สอศ.จับมือกับฟู้ดแพชชั่น พัฒนากำลังคนยกระดับวิชาชีพ
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่าปัจจุบัน รัฐบาลเร่งส่งเสริมนโยบายประเทศที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาสายวิชาชีพ ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาคน พัฒนาประเทศ ฝึกทักษะฝีมือ ประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดการศึกษาด้านวิชาชีพในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับบริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด มีแบรนด์ในเครือประกอบด้วย ร้านบาร์บีคิวพลาซ่า ร้านจุ่มแซ่บฮัท และร้านฮอทสตาร์ทำความร่วมมือร่วมกัน เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนรูปแบบทวิภาคี โดยนางนาฑีรัตน์ บุญรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ได้พัฒนารูปแบบการจัดการของร้านในเครือให้เป็นรูปแบบของ “โรงงานโรงเรียน” ผลักดันให้พนักงานบริษัท ได้ศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษาแบบทวิภาคี ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 1,700 คน
พร้อมกันนี้ได้ส่งผู้ชำนาญการในแต่ละสาขามาร่วมให้การฝึกอบรมทั้งการให้ความรู้ที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการร่วมการทำสื่อการเรียนการสอนในสาขาวิชาชีพต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการผลิต และพัฒนากำลังคน เพื่อยกระดับคุณวุฒิ การศึกษาวิชาชีพแก่พนักงานบริษัท ทั้งในระดับ ปวช. และ ปวส. รวมทั้งร่วมกันปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า ในเบื้องต้นได้มอบหมายให้สถานศึกษาในสังกัด สอศ.จำนวน 10 แห่งได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี, วิทยาลัยพณิชยการบางนา, วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี, วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม, วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ, วิทยาลัยเทคนิคพะเยา, วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา, วิทยาลัยเทคโนโลยีทักษิณาบริหารธุรกิจ, วิทยาลัยเทคโนโลยีการจัดการเพชรเกษม และวิทยาลัยเทคโนโลยีไทยอโยธยาบริหารธุรกิจ ดำเนินการจัดการเรียนการสอน
โดยในระดับ ปวช.จะเป็นนักเรียนสาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก สาขางานธุรกิจและบริการ จำนวน 1,000 คน และระดับ ปวส. สาขาวิชาธุรกิจอาหาร สาขางานการจัดการธุรกิจค้าปลีกร้านอาหารและภัตตาคาร จำนวน 700 คน และคาดว่าจะให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยี หรือปฎิบัติการของสอศ.ต่อไป
ทั้งนี้ การจัดการศึกษาจะมีการจัดการเรียนการสอนทั้งในสถานที่ของบริษัท หรือของร้านที่จัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้และฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และบางรายวิชาก็จัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา โดยผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถที่เป็นพื้นฐานจำเป็นของอาชีพ ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพในการทำงาน เพิ่มผลผลิตของบริษัท และเพิ่มรายได้ให้แก่พนักงาน ทั้งนี้ความร่วมมือทั้งสองฝ่ายมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี