-- advertisement --

 เสวนา “TEP FORUM 2022 ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคตครู “นักวิชาการทีดีอาร์ไอ และนักการศึกษาภาคเอกชน ชงข้อเสนอ 5 โจทย์สำคัญ เพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย “คุณหญิงกัลยา” รับจะนำไปตกผลึกขับเคลื่อนต่อ

ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น  – มีการจัดงาน TEP FORUM 2022 ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต โดยได้มีการนำเสนอสรุปผลการระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญ เพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ต่อคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.)

โดยนายวิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน จังหวัดระยอง กล่าวว่า ในส่วนของความหวังการปฏิรูปการศึกษาจากพื้นที่นั้น ขณะนี้โรงเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศล้วนแต่พบเจอกับปัญหาตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ปัญหาระหว่างชายแดน เป็นต้น ซึ่งโรงเรียนแต่ละแห่งก็ไม่ได้มีความย่อท้อ แต่ช่วยเหลือกันในการจัดการศึกษาในตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ทั้งนี้กลุ่มโรงเรียนพลังบวกได้มีการระดมความคิด เพื่อที่จะเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดังนี้ ศธ.ควรเน้นให้สถานศึกษาเป็นหน่วยงานหลักอย่างเป็นรูปธรรม และมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมที่ชัดเจนและจริงจัง  ศธ.ควรจะเปิดโอกาสให้สถานศึกษาและจังหวัดมีอิสรภาพในการบริหารการศึกษาด้วยตนเองทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ บุคลากร และบริหารงานทั่วไป สร้างความร่วมมือกับชุมชน ภาคเอกชนตามความจำเป็นและสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน รวมถึงการให้อิสระสถานศึกษาในการบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน เน้นการบูรณาการองค์ความรู้ในท้องถิ่นเชื่อมโยงกับการเรียน และยังต้องสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาการจัดการศึกษาที่ตอบสนองการปฏิรูป การวัดผลประเมินผลก็ต้องสอดคล้อง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์สูงสุดต่อตัวนักเรียน และให้หน่วยงานต่างๆ มีบทบาทในเชิงบวกสนับสนุนสถานศึกษาให้เป็นหลักในการปฏิรูปการศึกษาด้วยตนเอง

ด้านนายทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า สำหรับเรื่องการพัฒนาครูนั้น การสร้างครูเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ควรจะมีการสร้างความร่วมมือมากขึ้นระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เช่น การฝึกสอน เป็นต้น และการคัดเลือกครูควรที่จะให้โรงเรียนมีโอกาสคัดเลือกมากขึ้น สำหรับการพัฒนาครู ควรที่จะลดภาระงานครู และพัฒนาครูตามความต้องการของโรงเรียน และวิทยฐานะทางสำนักงานเขตพื้นที่เข้ามาช่วยสนับสนุนมากขึ้นไม่ใช่เป็นการสั่งการจากบนลงล่างเหมือนที่ผ่านมา

ด้านนายวรุตม์ นิมิตยนต์ ผู้ก่อตั้งเพจ Deschooling Game กล่าวว่า สำหรับการเรียนรู้แบบใหม่ การเรียนรู้นอกระบบจำนวนมากเป็นพื้นที่ที่ออกแบบมาเพื่อทดแทนการเรียนรู้ทักษะที่การศึกษาในระบบไม่สามารถทำได้ ดังนั้นการที่จะทำให้การเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบสามารถสนับสนุนส่งเสริมกันได้ จะต้องมีการเปิดโอกาสให้มีการสร้างการรับรู้ หรือแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะหาจุดร่วมในการทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งอาจจะสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ และหากเป็นไปได้การเรียนรู้นอกระบบต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาพรัฐ หรือออกแบบการสนับสนุนร่วมกัน

ด้านนางนรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO starfish Education กล่าวว่า สำหรับเรื่องการจัดการศึกษาหลังโควิด-19 นั้น ควรจะต้องให้ความสำคัญกับช่วงการเรียนรู้ที่หายไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิชาการ ทักษะ การใช้ชีวิตในสังคม ฟื้นฟูการเรียนรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้ผู้ปกครองมีความเข้มแข็ง สร้างเครือข่ายการศึกษาการเรียนรู้ร่วมกันของทุกหน่วยงาน และปรับหลักสูตรเพื่อลดสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ เน้นการบูรณาการ การลงมือทำมากขึ้น

ด้านนางณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโส TDRIกล่าวว่า สำหรับเรื่องกฎหมาย นโยบายและแนวปฏิบัติในระบบการศึกษานั้น มีข้อเสนอว่าหากมีการกระจายอำนาจให้ทุกระดับสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจการจัดการศึกษาจะทำให้รูปแบบของโรงเรียนมีความเปลี่ยนแปลงไป และการออกแบบกติกาทางการศึกษาที่ต้องมุ่งเน้นไปในเรื่องการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและรับรองสิทธิสวัสดิภาพของครูมากขึ้น ศธ.ทำหน้าที่เพียงผู้สนับสนุน ควรจะอนุญาตให้มีการทดลองเชิงนโยบายเกิดขึ้น สร้างความไว้วางใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติกล้าปฏิบัติตามกฎและระเบียบใหม่ ควรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในพัฒนาระบบการเรียนการสอนแบบไฮบริด และการออกแบบกติกาที่ดีควรที่จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

ด้านคุณหญิงกัลยา กล่าวภายหลังการรับมอบข้อเสนอแนะว่า เราจะได้ยินและรับทราบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาตลอดเวลา และการรับฟังในครั้งนี้เรียกว่าครอบคลุมครบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ครู การจัดการศึกษา และกฎหมายการศึกษา ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น โดยตนจะรับไปทั้งหมดและจะนำไปศึกษา เพื่อไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้ตนไม่สามารถพูดได้ว่าจะทำเรื่องไหนอย่างไร เพราะจะต้องมีการนำไปตกผลึกอีกครั้ง แต่จะพยายามที่จะปฏิบัติให้ได้มากที่สุด และทุกเรื่องที่มีการพูดถึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และ ศธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจและจะไม่ใช้ระยะเวลาที่นานจนเกิดไป ทั้งนี้เมื่อเราสามารถนับหนึ่งด้ ก็จะมีการสานต่อเพื่อขับเคลื่อนต่อไป ในส่วนของตนเองก็จะอาศัยข้อเสนอเหล่านี้ในการขับเคลื่อนงาน


อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการหารือถึงปัญหาด้านการศึกษาอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะแก้ไขให้เกิดการปฏิรูปขึ้นอย่างแท้จริง หรือแม้ว่าจะมีที่ไหนสามารถปฏิรูปได้อย่างเห็นผล แต่ก็ยังคงไม่มีที่ใดที่สามารถทำได้อย่างเสร็จสิ้น จึงจะต้องมีการขับเคลื่อนไปกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ถึงแสงสว่างทางการศึกษาว่าสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ ภาคส่วนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตกผลึกแล้ว หากพบว่าเรื่องไหนที่เป็นปัญหาที่ได้รับการแก้ไขไปแล้ว หรือแก้ไขแล้วแต่ไม่ตรงจุดอย่างไรก็จะแจ้งให้ผู้เสนอรับทราบต่อไป

“ดิฉันได้ดำเนินงานของรมช.ศธ. ในเรื่องการวางรากฐานการศึกษา เพื่อเตรียมคนรองรับการปรับเปลี่ยนในยุคดิจิทัลผ่านระบบ Coding ทำให้เด็กมี 6 ทักษะสำคัญ คือ การอ่าน การเขียน การคิดแบบมีเหตุผล การคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงคำนวณ การแก้ไขปัญหาเป็นขั้นตอน เรียนรู้ผ่านการเรียน การเล่น การฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เด็กสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ด้วยตนเอง รองรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ”รมช.ศธ.กล่าว

เพิ่มเพื่อน

-- advertisement --