สพฐ.ต้องการครูเชี่ยวชาญหลายสาขา ย้ำ นร.เสียโอกาสเรียนรู้มากแล้ว
จากกรณีที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งและแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยเปิดให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาสมัครสอบได้ ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสนับสนุนและคัดค้านมติดังกล่าว
ล่าสุดวันที่ 27 มี.ค.60 นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะผู้ใช้ครูเห็นว่ามติดังกล่าวมีผลในทางบวกกับ สพฐ. เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาหลักในการสอบบรรจุครูผู้ช่วย ในช่วง 4 ปี ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2557-2559 มี 11 วิชาเอกที่เปิดสอบบรรจุ คือภาษาเกาหลี, ภาษาเวียดนาม, ภาษาพม่า, ภาษาเยอรมัน, ภาษาสเปน, ภาษาอาหรับ, ดนตรี/นาฏศิลป์, ดนตรีสากล(ดุริยางค์), ออกแบบนิเทศศิลป์, วิจัยทางการศึกษาและกายภาพบำบัด ไม่มีผู้สอบแข่งขันขึ้นบัญชีได้เลย ขณะเดียวกันในจำนวนนี้บางวิชาไม่มีผู้สมัครสอบเลย
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ในการสอบแข่งขันครูผู้ช่วย ประจำปี 2559 ซึ่งมีผู้สมัครเกือบ 1.3 แสนคน โดยเฉพาะวิชาหลัก คือวิทยาศาสาตร์ สมัคร 9,508 คน ผ่านขึ้นบัญชี 874 คน คิดเป็น 9.19%, วิทยาศาสตร์ทั่วไป สมัคร 4,302 คน ผ่านขึ้นบัญชี 238 คน คิดเป็น 5.53%, ฟิสิกส์ สมัคร 1,879 คน ผ่านขึ้นบัญชี 268 คน คิดเป็น 14.26%, เคมี สมัคร 1,920 คน ผ่านขึ้นบัญชี 305 คน คิดเป็น 15.89%, ชีววิทยา สมัคร 2,469 คน ผ่านขึ้นบัญชี 461คน คิดเป็น 18.67%, คณิตศาสตร์ สมัคร 10,924 คน ผ่านขึ้นบัญชี 1,710คน คิดเป็น 15.65%, ภาษาไทย สมัคร 9,942 คน ผ่านขึ้นบัญชี 1,190คน คิดเป็น 11.97%, ภาษาอังกฤษ สมัคร 12,961 คน ผ่านขึ้นบัญชี 1,504 คน คิดเป็น 11.69% และสังคมศึกษา สมัคร 14,375 คน ผ่านขึ้นบัญชี 892 คน คิดเป็น 6.21% ซึ่งถือว่ามีผู้สอบขึ้นบัญชีได้น้อยมาก
ทั้งนี้ ปัญหาเหล่านี้ สพฐ.ได้นำเข้าหารือในที่ประชุม ก.ค.ศ.ว่าจะปล่อยให้เด็กขาดครูอยู่แบบนี้หรือ ดังนั้น มติการเปิดให้ผู้ไม่มีใบอนุญาตฯ มาสมัครสอบก่อนแล้วอบรมพัฒนาให้ได้ใบอนุญาตฯ ในภายหลัง จึงถือเป็นการเปิดทางให้ สพฐ.แก้ไขปัญหาที่สะสมมานาน ให้สามารถคัดเลือกผู้ที่ไม่มีอนุญาตฯ แต่มีความรู้ความสามารถตรงสาขามาเป็นครู ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กเสียโอกาสในการได้ครูมาสอน เพราะติดล็อคในข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตฯ
ทั้งนี้ ไม่ใช่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ผลิตครูออกมาไม่ดี แต่ สพฐ.ในฐานะผู้ใช้ครู ก็อยากได้คนเก่งๆ มาช่วยเสริมในการสอน เพราะการสอนในยุคนี้การลงเนื้อหาวิชาหลักมีความสำคัญ เช่น สอนสะเต็มศึกษา เพื่อให้เด็กได้สร้างนวัตกรรม ถ้าครูไม่รู้ลึกในวิชาการที่แท้จริงเด็กก็จะไม่มีทางเข้าใจในศาสตร์ของวิชาที่ลึกๆ และในกรณีที่ผู้ไม่มีใบอนุญาตฯ สอบบรรจุได้ ก็จะมีอบรมเทคนิคการสอน การจัดทำแผนการสอน และมีครูพี่เลี้ยงคอยประกบให้คำแนะนำ ภายในระยะเวลา 2 ปีที่เป็นครูผู้ช่วย ก็จะต้องเข้ารับการอบรมตามที่คุรุสภากำหนด เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตฯ ซึ่งถ้ายังไม่ได้รับใบอนุญาตฯอีก แต่ประเมินครูผู้ช่วยผ่านก็จะมีเวลาอีก 2 ปี ในการอบรมเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตฯ แต่ในกรณีที่ประเมินตำแหน่งครูผู้ช่วยไม่ผ่านก็จะถือว่าขาดคุณสมบัติการเป็นครู เพราะเป็นการบรรจุ โดยมีเงื่อนไขเราไม่มีตำแหน่งอื่นรองรับ
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า ในการเปิดสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย ประจำปี 2560 จะมีกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของตำแหน่งต่างๆ ซึ่งผู้สมัครสอบต้องดูว่าสามารถในสาขาใดได้บ้าง ส่วนเรื่องการมีใบอนุญาตฯ หรือไม่มีใบอนุญาตฯ นั้น สพฐ.จะมีการทำวิจัยเพื่อดูผลที่ออกมาอีกครั้ง
ทั้งนี้ จากการบรรจุนักศึกษาในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ก็มีผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตฯ ได้รับการบรรจุไป 381 คน ผ่านมาประมาณ 4 เดือน เมื่อกลับไปถามทางโรงเรียนและเด็กก็พอใจครูเหล่านี้ เพราะเก่ง สอนเข้าใจ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ