-- advertisement --

สพฐ.-กฟผ.ร่วมลดพลังงาน-จัดการขยะ-สิ่งแวดล้อมยั่งยืน

สพฐ.ร่วมมือ กฟผ.ลดพลังงาน-จัดการขยะ-สิ่งแวดล้อมยั่งยืน

นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กล่าวในการเป็นประธานอบรมครูวิทยากรแกนนำค่าย Green School Camp : ห้องเรียนสีเขียวรักพลังงาน รุ่นที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-10 พ.ค.2561 ที่เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฏร์ธานี ว่า สพฐ.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ดำเนินงานโครงการห้องเรียนสีเขียว เมื่อปี 2541 และต่อมาได้ขยายผลโดยลงนามความร่วมมือโรงเรียนสีเขียวในปี 2556

สำหรับปี 2561 นี้ สพฐ.และ กฟผ. มีเป้าหมายพัฒนาศักยภาพครู นักเรียน และต้องการยกระดับจากโรงเรียนห้องเรียนสีเขียว เป็นโรงเรียนสีเขียว โดยมีโรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 384 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาโรงเรียนให้สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงาน การจัดการขยะและอนุรักษฺสิ่งแวดล้อมของประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12 โดยเฉพาะนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ยุทธศาสตร์ที่ 5 เรื่องการจัดการศึกษาบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้จากการสำรวจตัวชี้วัด พบว่านักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความตระหนักในความสำคัญของการดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คุณธรรม จริยธรรม และการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาชองเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตเพิ่มขึ้น โดย สพฐ.และ กฟผ. ได้วางแผนแนวทางและการยกระดับให้สอดคล้องกับโครงการอื่นๆ ทั้งด้านการจัดการขยะ และอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นบทบาทการพัฒนาในส่วนของ สพฐ. และด้านการสร้างศนคติที่ดี และที่ถูกต้องในการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนของ กฟผ.

“กิจกรรมในค่ายจะมุ่งเน้นการอบรมโดยใช้ทักษะต่างๆ ได้แก่ Active Leaning เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติควบคู่การใช้เทคโนโลยีตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยนักเรียนและครูจะเรียนรู้ผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่ง กฟผ.ได้จัดฐานการเรียนรู้ด้านพลังงาน 6 ฐานการเรียนรู้ และ สพฐ. มีจะ 5 ฐานการเรียนรู้ ด้านการจัดการขยะ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเน้นการนำขยะมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบพลังงาน และการนำขยะจากซากบรรจุภัณฑ์มาใช้ประโยชน์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การนำขยะจากผลไม้ ใบไม้ และกิ่งไม้ต่างๆ มาเข้าสู่กระบวนการทำเชื้อเพลิงและเป็นปุ๋ย ตามหลัก 3Rs ในฐานการเรียนรู้ Biomass สู่ Biochar และมีการสาธิตการจัดทำหน่วยแผนการจัดการเรียนรู้ ด้านพลังงาน การจัดการขยะ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นตัวอย่าง และนำไปสู่การบูรณาการในสาระการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง และจัดทำโครงการ/โครงงานของนักเรียน เป็นต้น”

นายสุรศักดิ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ กฟผ.จะให้การสนับสนุนวิทยากรที่มีความรู้ ความสามารถที่เชี่ยวชาญด้านพลังงาน แหล่งเรียนรู้ สื่ออุปกรณ์ รวมถึงการส่งเสริม สนับสนุน ในการยกระดับโรงเรียนต่อยอดโรงเรียนคาร์บอนต่ำ และโรงเรียนคาร์บอนต่ำสู่ชุมชน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย SDGs ที่มุ่งส่งเสริมให้ลดปริมาณคาร์บอนที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือนี้มุ่งหวังว่าหลังจากนี้ไปครูและนักเรียนที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพ จะสามารถนำความรู้ด้านพลังงาน การจัดการขยะ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นำสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน สู่โรงเรียน บ้านของนักเรียนและชุมชน โดยเป้าหมายด้านพลังงาน โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จะสามารถลดใช้พลังงานได้ร้อยละ 5 และสามารถลดปริมาณขยะที่โรงเรียนและบ้าน ร้อยละ 20 ทุกโรงเรียน ซึ่งจะส่งผลให้โรงเรียนลดค่าใช้จ่ายด้านสาธาณูปโภคและลดค่าใช้จ่ายได้

-- advertisement --