เปิดรับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.กองทุนลดเหลื่อมล้ำการศึกษา ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ร่วมปฏิรูปการศึกษา” คาด ต.ค.นี้ได้ความชัดเจน
ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยว่า ในการประชุมวันที่ 25 ก.ค. ที่ประชุมได้หารือเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและพัฒนาครู ตามมาตรา 54 วรรค 6 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยที่ประชุมเห็นว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนจะไม่สามารถหลุดออกจากความยากจนได้ ถ้าไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ดังนั้น กองทุนนี้จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้เด็กมีความเสมอภาค และเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จจะช่วยแก้ปัญหาของประเทศได้ โดยจะเห็นผลภายใน 10 ปีข้างหน้า แต่ทั้งนี้ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กตั้งแต่ 0 ปี ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะอนุกรรมการกองทุนฯ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยและอีกหลายประเทศในโลก คือ ยิ่งมีการพัฒนามากเท่าไหร่จะมีปรากฏการณ์ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็จะไม่ยั่งยืน โดยปัจจัยที่สำคัญคือถ้าคนไทยทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาด้วยความเสมอภาคมากขึ้น จะป็นหนทางลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนในระยะยาว คณะอนุกรรมการฯ จึงมีความคิดเบื้องต้นที่จะเสนอแนวทาง และร่างกฏหมายการจัดตั้งกองทุน เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมหรือกระตุ้นให้เกิดความเสมอภาคและเข้าถึงระบบการศึกษา
โดยสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย ปี 2558-2559 พบว่า มีเด็กเยาวชนอายุ 0-18 ปี ในทะเบียนราษฎร จำนวน 14.7 ล้านคน โดยมีอัตราเกิดปีละ 600,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กเล็กในครอบครัวยากจนประมาณ 480,000 คน ส่วนเด็กอายุ 3-5 ปี ยังไม่เข้าเรียนอนุบาลมี 1.1 ล้านคน ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2559 มีเด็กนักเรียนในระบบทุกสังกัดอายุ 6-15 ปี 10.99 คน เป็นนักเรียนด้อยโอกาสสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 2 ล้านคน นักเรียนพิการ 0.337 ล้านคน นักเรียนยากจน 1.5 ล้านคน ออกกลางคัน 315,280 คน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอายุ 16-18 ปีที่ไม่ศึกษาต่ออีก 373-677 คน
“สำหรับที่มาของกองทุนจะมาจากเงินงบประมาณเป็นหลัก รวมทั้งการระดมทุนจากภาคเอกชนและการรับบริจาค โดยใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อสรุป เพราะจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ทางเพจเฟซบุ๊ก”ร่วมปฏิรูปการศึกษา” รวมทั้งนำผลการดำเนินการของกองทุนต่างๆมาถอดเป็นบทเรียน โดยคาดว่าประมาณเดือน ต.ค.60 นี้จะได้เห็นความชัดเจนของ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนฯ” ดร.ประสาร กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ