีครูที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมกว่า 2,000 คน

…เผือกร้อนฉ่านี้ถูกโยนให้ หมอธี-นพ.ธีระเกียรติ เจริฐเศรษฐศิลป์ “เสมา1” ต้องรีบสะสาง

โดยส่ง พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาทุจริต ศธ. ลงพื้นที่เพื่อค้นหาความจริง และได้รับรายงานว่า การดำเนินโครงการติดตั้งระบบกล้อง CCTV ในโครงการ Safe Zone School มีการดำเนินการโดย 4 บริษัท พบว่าสิ่งที่โรงเรียนตรวจรับไม่ตรงกับที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้าง หรือทีโออาร์ โดยในทีโออาร์ระบุว่า ระบบต้องมีซอฟท์แวร์สามารถรองรับกล้อง CCTV ได้ไม่น้อยกว่า 16 กล้อง แต่การตรวจสอบพบว่า มีซอฟต์แวร์รองรับได้แค่ 6 กล้อง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และไม่ตรงกับที่ สพฐ.ได้รายงานก่อนหน้านี้

เมื่อผลลัพธ์ออกมาเช่นนี้ “หมอธี” ก็ลั่นว่า จำเป็นต้องส่งข้อมูลทั้งหมดให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนจะสาวถึงใครคนนั้นก็ต้องรับผิดชอบ เมื่อมีการทุจริตขึ้นมา…เราไม่ยอมและยืนยันว่างานนี้ไม่มีมวยล้มต้มคนดู แน่นอน

ทั้งนี้ทั้งนั้น พล.ท.โกศล ในฐานะที่นำทีมกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)ลงไปตรวจในโรงเรียน 5 แห่ง ที่ดำเนินการโดย 4บริษัทซึ่งประมูลได้ในโรงเรียน 1,104 แห่ง โดยเน้นดูในเรื่องเอ็นวีอาร์ (NVR) หรือ License ซึ่งมีปัญหา…เพราะข้อกำหนดคุณลักษณะของ License ที่ระบุไว้ต้องสามารถบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดชนิด IP Network Camera ได้ไม่น้อยกว่า 16 กล้อง

แต่ทั้ง 4 บริษัท ติดตั้งโปรแกรมที่ได้รับลิขสิทธิ์ถูกต้อง เพื่อใช้กับเครื่องบันทึกเพียง 6 Licenseเท่านั้น มีผลทำให้กล้อง CCTVสามารถบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดชนิด IP Network Cameได้เพียง 6กล้อง ซึ่งหากในอนาคต ศธ.เห็นว่าจำเป็นต้องติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มมากกว่า 6 กล้อง ก็จะต้องเสียงบฯ จัดซื้อโปรแกรมที่ได้รับลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องเพิ่มเติม มิหนำซ้ำ บริษัทไม่ได้ออกแบบหรือติดตั้งโปรแกรมให้สามารถดูภาพผ่านWeb Browser ในทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตามทีโออาร์กำหนดให้บริษัทฯ คู่สัญญาต้องออกแบบระบบเน็ตเวิร์คภายในโรงเรียน/สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้เพียงพอกับการเชื่อมต่อระบบควบคุมกล้อง CCTV แบบดิจิทัลด้วย

ดังนั้นทั้ง4บริษัทได้ทำผิดทีโออาร์ คือติด License ไม่ครบ ขณะที่คณะกรรมการตรวจรับ ก็ตรวจรับไม่เป็นไปตามทีโออาร์ ซึ่งก็ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ อาจจะมีการตรวจสอบขยายผลไปยังจุดอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง License และ Web Browser ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการเท่านั้น

ประเด็นร้อนนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่า จะเป็นมวยล้มต้มคนดูอย่างที่ “ท่าน” พูดจริงหรือไม่

และใครคือตัวจริงที่อยู่เบื้องหลัง
——————

-- advertisement --