-- advertisement --

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 คณะผู้นำครู สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) จัดเวทีประชุมเสวนาผู้นำองค์กรวิชาชีพครู เรื่อง “การศึกษาไทยจะก้าวเดินไปทิศทางใด” ณ โรงแรมธนินทร อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด โดย ดร.วีรบูล เสมาทอง ประธานสภามนตรี สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) และผู้นำองค์กรวิชาชีพครู 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย นายธีระศักดิ์ สุวรรณปัญญา ประธานสหพันธ์ครูภาคเหนือ นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง นายประทุม เรืองฤทธิ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ นายพลชัย โสภากันต์ ประธานชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายสุกิจ เดชโภชน์รอง ประธานสภามนตรีฯ นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการ ส.ค.ท.

ในการประชุมได้มีมติร่วมกันประกาศเป็นปฏิญญาร้อยเอ็ดโหวด ยืนหยัดในเรื่องสำคัญ อาทิเช่น การบัญญัติสาระหลักสำคัญทางวิชาชีพไว้ในร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…….และทวงคืนสภาครู ตลอดจนเรียกร้องให้แต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติที่ดี มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ และเชิญชวนให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูทั่วประเทศแสดงจุดยืนประกาศเจตนารมณ์ดังนี้


1) วิชาชีพครูต้องเป็นวิชาชีพชั้นสูง และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ไม่รับ ไม่เอา ใบรับรองความเป็นครู


2) ให้คงสภาพสถานะของตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียน เป็น “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” ไม่เอา ไม่รับ “ครูใหญ่”


3) ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลอย่างแท้จริง


4) คืนสภาครู เป็นของครู โดยครู เพื่อครูและศิษย์


5) คืนอำนาจการบริหารงานบุคคลให้เขตพื้นที่การศึกษา


6.) รมว.ศธ.คนใหม่สมควรให้มีคุณสมบัติที่ดี 5 ประการ ตามแถลงการณ์ ส.ค.ท. ฉบับที่ 3/2564


7.)ขอความร่วมมือผู้ประกอบวิชาชีพครู แต่งกายด้วยเสื้อสีขาว (เสื้อยืด ส.ค.ท. ) ทุกวันอังคาร ของสัปดาห์เพื่อแสดงสัญลักษณ์ การต่อสู้เรียกร้อง ปกป้องเด็กไทยให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพจากวิชาชีพครู ผดุงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้ประกอบวิชาชีพครูสืบไป

สำหรับแถลงการณ์สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.)ฉบับที่ 3/2564 เรื่อง 5 คุณสมบัติที่จำเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท) และองค์กรเครือข่ายฯ 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย สหพันธ์ครูภาคเหนือ ชมรมครูภาคกลาง ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาพันธ์ครูภาคใต้ ได้จัดประชุมสัญจร ณ โรงแรมธนินทรจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมือง ภายในประเทศเป็นอย่างยิ่ง ต่อกรณี นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาการ พ้นจากตำแหน่ง และได้มีมติถึงคุณสมบัติของผู้ที่มีความเหมาะสม ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รับผิดชอบ ได้โปรดพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่มีความเหมาะสมให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีเหตุผลและความจำเป็นดังนี้

กระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยที่กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 มาตรา54 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชน ได้รับการศึกษาอบรม ให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้อง กับความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการเมืองและสังคม สร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนศึกษา คันคว้า วิจัยในศิลปะวิทยาการต่างๆ เร่งรัดการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาวิชาชีพครูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหล่อหลอมพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ให้มีคุณลักษณะที่ดี มีสมรรถนะที่จำเป็นของคนในศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในประชาคมโลก จึงมีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมดังนี้


1.มีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตโปร่งใส ตรวจสอบได้


2. มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ทางด้านการศึกษา


3. เป็นผู้มีความมุ่งมั่นที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการปฏิรูปการศึกษา การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อปวงชนชาวไทย


4 ให้ความสำคัญของวิชาชีพครู ต้องเป็นวิชาชีพควบคุม วิชาชีพชั้นสูง มีสภาวิชาชีพ มาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อเป็นหลักประกัน สร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและสังคม


5.ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานเด็กไทย ตามหลักสิทธิมนุษยชน เชื่อมั่นและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยสากล


เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อประเทศชาติและประชาชน จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญ ในการพิจารณาบุคคล ที่มีความเหมาะสม ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามข้อเสนอของสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทยต่อไป


เชื่อมั่นและศรัทธาสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) 26 กุมภาพันธ์ 2564

หมายเหตุคำว่า “โหวด” ให้ใช้คำนี้ เป็นเครื่องดนตรีอีสาน