-- advertisement --

“ชวน”คุมเข้มสภาฯรับมือถก “งบฯ65” 3 วัน “นายกฯ-ครม.”พร้อมแจงร่างพ.ร.บ.งบฯ ปี 65 ย้ำรมต.ถือเป็นโอกาสดีสร้างการรับรู้-ความเข้าใจกับปชช. ด้าน “เสกสกล” เมิน “พท.-ก้าวไกล” กร้าวไม่รับร่างพ.ร.ก.กู้เงินฯ ซัดค้านทุกเรื่อง ย้ำนายกฯไม่ลาออก อย่าหวังเลื่อนลอย ส่วน“ปชป.” เผยถกงบฯ ยึด 5 แนวทาง หวังเป็นประโยชน์ต่อประชาชน-พัฒนาปท. ขณะที่“เพื่อไทย” ห่วง “บิ๊กตู่” ตัดงบการศึกษาทำไทยยิ่งล้าหลัง



ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 30 พ.ค.64 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงมาตรการป้องกันโควิด -19 ในช่วงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วาระแรก ในระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 2 มิ.ย.นี้ ที่จะมีคนจำนวนมากเข้ามาภายในอาคารรัฐสภา ว่า สภาฯมีแนวทางในการปฏิบัติที่จะลดจำนวนคนเข้ามาในพื้นที่ โดยในส่วนของผู้ที่จะมาให้ข้อมูลทั้ง กระทรวง ทบวง กรม ขอให้จัดคนมาให้น้อย ส่วนข้อมูลที่จะส่งเข้ามา ขอให้ใช้ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบซูม สำหรับการอภิปรายตลอดทั้ง 3 วัน จะให้ส.ส. สวมใส่หน้ากาก ส่วนคนที่ต้องการอภิปราย แต่ไม่สามารถสวมหน้ากากได้นาน ทางสภาฯ ก็ได้มีการจัดแท่นอภิปราย ซึ่งจะเป็นตู้กระจกใสกั้นไว้ และเมื่ออภิปรายจบลงก็จะมีการทำความสะอาดทุกครั้ง โดยจะมีการคุมเข้มทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะหากพลาดไป ก็อาจจะมีปัญหาได้ โดยเข้มงวดแม้กระทั่งคนที่ทำความสะอาด

เมื่อถามถึงการอภิปรายหรือชี้แจงในส่วนของครม.นั้น นายชวน กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรีหรือครม.จะชี้แจง และประสงค์จะใช้แท่นตู้กระจก ทางสภาฯ ก็จะอำนวยความสะดวก จัดเตรียมไว้ให้แต่ถ้าไม่ใช้ก็ต้องสวมหน้ากาก เช่นเดียวกับส.ส.

นายชวน กล่าวต่อว่า สาเหตุที่สภาต้องคุมเข้มโดยเราตั้งสมมติฐานว่าต้องไม่ประมาท เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะแพร่โรคนี้ได้ โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องระวังคือละอองที่จะลอยออกมาในระหว่างพูด หากไม่สวมหน้ากากก็อาจจะรับละอองที่ลอยมาได้ ก่อนหน้านี้ตนได้กำชับส.ส.อย่านั่งใกล้กัน แต่ก็ยังมีบางคนมานั่งอยู่ด้านหลังผู้อภิปราย เพื่ออยากออกทีวี ดังนั้น จะขอให้นั่งแยกออกจากกัน ซึ่งมีการจัดเก้าอี้ไว้ให้แล้ว อย่างไรก็ตามในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 คงมีปัญหาเฉพาะช่วงการลงมติและนับองค์ประชุม ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่าไม่ควรเกิน 15 นาที ซึ่งในการลงในวาระแรก จะเป็นการลงมติเพียงครั้งเดียวว่า รับหลักการหรือไม่รับหลักการ แต่จะไปยุ่งในช่วงการพิจารณาวาระ2 ที่จะต้องมีการลงมติเป็นรายมาตรา โดยเราก็หวังว่าเมื่อถึงช่วงนั้นสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมชี้แจ้งรายละเอียดถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 ในวาระที่ 1 ในวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย. ทั้งนี้ นายกฯ ได้กำชับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมครม.ครั้งที่ผ่านมาว่า การประชุมสภาฯ ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการชี้แจงให้ ส.ส.ทราบถึงร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในรายละเอียดแล้ว ยังถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะสร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อได้รับทราบถึงการจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ด้วย และย้ำให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเข้าร่วมประชุมสภาฯ เพื่อชี้แจงข้อสงสัยของ ส.ส. และสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบไปในคราวเดียวกัน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า สำหรับวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 3.1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายประจำจำนวน 2,360,543 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76.15 ของวงเงินงบประมาณ สำหรับรายจ่ายลงทุนมีจำนวนทั้งสิ้น 624,399.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.14 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลที่มีจำนวน 7 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การที่งบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี ไม่เป็นปัญหาในการจัดงบประมาณในครั้งนี้แต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลสามารถเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย ซึ่งประกอบด้วย1.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 คาดว่าจะมีโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนในปี 2565 รวม 52,320.63 ล้านบาท2.กองทุนรวมโครง สร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประมาณการแผนการใช้จ่ายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 9,983.98 ล้านบาท3.การใช้เงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสิ้น 109 รายการ วงเงินรวม 91,705.5119 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วว่าเป็นรายการลงทุนที่มีความพร้อมในการดำเนินการ ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมและสามารถใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้

นายอนุชา กล่าวว่า นายกฯ จะได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงหลักการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วน และให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบายภายใต้แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติจากสถานการณ์โควิด – 19 (พ.ศ. 2564 – 2565) รวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) โดยได้พิจารณาทั้งแหล่งเงิน ศักยภาพหน่วยงาน และได้ดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วนทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.ก้าวไกล ประกาศว่าพรรคก้าวไกลจะไม่โหวตรับ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท รวมถึงก่อนหน้านี้ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขอให้พรรคร่วมฝ่ายค้านยกมือไม่รับหลักการว่า ไม่แปลกใจอยู่แล้วที่พรรคฝ่ายค้านจะออกมาประกาศค้านในเรื่องนี้ เพราะเป็นฝ่ายค้านจะต้องค้านทุกเรื่องอยู่แล้ว แม้จะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองต่อประเทศชาติประชาชน ก็จะปิดหูปิดตาค้านทุกเรื่อง โดยไม่ยึดโยงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก

ทั้งนี้ ยังมั่นใจว่าเสียงในพรรคร่วมรัฐบาลยังมั่นคงมีเสถียรภาพ รัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาลยังทำงานด้วยกันได้เป็นอย่างดี และมีผลงานชัดเจนมากมาย อีกทั้งไม่มีความขัดแย้งใดๆทั้งสิ้น โดยเฉพาะในช่วงที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตเดือดร้อน ประชาชนต้องการความช่วยเหลือ จึงไม่มีรัฐมนตรี หรือส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาลคิดถึงเรื่องอื่นใดนอกจากพุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและทุ่มเทเร่งทำงานช่วยให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีรายได้ ปลอดภัยจากโควิด อย่างสุดความสามารถ

นายเสกสกล กล่าวอีกว่า ขณะที่การออกมาชี้แจงของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าหาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ไม่ผ่านนายกฯอาจจะต้องยุบสภานั้น เป็นการพูดถึงในหลักการ ไม่ได้พูดเพื่อที่จะข่มขู่ใครทั้งนั้น ส่วนการเรียกร้องให้นายกฯลาออก ก็คงเป็นความหวังอย่างเลื่อนลอยของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ต้องการเช่นนั้น แต่ยังไม่มีเหตุผลอะไรที่นายกฯจะต้องลาออก เพราะยังไงตนคิดว่า จำนวนเสียงสนับสนุนของพรรคร่วมรัฐบาลในสภาฯมีเพียงพออย่างแน่นอน ซึ่งความหวังของพรรคฝ่ายค้านน่าจะเป็นไปได้แค่ฝันค้างกลางวัน ทั้งนี้นายกฯเองยังไม่ได้ทำผิดอะไร และยังมีเวลาอีกปีเศษๆ ก็จะครบวาระ 4 ปี ที่นายกฯจะต้องทำงานให้กับบ้านเมืองโดยเฉพาะในขณะนี้ประชาชนกำลังได้รับความเดือดร้อนจากโควิดอยู่ ประชาชนยังเชื่อมั่นในตัวนายกฯให้อยู่ต่อไป ยิ่งควรอยู่แก้ไขปัญหาวิกฤตจึงยังไม่ควรที่จะลาออกจากตำแหน่งในขณะนี้ และไม่อยู่ในความคิดของนายกฯที่จะหนีปัญหาอย่างแน่นอน

“ผมไม่แปลกใจหากฝ่ายค้านจะประกาศ ไม่โหวตรับ พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้าน เพราะต้องค้านทุกเรื่องอยู่แล้ว ค้านแบบไม่มีเหตุผลเป็นนิสัยสันดานของฝ่ายค้านในยุคนี้ แม้แต่ในสถานการณ์บ้านเมืองประเทศชาติมีความจำเป็นที่จะต้องนำงบประมาณมาใช้สำหรับแก้ไขปัญหาทั้งด้านสาธารณสุข ดูแลเยียวยาประชาชน และฟื้นฟูประเทศ ซึ่งยืนยันว่าการใช้งบประมาณจะเป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่า เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ประชาชน อย่างมากฝ่ายค้านก็จะดันทุรังค้านแบบไม่ลืมหูลืมตา และวิพากษ์วิจารณ์แบบหน้ามืดตามัวอยู่แล้ว จึงนำเรื่องนี้มาพูดกล่าวโจมตี ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด นายกฯ และรัฐบาล เสียหายหรือเพื่อตีกินทางการเมืองและพุ่งเป้าทำลายเครดิตรัฐบาล โจมตีนายกฯนี่คือ พฤติกรรมฝ่ายค้านเมืองไทยในยุคนี้ ไม่มีการพัฒนาทางความคิดและเล่นการเมืองอย่างสร้างสรรค์เลยสักนิด จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายฝ่ายค้านในยุคนี้มากกว่าทุกยุคทุกสมัย”

ด้าน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธานส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส. ของพรรค ได้เตรียมความพร้อมที่จะอภิปรายให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาในรายละเอียดของคณะกรรมาธิการ เพื่อให้เงินงบประมาณที่มาจากภาษีอากรของประชาชน สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างเต็มที่ โดยมีแนวทางการพิจารณาที่สำคัญดังนี้ 1.การจัดทำงบประมาณเป็นไป เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสัง คมแห่งชาติ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลหรือไม่ อย่างไร 2.การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ได้คำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมของประเทศในปัจจุบัน โดยเฉพาะผลกระทบจากสถาน การณ์โควิด-19 3. มีการกระจายงบประมาณเพื่อก่อให้เกิดการบูรณาการในทุกมิติ ทั้งมิติกระทรวง หน่วยงาน มิติบูรณาการเชิงพื้นที่ให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้อง สนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ซ้ำซ้อนกันจริงหรือไม่ อย่างไร 4. มีการให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพทางการคลังของท้องถิ่น การถ่ายโอนภารกิจการจัดบริหารสาธารณะระดับท้องถิ่นแก่ประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นหรือไม่ 5. มีการให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและความต้องการของประชาชนทั้งในระดับชาติ ระดับพื้นที่ ภาคกลุ่มจังหวัด จังหวัด ท้องถิ่น หรือไม่ รวมถึงมีการให้ความสำคัญกับสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเปราะบางทางสังคมเพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต และลดความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19–หรือไม่ อย่างไร

นายองอาจ กล่าวว่า ส.ส.ประชาธิปัตย์ หวังว่าการอภิปรายให้ข้อคิดเห็นต่างๆ จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย เพื่อให้งบประมาณซึ่งมาจากเงินของประชาชนกลับไปสร้างประโยชน์สุขให้ประชาชนและสร้างสรรค์พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

ส่วน นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร ประธานอนุกรรมการนโยบายด้านสวัสดิการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายปี 65 มีวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 64 ถึง 1.85 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.66% ซึ่งแสดงความเสื่อมถอยของประเทศ โดยมีการตัดงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการถึง 2.45 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 6.75% ซึ่งนับว่าถูกตัดงบสูงมาก ทั้งที่การศึกษาเป็นความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้เด็กไทยมีความเฉลียวฉลาดมากขึ้นเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นได้ในอนาคต แต่นายกฯกลับตัดงบการศึกษาอย่างมาก ยิ่งตอกย้ำความไม่สามารถแยกแยะความสำคัญในเรื่องต่างๆได้เลย

“ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาคุณภาพการศึกษาของไทยตกต่ำ อยู่อันดับท้ายๆ ของกลุ่มประเทศในอาเซียนมาตลอด ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยจัดอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยไทยตามหลังเวียดนาม ขณะที่ระดับอุดมศึกษาอยู่อันดับ 8 ซึ่งเป็นที่น่าตกใจว่าเราตามหลังกัมพูชาและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอับอายมาก แต่นายกฯกลับไม่เคยแก้ไขแถมยังจะมาตัดงบประมาณอีก ซึ่งจะยิ่งทำให้คุณภาพของการศึกษาไทยตกต่ำลงไปอีก”

-- advertisement --