วันที่ 22 เม.ย.60 นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบแข่งขันเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี 2560 ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ กรุงเทพมหานคร
โดย นายการุณ กล่าวว่า การสอบครูผู้ช่วยปี 2560 นี้ สพฐ. เปิดสอบทั้งสิ้น 61 สาขาวิชา มีอัตราบรรจุได้ 6,437 อัตรา ใน 64 จังหวัดและสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) โดยผู้มีสิทธิ์สอบมีจำนวน 198,311 คน คิดเป็นร้อยละ 99.81 ของผู้สมัคร ในสนามสอบแข่งขันจำนวน 212 แห่ง ในการออกข้อสอบมีการออกข้อสอบเอง จำนวน 1 แห่ง (กศจ.พะเยา) และจ้างสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 64 แห่ง
ซึ่งแนวปฏิบัติใหม่ในจำนวน 61 สาขาวิชาที่เปิดสอบนี้ กำหนดให้ผู้สมัครต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือ ผ่านหลักสูตรครู 5 ปี จำนวน 36 สาขาวิชา ส่วนที่เหลืออีก 25 สาขาวิชาจะมีใบอนุญาตฯ หรือไม่มีใบอนุญาตฯ มาสมัครก็ได้ ซึ่งจำแนกเป็นกลุ่มสาขาวิชาที่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษาใน หลักสูตร 5 ปี จำนวน 17 วิชา ได้แก่ กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด, การเงิน/การบัญชี จิตรกรรม จิตวิทยาคลินิก ดนตรีพื้นเมือง นาฏศิลป์ (โขน) ภาษาพม่า ภาษาเวียดนาม ภาษาสเปน เศรษฐศาสตร์ โสตทัศนศึกษา หลักสูตรและการสอน อุตสาหกรรมไฟฟ้าอุตสาหกรรมศิลป์ (ช่างก่อสร้าง) อุตสาหกรรมศิลป์ (ช่างยนต์) และภาษามลายู
และตามที่ สพฐ. ได้เปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ประจำปี 2560 ใน 64 จังหวัด และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ได้มีตำแหน่งว่างบรรจุได้ 6,437 อัตรา ใน 61 สาขา ซึ่งปีนี้มี 36 สาขา รับสมัครเฉพาะผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยมีอัตราบรรจุได้ 4,357 อัตรา และ อีก 25 สาขา รับสมัครผู้ที่มีและไม่มีใบอนุญาตฯ มีอัตราบรรจุได้ 2,080 อัตรา นั้นปรากฏว่ามีผู้สมัคร ทั้งสิ้น 198,691 คน แยกเป็นกลุ่มที่มีใบประกอบวิชาชีพครู หรือ ผ่านหลักสูตรครู 5 ปี จำนวน 116,909 คน และ กลุ่ม 25 สาขา รับสมัครผู้ที่มีและไม่มีใบอนุญาตฯ มีผู้สมัครสอบ ทั้งสิ้น 81,782 คน
ซึ่ง 5 จังหวัดที่มีผู้สมัครมาก ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา 14,656 คน กรุงเทพฯ 12,294 คน ชลบุรี 9,642 คน บุรีรัมย์ 8,466 คน และสุรินทร์ 7,798 คน
สำหรับการสอบแข่งขันในกรุงเทพมหานคร จัดให้มีสนามสอบ 8 แห่ง ได้แก่ สนามสอบโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย โรงเรียนศรีอยุธยาฯ โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนราชวินิต มัธยม โรงเรียนสตรีวิทยา 2 และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
โดย เลขาธิการ กพฐ. พร้อมผู้บริหาร สพฐ. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบโรงเรียนเทพศินทร์ โดยสนามสอบแห่งนี้ ได้ให้ผู้เข้าสอบถอดนาฬิกาข้อมือ เข็มขัด โทรศัพท์มือถือ ไอแพด และเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด โดยอนุญาตให้ผู้เข้าสอบนำดินสอ บัตรประจำตัวผู้สอบ ขึ้นตึกสอบเท่านั้น อีกทั้งยังใช้เครื่องสแกนร่างกายและเจ้าหน้าที่ทั้งชายและหญิง ตรวจผู้เข้าสอบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างรัดกุมที่สุด ตั้งแต่ก่อนสอบ ระหว่างสอบและหลังสอบ โดยเฉพาะสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่จัดสนามสอบเอง อีกทั้งผู้สมัครสอบทุกคนต้องผ่านเครื่องสแกน เพื่อป้องกันการนำเอาอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เข้าไปภายในห้องสอบ รวมถึงคณะกรรมการสอบแข่งขันครูผู้ช่วย ต้องตรวจสอบรายชื่อผู้สมัครที่เลือกสอบมากกว่า 1 แห่ง ให้เลือกสอบเฉพาะที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น เพื่อความยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อถือแก่สังคมทั้งในส่วนของ สพฐ. / สพท. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งการสอบในวันที่ 22 เม.ย. เป็นการสอบข้อเขียน ภาค ก ความรอบรู้ ความสามารถทั่วไป และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม และอุดมการณ์ของความเป็นครู มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะที่ ภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง ได้แก่ ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับวิชาการศึกษา และความรู้ความสามารถเกี่ยวกับกลุ่มวิชาหรือทาง หรือสาขาวิชาเอก จะจัดสอบในวันที่ 23 เม.ย. จากนั้นจะทำการสอบสัมภาษณ์ ในวันที่ 24 เม.ย. แล้วจึงประกาศรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ ภายในวันศุกร์ที่ 28 เม.ย.60 ต่อไป
——————–