-- advertisement --

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – Back to School ดีเดย์ 1 พ.ย. 2564 เปิดเทอมออนไซต์ (On site) ภายใต้มาตรการเข้มของสาธารณสุข คลอดมาตรการ Sandbox Safety Zone in School (SSS) อยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิด-19 ตั้งการ์ดสูง เร่งฉีดไฟเซอร์นักเรียน คุมเข้มครูต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 85% ตรวจ ATK 2 ครั้งต่อสัปดาห์ 

นั่นคือเป้าหมายที่ถูกกำหนดเอาไว้

อย่างไรก็ดี หลังจากที่กำหนดการดังกล่าวออกมา ก็เกิดคำถามและข้อสงสัยจากบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองทันทีว่า จะมีหลักประกันอันใดที่จะรับประกันในเรื่องการแพร่ระบาดว่าจะสามารถควบคุมได้หรือไม่ อย่างไร เพราะต้องยอมรับว่า โรงเรียน” หรือ “สถานศึกษา”  ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงในลำดับต้นๆ ด้วยไม่แน่ใจว่า ทางโรงเรียนจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการเรียนการสอนจะทำในลักษณะไหน ขณะที่ตัวเลขการฉีดวัคซีนจำนวนมากก็มิได้หมายความว่า จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้จริง

ตามที่ทราบกันดีว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคการศึกษาทั่วโลกปรับสู่การเรียนการสอนออนไลน์ (online) มานานแรมปี รวมถึงประเทศไทยซึ่งต้องยอมรับว่าการเรียนออนไลน์มีปัญหาเป็นอย่างมาก

กระทั่งล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ภายใต้การกำกับของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 เปิดสถานศึกษาเปิดการเรียนการสอนตามปกติ หรือ ออนไซต์ (On site) ภายใต้มาตรการ Sand Box Safety zone in School (SSS) เปิดเรียนมั่นใจปลอดภัยไร้โควิด-19 ภายใต้ข้อกำหนด  6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มสถานศึกษา ประกอบด้วย

 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ได้แก่ 1) Distancing เว้นระยะห่าง 2) Mask wearing สวมหน้ากากอนามัย 3) Hand washing ล้างมือบ่อยๆ 4) Testing ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย 5) Reducing ลดการแออัด และ 6) Cleaning ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม

  6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ได้แก่ 1) Self-care ดูแลใส่ใจปฏิบัติตนตามมาตรการ 2) Spoon ใช้ช้อนส่วนตัว 3) Eating กินอาหารปรุงสุก ใหม่ ร้อน 4) Thai chana ลงทะเบียนไทยชนะ 5) Check สำรวจตรวจสอบบุคคลจากพื้นที่เสี่ยง และ 6) Quarantine กักกันตัวเอง 14 วัน เมื่อมีความเสี่ยง

และ  7 มาตรการเข้มสถานศึกษา  ได้แก่ 1) สถานศึกษาประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus และประเมินผลผ่าน MOECOVID 2) การทำกิจกรรมร่วมกันต้องเป็นกลุ่มย่อยและไม่ข้ามกลุ่ม 3) จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลและโภชนาการ 4) จัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการระบายอากาศ 5) จัดเตรียม School isolation และแผนเผชิญเหตุรองรับผู้ติดเชื้อโดยมีการซักซ้อม 6) ควบคุมดูแลการเดินไป-กลับให้มีความปลอดภัย (Seal Route) และ 7) จัดทำ School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากร ซึ่งจะมีข้อมูลผลประเมินความเสี่ยง ผลตรวจ ATK ในระยะ 7 วัน ประวัติการรับวัคซีน หรือประวัติติดเชื้อช่วง 1-3 เดือน

สำหรับมาตรการ Sand Box Safety zone in School (SSS) วางแนวทางคุมเข้มรับเปิดเทอมออนไซต์แบ่งโรงเรียนตามจังหวัดกลุ่มสี ประกอบด้วย

1. พื้นที่จังหวัดเฝ้าระวัง  สีเขียว  เน้นให้เข้ม 6 มาตรการหลักและเสริม โดยมี 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา ครูและบุคลากรต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 85% มีการประเมินความเสี่ยงนักเรียน ครู บุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

2. พื้นที่จังหวัดเฝ้าระวังสูง  สีเหลือง ให้เพิ่มการสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจ ATK สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

3. พื้นที่จังหวัดควบคุม  สีส้ม ให้เพิ่มการตรวจ ATK และประเมินความเสี่ยงบุคคลให้ถี่มากขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

4. พื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุด  สีแดง  จำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพิ่ม 3 ข้อ คือ ให้สถานประกอบการรอบสถานศึกษาในระยะ 10 เมตร ต้องผ่านการประเมินจาก Thai Stop COVID Plus ตามแนวทาง COVID Free Setting มีการทำ School Pass ของบุคคลในโรงเรียน เพื่อประเมินความเสี่ยงของบุคคลผ่านแอปฯ ไทยเซฟไทย สัปดาห์ละ 3 วัน ผลตรวจ ATK ประวัติรับวัคซีนหรือประวัติการติดเชื้อโควิดใน 1-3 เดือน และต้องจัดกลุ่มนักเรียนห้องละไม่เกิน 25 คน สุ่มตรวจ ATK ใน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์

และ 5. พื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สีแดงเข้ม  ให้ทำเหมือนจังหวัดสีแดงโดยเพิ่มการประเมินความเสี่ยงบุคคลผ่านแอปฯ ไทยเซฟไทย ให้ถี่ขึ้นเป็นทุกวัน ด้วยสุ่มตรวจ ATK สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

โดยมีสถานศึกษานำร่อง Sand Box Safety zone in School (SSS) ทั้งหมด 68 แห่ง ประกอบด้วย สังกัดสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ 20 แห่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 3 แห่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 1 แห่ง และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) 14 แห่ง เป็น ร.ร.นานาชาติเอกชน 14 แห่ง และ ร.ร.เอกชนนักเรียนไทย 12 แห่ง

 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยผลการดำเนินการตามมาตรการ Sand Box Safety zone in School (SSS) เริ่มต้นด้วยการนำร่องในโรงเรียนประจำ ซึ่งสามารถจัดการเรียนการสอนทั้งออนไลน์และออนไซต์ โดยได้คัดเลือกโรงเรียนที่มีการบริหารจัดการ มีความพร้อมทั้งจากโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนโดยรอบ รวมถึงได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนดว่าต้องเตรียมสถานที่แยกกักตัวในโรงเรียน (School Isolation) จัดแบ่งโซนในโรงเรียนเป็น โซนคัดกรอง โซนกักกันผู้ที่มีความเสี่ยง และโซนปลอดภัยเพื่อทำกิจกรรม รวมทั้ง มีการติดตามผลการดำเนินการผ่านระบบของกระทรวงศึกษาฯ หรือ MOE COVID และ Thai Stop COVID Plus

ทั้งนี้ นักเรียนที่เข้าเรียนออนไซด์ต้องมีผลการตรวจหาเชื้อ (ATK) เป็นลบ ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มและแต่ละกลุ่มต้องไม่สัมผัสกัน การควบคุมกำกับเรื่องการเดินทาง รวมถึงการประเมินความเสี่ยงทั้งประวัติ พฤติกรรมและอาการเสี่ยง เป็นระยะผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ

ข้อสำคัญทุกคนต้องป้องกันตัวเองเคร่งครัด ครูอาจารย์บุคลากรการศึกษาที่เกี่ยวข้องต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่า 85% สุ่มตรวจด้วย ATK เป็นระยะ หากพบผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องปิดเรียนต้องปฏิบัติตามแผนเผชิญอย่างเคร่งครัด โดยต้องเน้นย้ำเรื่องการบริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหาร

ผลการดำเนินงานมาตรการ Sand Box Safety zone in School (SSS) ในโรงเรียนประจำที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยของโรงเรียน แต่เป็นการสัมผัสผู้ติดเชื้อนอกโรงเรียน

ทั้งนี้ มาตรการ Sand Box Safety zone in School (SSS) กำลังขยายผลในโรงเรียนไป-กลับ ทุกสังกัดทั่วประเทศ ดำเนินมาตรการเข้มข้นตามระดับพื้นที่ระบาด อย่างไรก็ตาม กำหนดเปิดเปิดเทอม 1 พ.ย. 2564 ไม่ได้เป็นการบังคับให้สถานศึกษาทุกแห่งเปิดเทอมออนไซด์เต็มรูปแบบ 100% แต่อาจจะสลับให้นักเรียนมาเรียนได้ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขแบบเข้มข้น เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและผู้ปกครองที่มารับมาส่งนักเรียนเอง

อย่างไรก็ตาม มาตรการสาธารสุขที่เข้มข้นนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น สร้างความเกิดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ปัญหาสะท้อนผ่าน  ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล  นายกสมาคมคณะกรรมการประสานงานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ความว่า ตามมาตรการสาธาสุขของรัฐโรงเรียนในพื้นที่สีแดงและสีแดงเข้ม ต้องตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK ต้องตรวจ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชนจะเกิดปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายชุดตรวจ ATK แน่นอนว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง รวมทั้ง ค่าใช้จ่ายแฝงในส่วนอื่นๆ ที่โรงเรียนจะต้องรับผิดชอบอีก เช่น การจัดจ้างทีมตรวจ อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ชุด PPE, หน้ากาก N95, หน้ากากใส Face Shield เป็นต้น

สำหรับค่าชุดตรวจ ATK ยกตัวอย่าง 1 เทอม มีการเรียนการสอน 20 สัปดาห์ นักเรียน 1 คน ก็จะต้องตรวจ 40 ครั้งต่อเทอม แม้ชุดตรวจ ATK จะมีราคาที่ถูกลงเหลือประมาณ 60 – 70 บาทต่อชุด หรือรัฐบาลสามารถทำให้ราคาเหลือ 40 บาทต่อชุด แต่ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 1,600 บาทต่อคน ถือว่ายังสูงอยู่ดี

ฉะนั้น ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อาจต้องเรียกเก็บไปยังผู้ปกครองส่วนหนึ่ง ร่วมจ่ายคนละครึ่งกับทางโรงเรียน แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้ารัฐสนับสนุนชุดตรวจ ATK ให้ทางโรงเรียนครึ่งหนึ่ง ค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือทางโรงเรียนจะรับผิดชอบโดยไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ปกครอง ในประเด็นนี้ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดจากรัฐ

อย่างไรก็ดี ความคืบกรณีการจัดสรร ATK สำหรับโรงเรียน  น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ นายสุภัทร จำปาทอง  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หารือกับทางกระทรวงสาธารณสุข เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสม

โดยการสนับสนุนเบื้องต้นมี 2 ส่วน คือ 1. สปสช. มีการจัดชุดตรวจ 8.5 ล้านชุด กระจายลงไปยังจังหวัดผ่านระบบสถานพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขร่วมกับโรงเรียนในการวางแผนเตรียมความพร้อมหากมีการเปิดเรียน ครู บุคลากร นักเรียน ถือเป้นประชาชน ถ้าประเมินมีความเสี่ยงก็รับชุดตรวจตามระบบของ สปสช.ได้ และ 2) เมื่อดำเนินการระยะหนึ่ง ตัวชุดทดสอบจะมีจำนวนมากขึ้น ราคาลดลง การจัดหาขึ้นกับพื้นที่ เช่น ท้องถิ่น คณะกรรมการโรงเรียน หรือกองทุนสุขภาพระดับพื้นที่สามารถนำเงินมาสนับสนุนการดำเนินการของโรงเรียน ขึ้นกับกระบวนการหารือร่วมกันของโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนและจังหวัด

อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลและรายงานผลการประเมินตามข้อมูลจากนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ต่อการเปิดเรียนแบบ On-Site ของ ศธ. สะท้อนว่า ผู้เรียนต้องการให้เปิดเรียนแบบ On-Site เป็นจำนวนร้อยละ 94, ผู้ปกครองต้องการให้เปิดเรียนแบบ On-Site เป็นจำนวนร้อยละ 90 และครูต้องการให้เปิดเรียนแบบ On-Site เป็นจำนวนร้อยละ 88

ดังนั้นต้องเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ผู้เรียนเป็นประเด็นสำคัญ ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ศธ. ปูพรมฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มนักเรียนทุกสังกัดการศึกษา อายุ 12-18 ปี ให้ครบ 2 เข็ม เริ่มจากพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ก่อนทยอยฉีดในจังหวัดอื่นๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงครู บุคลากรทางการศึกษา



 ข้อมูล ณ วันที่ 12 ต.ค. 2564 ตัวเลขนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศที่ประสงค์ฉีดวัคซีน อยู่ที่ 3,722,806 ราย จากจำนวนักเรียนที่มีสิทธิฉีดทั้งหมด 5,067,173 ราย โดยตัวเลขนักเรียนที่ประสงค์ไม่ฉีดวัคซีน จำนวน 1,344,367 ราย คิดเป็น 26.53% ตัวเลขนักเรียนที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 820,000 คน คิดเป็น 22.05% ถือว่าการฉีดวัคซีนยังเป็นไปตามแผนที่กำหนด ขณะเดียวกันยังมีรอบเก็บตกสำหรับกลุ่มที่ตัดสินใจฉีดภายหลัง ซึ่งยืนยันว่ามีวัคซีนเตรียมไว้เพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคน 



ส่วนประเด็น ผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก  นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน ระบุว่าผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก 12 ปี เรื่องกังวลฉีดไฟเซอร์แล้ว มีอาการ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จากข้อมูลจากการฉีดทั่วโลกพบว่า อาการดังกล่าวพบในระดับต่ำ หรือน้อยมาก ในทางกลับกันหากติดเชื้อโควิด-19 แล้วส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มีโอกาสเกิดมากกว่ามากกว่า 6 เท่า ที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดภาวะดังกล่าว ดังนั้น ยืนยันว่า ไม่น่ากังวล เมื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงถือแล้ว ถือว่าคุ้มมาก ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วง และหากเกิดอาการแล้ว ยืนยันว่า สามารถรักษาหายได้

อย่างไรก็ตาม แนวทางการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับกลุ่มนักเรียน อายุ 12 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มนักเรียน ม.1 – ม. 6 นักศึกษา หรือ ปวช. ปวส. หรือเทียบเท่า ขณะนี้แม้ตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 แม้ลดลง แต่ก็ยังต้องระวัง ประเมินกันว่าในเดือน ต.ค. ตัวเลขติดเชื้ออาจกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีก แต่จะเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่การปฏิบัติตัวของประชาชนเป็นสำคัญ

สำหรับมาตรการ Sandbox Safety Zone in School (SSS) เป็นการการปรับตัวของภาคการศึกษาเพื่ออยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิด-19 โดยดำเนินการในโรงเรียนที่มีความพร้อม และเป็นไปตามความสมัครใจของผู้เรียนและผู้ปกครองเอง

 ท้ายที่สุด ดีเดย์เปิดเทอม 1 พ.ย. 2564 การเรียนการสอน “On site – Online” ยังคงดำเนินควบคู่กัน ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขแบบเข้มข้นต่อไป เพราะสังคมเห็นพ้องต้องกันว่า การเปิดเทอมเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้ เป็นธงแห่งความหวังของนักเรียน และเป็นบทพิสูจน์ความสามารถในการจัดการของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการว่าจะทำได้อย่างที่ประกาศไว้หรือไม่ อย่างไร 


-- advertisement --