-- advertisement --

40 รร.ตบเท้าร่วมพับบลิคสกูลเซ็น MOU ต้น พ.ค.

40 โรงเรียนตบเท้าเข้าร่วมพับบลิคสกูล พร้อมลงนามเอกชน 9-11 พ.ค.นี้

วันที่ 24 เม.ย.2561 นพ.อุดม คชินทร รมช.กษาธิการ เปิดเผยว่า ในการการประชุมคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบพับบลิค สกูล (Public School) หรือโรงเรียนร่วมพัฒนา เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้หารือถึงรายละเอียดของความก้าวหน้าการดำเนินการ โดยที่ประชุมได้พิจารณารายชื่อโรงเรียนที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการจากเดิมที่ประมาณการณ์ว่า จะมีโรงเรียนเข้าร่วม 77 แห่งทั่วประเทศ แต่เมื่อพิจารณาคุณสมบัติพบว่ามีโรงเรียนที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการในเฟสแรกจำนวน 40 แห่ง ที่พร้อมจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2561 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ

ขณะเดียวกันยังมีบริษัทเอกชนอีกหลายแห่งที่แจ้งความจำนงขอเข้าร่วมโครงการในเฟส 2 อีกหลายโรงเรียน ทั้งนี้ เฟสแรกนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ หากเราทำตรงนี้สำเร็จก็จะเป็นจุดที่จะนำไปขยายยังโรงเรียนอื่น ๆ ในวันข้างหน้า โรงเรียนควรจะมีภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาดูแลบำรุงรักษาโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่ ศธ.เป็นเจ้าภาพเพียงส่วนเดียว ซึ่งวิธีนี้ ศธ.คิดไว้อยู่แล้ว แต่ทำยากเนื่องจากติดขัดเรื่องกฏระเบียบในการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องคน เรื่องเงิน ดังนั้น หากเราสร้างต้นแบบนี้ขึ้นมาได้ก็จะไปได้เร็ว เพราะต้องเรียนรู้ไปด้วยแก้ไขไปด้วย วิธีนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศจริง

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ยังหารือการจัดทำแนวปฏิบัติรวมถึงข้อตกลงของโรงเรียนและภาคเอกชนที่จะเข้าร่วมจัดการศึกษาตามโครงการนี้จะต้องรับทราบว่า ใครรับผิดชอบอะไรและในส่วนใดในมิติต่าง ๆ โดยจะจัดทำเป็นคู่มือการดำเนินงาน ไกด์บุ๊คเพื่อให้ทุกส่วนปฏิบัติตาม โดยแนวปฏิบัติในภาพรวมที่จะต้องทำเหมือนกันทุกแห่ง

เบื้องต้นภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการ[ริหารพัฒนาโรงเรียน โดยเฉพาะหลักสูตร 70% และรัฐกำหนดอีก 30% ทั้งนี้ภาคเอกชนสามารถปรับให้เข้ากับสิ่งที่เอกชนที่เข้ามาสนับสนุนต้องการ หรือปรับให้เป็นไปในทิศทางที่คณะกรรมการสถานศึกษากำหนดขึ้น ส่วนที่ภาคเอกชนมีความกังวลเรื่องงบฯ ตนขอยืนยันว่ารัฐบาลยังคงสนับสนุนงบฯ ให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้เหมือนเดิมทุกอย่าง ทั้งงบฯ ปรับปรุงโครงสร้างโรงเรียนใหม่นี้ ส่วนทางภาคเอกชนจะท็อปอัพเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับโรงเรียน เช่น การจ้างครูพิเศษ หรือการจัดกิจกรรมพิเศษ หรือต้องการให้เงินท็อปอัพกับ ผอ.โรงเรียน หรือครู ในแบบเงินพิเศษ หรือเงินโบนัส ก็สามารถทำได้ตามที่กำหนดไว้ เหมือนเป็นเจ้าของโรงเรียน แต่ฐานเงินเดือนจะกำหนดให้เท่ากัน ดังนั้น เราจะเขียนข้อตกลงไว้ รวมถึงโรงเรียนต้องส่งผลการประเมิน ให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่ออยู่ในระบบการประเมินของ สพฐ.ด้วย

“ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันที่ 30 เม.ย.นี้ คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบพับบลิค สกูล หรือโรงเรียนร่วมพัฒนา ก็จะนำวีดีโอเกี่ยวกับการดำเนินงานและรูปแบบของโรงเรียน ที่จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ นำมาฉายเป็นรายงานให้นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบถึงความคืบหน้าของโครงการนี้ด้วย และในวันดังกล่าว ก็จะประกาศรายชื่อโรงเรียน ที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ โดยในเฟสแรกมี จำนวน 40 โรงเรียน จากนั้น ประมาณวันที่ 9-11 พ.ค.2561 จะนัดภาคเอกชน ร่วมลงนามความร่วมมือกับโรงเรียนทั้ง 40 แห่ง โดยมี พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน”นพ.อุดม กล่าว

-- advertisement --