ศธ.เร่งวางระบบดูแล”เด็กพิเศษ”ครบวงจร
วันที่ 28 มิ.ย.2561 ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการว่า ประเด็นหลักที่มีการพิจารณาเป็นพิเศษ คือ ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า จากนี้ไปเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จะได้รับการดูแลที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะมีข้อเสนอหลายเรื่องที่จะแก้ปัญหาสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติ เช่น การแก้ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้เกิดการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กกลุ่มนี้ และให้เด็กสามารถเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาตามรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอจากคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อยากให้มีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน เพื่อทำหน้าที่ดูแลคนพิการ และเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เป็นต้น
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพูดถึงการดำเนินการ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ สำเร็จโดยเร่งด่วน หรือ QUICK WIN ว่า อันดับแรกต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อดูแลช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ จากนั้น ต้องทำให้เด็กพิการได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการมีงานทำ หรือการเรียนอาชีพควบคู่กันไป
ส่วนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งมีเป็นแสนคน แต่เมื่อมีการตรวจสอบในเชิงวิจัยแล้ว พบว่ามีเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้จริง ๆ ประมาณ 40% ดังนั้น ต้องหาวิธีการคัดกรองเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้จริง ๆ ให้ได้ ไม่ใช่เด็กเรียนช้า เพราะเด็ก 2 กลุ่มเป็นคนละกลุ่มกัน ซึ่งคนที่จะทำหน้าที่นี้ไม่ใช่เป็นภาระของฝ่ายแพทย์เท่านั้น แต่โรงเรียน หรือฝ่ายการศึกษา ต้องเข้ามาทำหน้าที่ในการคัดกรอง
เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อไปว่า ต้องนำเรื่องดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อนำบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเข้ามาสู่ระบบการศึกษา โดยต้องวางระบบที่ควรวงจร ขณะที่ต้องเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเข้ามาช่วยดูแลเด็กด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นว่ามีความจำเป็นต้องสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเปลี่ยนความคิด วิธีการที่จะมองการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการใหม่ ส่วนสถานศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษจะต้องจัดให้มีความเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เช่น เรื่องความสะอาด การติดตั้งกล้องวงจรปิดในห้องเรียนหรือในโรงเรียน เป็นต้น
“สำหรับเรื่องการเรียนของเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ นั้น ที่ประชุมเห็นว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องใช้วีการเรียนรวมเท่านั้น ไม่เห็นด้วยที่จะแยกให้เด็กพิการ หรือ เด็กความสามารถพิเศษแยกออกไปเรียนต่างหาก แต่ที่ประชุมก็เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องปรับระบบโรงเรียนและความคิดของสังคม จึงเห็นว่าต้องใช้วิธีการค่อย ๆ ทำไป และเรื่องสุดท้าย คือการประกันคุณภาพ ที่ว่าโรงเรียนกลุ่มนี้จะต้องมีมาตรฐานของตนเอง เพื่อเป็นตัวกำกับหลายเรื่อง เช่น มาตรฐานที่กำกับว่าทุกโรงเรียนต้องดูแลเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อให้โรงเรียนไม่สามารถปฏิเสธเด็กกลุ่มนี้ ส่วนของการประเมินผู้เรียน มีการพูดถึงมากว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องได้รับการประเมินที่เหมาะสมกับธรรมชาติของเขา ซึ่งต่างจากเด็กปกติ”
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวและว่า ที่ประชุมได้วางแนวทางการทำงานให้ประสบความสำเร็จเป็น 2 ระยะ คือ ระยะ 3 เดือน และ 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยมอบให้คณะกรรมการปฏิรูปการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ไปพิจารณาต่อ แล้วทำเป็นแผนงานเสนอต่อที่ประชุมต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ