สจล.-สภาคณบดีสถาปัตย์ เสนอออกแบบทั้งภายนอก-ตกแต่งภายในด้วยวิธีไม่ยาก พร้อมระบุกทม.สีเขียวน้อยเกินไปต้องเพิ่มพื้นที่ช่วยกรองฝุ่น ยกเคสเยอรมนีที่เจอวิกฤติหนักจนต้องปรับผังเมืองใหญ่ แนะรัฐปรับบริการขนส่งมวลชนเพื่อลดใช้รถยนต์ จำกัดโซนรถห้ามเข้า
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงแนวคิดออกแบบบ้านในเขตเมืองรับมือปัญหาฝุ่นละอองPM 2.5ว่า เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการจัดการเมืองสมัยใหม่ โดยแนะ5แนวทางการออกแบบเชิงภูมิสถาปัตยกรรมภายนอกตัวบ้านและการตกแต่งภายในบ้าน คือ1.ลดช่องลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ที่ลมหนาวจะพัดฝุ่นเข้าบ้านทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 2.เพิ่มพื้นที่สีเขียวในบ้าน ช่วยดักจับฝุ่นแล้ว 3.เลี่ยงวัสดุที่จับฝุ่นง่าย 4.ติดตั้งเครื่องกรองและแผ่นกรองอากาศ ช่วยลดปริมาณฝุ่นภายในบ้านได้ 5.เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ให้พอดีกับฝ้าเพดาน เนื่องจากพื้นที่ว่างหลังตู้และเพดาน เป็นจุดอับที่ยากทำความสะอาด และเป็นแหล่งสะสมของฝุ่น
ด้าน ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภูมิสถาปนิกกล่าวว่า กทม.เป็นเมืองมีความหนาแน่นค่อนข้างสูงและมีพื้นที่สีเขียวเพียง10% ซึ่งหากเปรียบเทียบกับ สิงคโปร์ที่มีความหนาแน่นประชากรสูง แต่มีพื้นที่สีเขียวถึง 47% ดังนั้น กทม.ต้องวางเมืองให้มีพื้นที่สีเขียวเพื่อกรองฝุ่น ซึ่งภูมิสถาปนิกเสนอควรมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อคน และกระจายในตัวเมืองให้ช่วยเป็นตัวกรองอากาศ ทั้งนี้ ประเด็นพื้นที่สีเขียวได้ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ 20 ปี
ผศ.ดร.พลเดช เชาวรัตน์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวว่า ประเทศเยอรมนีเคยเกิดวิกฤตปัญหาฝุ่นละอองPM 2.5จากการทำอุตสาหกรรมหนักจนนำไปสู่การออกแบบปรับผังเมืองครั้งใหญ่ เพื่อรับมือกับปัญหาปัญหาดังกล่าวและยกระดับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน อาทิ ใช้แนวคิดจัดการเมืองต้องเติบโตพร้อมพื้นที่สีเขียว ปรับปรุงระบบบริการขนส่งสาธารณะ ปรับให้แหล่งอำนวยความสะดวกสามารถเดินเข้าถึงได้สะดวกและลดใช้รถยนต์ จำกัด-ห้ามรถยนต์ที่ไม่มีมาตรฐานเข้าเมืองในโซนที่กำหนด สร้างทางจักรยานเพื่อให้ประชาชนเลือกใช้เดินทาง เป็นต้น การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นส่วนสำคัญ เพื่อรับมือปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกๆ ปี