-- advertisement --

เสรี พงศ์พิศ

FB Seri Phongphit

นโยบายการศึกษาของผู้ว่าฯ ชัชชาติ และผู้สมัครอื่นๆ พูดถึงแต่ “โรงเรียน” ไม่มีใครพูดถึงคนกรุงเทพฯ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ว่าจะส่งเสริมสนับสนุนให้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างไร เพื่อจะอยู่ในโลกวันนี้ที่ “คนไม่มีความรู้อยู่ไม่ได้ ถึงอยู่ได้ก็ถูกเขาโกงถูกเขาหลอกถูกเขาเอาเปรียบได้ง่าย”

ผู้นำที่ดีควรมีวิสัยทัศน์ไกลกว่า ลึกกว่า “ประชานิยม” หรือสิ่งที่โพลบอกว่าประชาชนต้องการอะไร ไม่มีใครแสดงวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ เมืองแห่งการเรียนรู้ คงคิดว่าคนสนใจแต่เรื่องน้ำท่วม รถติด ขยะ รถไฟฟ้าแพง

โทนี แบลร์ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรบอกว่า “ถามผมสิว่า สามอย่างสำคัญที่สุดในรัฐบาลผมคืออะไร ผมจะตอบว่า การศึกษา การศึกษาและการศึกษา

แผนการปฏิรูปการศึกษาที่นายเดวิด บลังเคตต์ รัฐมนตรีศึกษาฯ เสนอนั้นไม่ได้เจาะจงที่ “โรงเรียน” แต่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในวัยแรงงาน ให้กลับมาเรียนใหม่ ใช้ไอทีฟื้นฟูความรู้ให้อยู่ในโลกยุคใหม่อย่างรู้เท่าทัน  รัฐมนตรีศึกษาผู้พิการทางสายตามองเห็นอะไรได้ทะลุด้วยปรีชาญาณอันเป็นหัวใจของวิสัยทัศน์ คำเดียวกับ ภาพนิมิต (vision)

นโยบายผู้สมัครผู้ว่าฯ ทุกคนสนใจ 437 โรงเรียนในสังกัดกทม. พัฒนาครู หลักสูตร สร้างโรงเรียนต้นแบบ เครื่องแบบฟรี เรียนฟรี เรียนใกล้บ้าน อาหารกลางวันให้นักเรียน 260,000 คน โดยไม่ได้สนใจการเรียนรู้ที่บ้าน ที่โควิดมาได้สะท้อนความอ่อนแอของระบบการศึกษาที่ไม่พร้อมจัดการเรียนรู้ “นอกห้องเรียน”

เพราะการเรียนรู้ในชีวิตจริงที่ทำให้เกิดปัญญานั้น ผู้บริหารการศึกษาในระดับนโยบายและครูที่นำไปสู่การปฏิบัติ ต้องมี “วิสัยทัศน์” ที่เป็นปรัชญาหรือฐานคิดหลักของยุทธศาสตร์การศึกษา พร้อมพันธกิจ แผนงาน โครงการ กิจกรรม ที่สัมพันธ์กันหมด คนละ “กระบวนทัศน์” กับที่มีอยู่

โรงเรียนในสังกัดกทม.ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ชุมชน โดยเฉพาะชุมชนแออัด ซึ่งมีอยู่กว่า 600 แห่ง  วิสัยทัศน์การศึกษาไม่ได้มีความสัมพันธ์กับชีวิตของชุมชนเหล่านั้น ซึ่งต้องการความช่วยเหลือไม่น้อยไปกว่าลูกหลานที่ไปโรงเรียน พวกเขาต้องการ “ความรู้” ที่จะช่วยให้ “พ้นทุกข์” ยาวนานกว่า “ยาแก้ปวด”

ผู้ว่าฯชัชชาติ และทีมงานควรอ่าน “การศึกษาของผู้ถูกกดขี่” (Pedagogy of the Oppressed) ของเปาโล แฟรร์ ซึ่งเขียนไว้กว่า 50 ปีก่อน โดยไม่ต้องกลัวใครจะว่า “ซ้าย” เพราะเป็นแนวคิดที่ยูเนสโก มอบรางวัลให้ผู้เขียนตั้งแต่ปี 1986 ว่า นี่คือปรัชญาการศึกษาที่มีพลัง ที่ปลดปล่อยให้คนเป็นไทจริง

เปาโล แฟรร์ เป็นนักการศึกษา นักปรัชญาชาวบราซิล เขียนหนังสือเล่มนี้ในยุคหลังอาณานิคม ที่แม้ว่าจะปลดแอกจากอำนาจอาณานิคมไปทั่วโลกเกือบหมดแล้ว แต่วาทกรรม “อาณานิคม” ยังคงลอยอยู่เหนือโลกในนามลัทธิอาณานิคมยุคใหม่ (neo-colonialism) ด้วยอำนาจนำ (hegemony)  ที่ครอบงำได้แนบเนียนกว่าโดยเฉพาะคนยากคนจน คนไม่มีความรู้ ไม่มีโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาตนเอง

บราซิลมีประชากรกว่า 210 ล้านคน ร้อยละ 85 อาศัยอยู่ในเมือง เหลือคนอยู่ในชนบทเพียงร้อยละ 15 บนพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทย 17 เท่า  เปาโลแฟรร์ เขียนหนังสือเล่มนี้จากประสบการณ์การทำงานกับคนเมือง ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในชุมชนแออัด หรือย่านคนชั้นกลางล่าง

มีแชล โซเกต์ เพื่อนชาวฝรั่งเศส เคยทำงานในชุมชนแออัดที่บราซิล เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “การสื่อสารคือการพัฒนา” (Communication is Development)  เขามาเมืองไทยและสรุปงานที่ชุมชนแออัดให้ฟังว่า การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ นำไปสู่การปลดปล่อยอย่างที่เปาโลแฟรร์เขียนไว้จริง

เขาบอกว่า เมื่อเกิดเครือข่าย เกิดการเรียนรู้ การฟื้นฟูทุนทางสังคม ที่ผู้คนเคยมีในอดีต เกิดความสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ นำไปสู่การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เกิดระบบเศรษฐกิจชุมชน

กรุงเทพฯ เรียนรู้จากเปาโลแฟรร์ และมีแชล โซเกต์ ได้โดยเริ่มจากความเชื่อว่า มีการกดขี่การครอบงำจริง และผู้ถูกกดขี่ก็สามารถปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระได้ถ้าหากได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเหมาะสม

ส่งเสริมเครือข่ายของคนในชุมชนแออัด กับชุมชนอื่นในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ซึ่งมีอยู่แล้ว แต่รัฐไม่สนใจ ปล่อยให้เอ็นจีโอทำ (แล้วหาว่าไปปลุกระดม) เชื่อมสัมพันธ์กับภาคธุรกิจ โดยกทม.สร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้คนมีที่ยืนร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาพัฒนาตนเอง ไม่ทำเองก็สนับสนุนองค์กรอิสระทำ

วันนี้ คนจนในเมืองกลายเป็นประชาชนชั้นสอง ตลาดนัดชุมชนเป็นตลาดล่าง  ทั้งๆ ที่คนจนจากชุมชนแออัด คนชั้นกลางล่างเหล่านี้คือพลังสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ อยู่ได้ เศรษฐกิจนอกระบบที่เกิดในชุมชนเหล่านี้หรือที่กระจายอยู่ย่านคนจน คนขายของข้างถนน ที่โด่งดังเป็นสตรีทฟู้ดก็มี เหล่านี้ล้วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ  เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ ที่สร้างเอกลักษณ์และชื่อเสียงให้ประเทศไทย

ให้โอกาสการเรียนรู้ไม่ใช่บอกให้ไปเรียนกศน.ไปเรียนรามฯ มสธ. ถ้ามีแพลตฟอร์ม มีเวทีเสมือนจริงและเวทีจริงหลากหลายให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พวกเขาจะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ด้วยความรู้ ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ เรียนผิดเรียนถูก ล้มแล้วล้มอีก บทเรียนซึ่งหลายครั้งราคาแพงจนหมดเนื้อหมดตัว

หัวใจของการเรียนรู้ของเปาโล แฟรร์ อยู่ที่การเรียนจากชีวิตจริง การเรียนที่ไม่แยกจากชีวิต การเรียนที่เป็นการปฏิบัติ (praxis) ที่นำเรื่องจริงข้อเท็จจริงมาวิพากษ์ (critical) ทำการใคร่ครวญไตร่ตรอง (reflection) แล้วตามด้วยการปฏิบัติ (action) ทำหมุนเวียนเช่นนี้เรื่อยไปให้เกิดปัญญา

กรุงเทพฯ ต้องการแพลตฟอร์ม หรือ “ชานชาลาสถานี” การเรียนรู้  ไม่น้อยไปกว่า “ชานชาลา” รถไฟฟ้า “การศึกษาแพง แต่ความไม่รู้แพงกว่า” ปราชญ์บอก การลงทุนเรื่องการศึกษา เพื่อความเป็นไทคุ้มค่ามากกว่าการลงทุนใดๆ อย่าให้โลกเขาสบประมาทกรุงเทพฯ ว่าสร้างแพลตฟอร์มรถไฟฟ้าได้แต่สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ไม่ได้  ทุ่มทุนเป็นแสนๆ ล้านสร้างรถไฟฟ้า แต่มีงบนิดเดียวเพื่อ “สร้างคน”

ถ้ากรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ผู้คนจะอยู่ร่วมกันอย่างไม่แบ่งแยก ไม่มีชนชั้น ยอมรับให้เกียรติกัน (tolerant) มีภราดรภาพและเอกภาพในความหลากหลาย จะผนึกพลังสร้างเมืองให้น่าอยู่

-- advertisement --