-- advertisement --

“ชุดโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมเก้าอี้” ที่ผลิตจากซองเนสกาแฟ ได้เติมเต็มความฝันของหลายๆ ฝ่าย ทั้งผู้ให้ที่นำโดย เนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู ในการนำซองเปล่าเนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู จำนวนกว่า 16 ล้านซอง ที่ได้จากกิจกรรมส่งชิงโชคจากผู้บริโภค นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่ม ในโครงการ “เนสกาแฟ อัพไซคลิ่ง” และผู้รับ คือ โรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำขนาดเล็ก 100 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่โต๊ะเก้าอี้ตัวนี้จะมีประโยชน์มากกว่าการรับประทานอาหาร แต่จะช่วยปลูกฝังนิสัยในการลดปริมาณขยะให้แก่พวกเขาด้วย

พันธกิจที่มากกว่าความฝันของเนสกาแฟ

สำหรับเนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู ชุดโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมเก้าอี้” ตัวนี้ เป็นสิ่งยืนยันที่พิสูจน์ให้เห็นว่า พันธกิจด้านความยั่งยืนที่พวกเขามุ่งมั่นมาโดยตลอด ไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป

นางสาวศรีประภา จิงประเสริฐสุข ผู้จัดการธุรกิจกาแฟสำเร็จรูปและครีมเทียม บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า เนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู” ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจด้านความยั่งยืนของเนสกาแฟ ในปี 2564 นี้ เนสกาแฟกำลังเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของเนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรูทั้งหมดไปใช้พลาสติกชนิด Mono-structure ซึ่งเป็นพลาสติกตระกูลเดียวกันที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

“นอกจากซองกาแฟที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เราได้ดำเนินโครงการ “เนสกาแฟ อัพไซคลิ่ง” (NESCAFÉ Upcycling) ในการนำซองเปล่าเนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู จำนวนกว่า 16 ล้านซอง หรือกว่า 16 ตันที่ได้จากการส่งชิงโชคจากผู้บริโภค มาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยจับมือกับบริษัท เบสท์โพลิเมอร์ ในการคิดค้นนวัตกรรมอัพไซคลิ่งซองเนสกาแฟให้เป็นไม้เทียม (Wood Plastic Composite) ผลิตชุดโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมเก้าอี้สำหรับโรงอาหารในโรงเรียน เพื่อมอบให้กับโรงเรียนวิถีพุทธ 100 โรงเรียนทั่วประเทศ โรงเรียนละ 2 ชุด เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ชุดโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมเก้าอี้อัพไซคลิ่งจากซองเนสกาแฟเหล่านี้ จะเป็นกำลังใจและปลูกฝังนิสัยในการลดปริมาณขยะให้แก่น้อง ๆ ในโรงเรียนวิถีพุทธ เพื่อสร้างอนาคตปลอดขยะอย่างยั่งยืน”

สร้างมูลค่าให้กับ “ขยะ”

“โดยทั่วไป ซองกาแฟที่ทิ้งแล้วมีมูลค่าเป็นศูนย์ แต่ถ้าโรงงานรีไซเคิลรับซื้อก็จะเริ่มมีมูลค่า รีไซเคิลแล้วนำมาทำเป็นไม้เทียมก็จะมีมูลค่าขึ้นไปอีก  จากไม้เทียมนำมาพัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์มูลค่าก็จะเพิ่มขึ้น ขั้นตอนแต่ละขั้นตอนนี้ เรียกว่า Value Chain หรือสายห่วงโซ่มูลค่า ทุกครั้งที่มีการนำกลับมาใช้ใหม่ และไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มูลค่าของสินค้านั้นก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และยังเกิดการสร้างงาน และนี่คือการทำอย่างยั่งยืน” นายทวี อนันตรัตนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบสท์ โพลิเมอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พันธมิตรผู้ร่วมออกแบบและผลิต เล่าถึงการนำของที่ไม่ได้ใช้กลับมาเพิ่มมูลค่า

ชุดโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมเก้าอี้ 1 ชุด ใช้ซองเนสกาแฟทั้งหมด 80,000 ซอง ซึ่งคุณทวีและทีมต้องใช้เวลาเกือบปีกว่าจะพัฒนาได้เป็นโต๊ะต้นแบบตัวนี้มา แม้จะต้องทุ่มเทอย่างหนักในการนำวัสดุที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์กับผู้คน แต่ระหว่างทาง คุณทวีและทีมก็ได้เรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าจากสิ่งที่เราเรียกว่า ขยะ ซึ่งพวกเขาก็ยังถ่ายทอดการตระหนักรู้ให้กับผู้คนในชุมชนเพื่อร่วมกันสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น

“ต้องขอบคุณทางเนสกาแฟมาก ๆ ที่ให้โอกาสเราได้แสดงฝีมือ ซึ่งนี่เป็นโปรเจกต์ที่มีคุณค่าและมีประโยชน์  และการที่ผมและทีมได้ลงมือพัฒนา เหมือนเป็นการเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการนำเอาวัสดุที่คนมองข้ามนี้เอากลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แล้วก็นำวัสดุพวกนี้กลับมาใช้หมุนเวียน ซึ่งคนที่ได้รับโต๊ะตัวนี้ก็จะได้รับความรู้ตรงนี้แล้วก็จะได้ช่วยกันในการเก็บขยะหรือบริหารจัดการขยะให้มันก่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น”

บทเรียนความยั่งยืนจากชุดโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมเก้าอี้

ชุดโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมเก้าอี้ที่ผลิตขึ้นจากซองเนสกาแฟที่จะส่งมอบไปยังโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำขนาดเล็กจำนวน 100 แห่งทั่วประเทศ หน้าที่ของชุดโต๊ะตัวนี้จะไม่ได้จบลงแค่เป็นที่นั่งทานข้าว นั่งอ่านหนังสือ หรือที่สังสรรค์สำหรับเด็กๆ นักเรียนเท่านั้น แต่ชุดโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมเก้าอี้นี้ จะเป็นบทเรียนเรื่องความยั่งยืนของเด็ก ๆ ในโรงเรียนที่เปลี่ยนจากแนวคิดความยั่งยืนแบบนามธรรมสู่ผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ และใช้ประโยชน์ได้จริง

อาจารย์ธารทิพย์ ศรีบูรพาภิรมย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนจรัสวิทยาคาร (มิตรภาพที่ 57) หนึ่งในโรงเรียนวิถีพุทธ ในสังกัด สพฐ. ที่ตั้งอยู่ในอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า “โรงเรียนวิถีพุทธ เป็นโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนโดยนำหลักคิดด้านหลักธรรมมาประยุกต์ เพื่อให้มีสติในการใช้ชีวิตและการบริโภค รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะ โครงการธนาคารขยะที่ส่งเสริมให้นักเรียนในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้แยกขยะ และนำขยะมารีไซเคิล จำหน่ายได้เป็นเงิน รวมถึงนำมาต่อยอดตามความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ เช่นดัดแปลงเป็นกระถางต้นไม้ เป็นต้น”

ด้วยศักยภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก ขยะที่เด็ก ๆ รวบรวมมาจากทั้งในโรงเรียน และที่บ้าน จึงมีข้อจำกัดในการนำมาดัดแปลงเพิ่มมูลค่าให้สิ่งของ แต่โต๊ะเก้าอี้โรงอาหารจากซองเนสกาแฟตัวนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ ว่า ขยะสามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าและใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้จริง และจะปลูกฝังให้เกิดความจริงจังในการจัดเก็บและคัดแยกขยะของเด็กนักเรียนได้มากขึ้น ตามที่น้อง พลอย หรือ นางสาว ศิริภักตร์ พิญญะชิต นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนจรัสวิทยาคาร บอกทิ้งท้ายไว้ว่า “หนูตื่นเต้นที่เปิดเทอมนี้จะได้ลองใช้ชุดโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมเก้าอี้ใหม่ค่ะ ในชีวิตประจำวันหนูก็เก็บขยะ แยกขยะและร่วมโครงการธนาคารขยะของโรงเรียนค่ะ ถ้าทางเนสกาแฟมีการเปิดรับซองกาแฟไปรีไซเคิล หนูอยากช่วยเก็บซองและส่งไปร่วมกับโครงการ “เนสกาแฟ อัพไซคลิ่ง” หนูอยากให้ทำเป็นโต๊ะนักเรียน เก้าอี้ หรือชั้นวางของค่ะ”

บรรยากาศการรับประทานอาหารกลางวันอย่างมีความสุขของน้องๆ โรงเรียนจรัสวิทยาคาร โดยใช้ชุดโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมเก้าอี้ชุดใหม่ที่ทำจากซองเนสกาแฟ

-- advertisement --