กศน.ตำบล ปูพรมดิจิทัลชุมชน รุก”อี-คอมเมิร์ซ”ชาวบ้าน..คลิกเดียวรับเงิน
เก็บตก ครม.สัญจร ภาคอีสาน ในมิติของชาวการศึกษาที่เจ้ากระทรวงคุณครู ทั้ง 3 เสมา นำทีมผู้บริหารองค์กรหลัก ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการดำเนินงานนโบายการทางศึกษา และสร้างขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการและบุคลากรอย่างทั่วหน้า
หยิบยกมาเสนอกัน…ในส่วนของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ และทีมผู้บริหาร กศน. ลงตรวจเยี่ยมการติดตามการดำเนินงานการสร้างความพร้อมชุมชน ผ่านเครือข่ายศูนย์ดิจิทัลชุมชน ที่สำนักงาน กศน.อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา
การจัดตั้ง “ศูนย์ดิจิทัลชุมชน” นี้ถือเป็นนโยบายหลักอย่างหนึ่งของรัฐบาลที่ปูพรมเรื่อง “ดิจิทัล” ให้เข้าถึงหมู่บ้าน แต่การเข้าถึงหมู่บ้านเฉย ๆ ก็ไม่มีประโยชน์ ต้องเชื่อมโยงกับการให้การศึกษาแก่ชาวบ้านด้วย โดยสอนให้ชาวบ้านใช้โทรศัพท์เป็น ขายของออนไลน์ได้
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่าปัญหาเรื่องดิจิทัลในบ้านเรา คือโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อมาถึงชุมชนก็ทำได้ดีแล้ว แต่ยังติดกับเรื่องของเวลาราชการ ซึ่งจากนี้ไปต้องสอนว่านอกจากเวลาราชการชาวบ้านไม่ได้มาที่ศูนย์ดังกล่าวแล้ว จะทำอย่างไรได้บ้าง ขณะเดียวกันก็ต้องสอนให้ชาวบ้านรู้เรื่องกฎหมายด้วย เพราะการขายของออนไลน์ก็ต้องเสียภาษี ต้องสอนให้เขารับรู้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากให้ตรงนี้เป็นอุปสรรค จน ชาวบ้านไม่อยากทำต่อ แต่หน้าที่ของรัฐคือการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีความรู้พื้นฐานด้วย
…ปัจจุบัน กศน.ตำบล 7,424 แห่งทั่วประเทศ เป็นหน่วยปฏิบัติจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน ขึ้นแล้ว เพื่อจัดการเรียนการสอนด้านคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ที่สำคัญ “นายกฤตชัย อรุณรัตน์” เลขาธิการ กศน.เน้นย้ำให้ ครู กศน.ตำบล นอกจากจะสอนทักษะการใช้เทคโนโลยีแล้ว ยังต้องทำหน้าที่สำรวจอาชีพและผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อใช้ประโยชน์จากศูนย์ดิจิทัลชุมชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะการส่งเสริมช่องทางการตลาดออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ช โดยการสร้างเพจ เพื่อส่งเสริมการขาย ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระจายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนได้
“ทุกวันนี้เรื่องดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมา กศน.ได้พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับไว้บ้างแล้ว และตอนนี้ก็กำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องไปขยายผลถ่ายทอดความรู้ และไปเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ประชาชนในชุมชน และผู้ที่เรียนการศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งได้ดำเนินการไปในทุกตำบลแล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา”
เลขาธิการ กศน. ตอกย้ำว่า สำหรับปีนี้จะเป็นการขยายผลเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยผู้ให้บริการเครือข่าย ที่ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือไว้ เพื่อให้การดำเนินการส่งเสริมการตลาดออนไลน์ของศูนย์ดิจิทัลชุมชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะนำร่องภาคละ 1 จังหวัดก่อน ส่วนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ (EEC) ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง นั้นได้เข้าไปครบทุกจังหวัดแล้ว และจะขยายผลให้ครบทุกพื้นที่ 100% ในปี 2561 โดยกลุ่มเป้าหมายเดิมที่ดำเนินการไปก่อนหน้านั้น ก็ต้องพัฒนาคุณภาพให้มากขึ้นด้วย
——————-
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ