-- advertisement --

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย:



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ –  ข่าวเศร้ารับเปิดเทอมสะเทือนแวดวงการศึกษา กรณีการจบชีวิตของเด็กหญิงอายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.พัทลุง ตัดสินใจผูกคอเสียชีวิตภายในบ้านที่ อ.สะเดา จ.สงขลา โดยสาเหตุคาดว่าจากปัญหาความเครียดสะสมทางบ้าน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม และได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจจากการสื่อสารผิดพลาดของบุคลากรในระบบการศึกษา ทำให้เข้าใจผิดว่าถูกครูไล่ให้ออก

อย่างไรก็ตาม โศกนาฎกรรมครั้งนี้สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ เมื่อเด็กมีสภาพจิตใจเปราะบาง คำพูดเล็กๆ น้อยๆ ของผู้ใหญ่ ด้วยความไร้เดียงสาเป็นไปได้ว่าเกิดการตีความเจตนาผิด อาจเป็นตัวกระตุ้นสู่พฤติกรรมการฆ่าตัวตาย และปัญหาเรื่องสภาพจิตใจของเด็กเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องให้ความสำคัญ

และเป็นเรื่องที่ติดตามใกล้ชิดว่า การสูญเสียครั้งนี้จะสร้างบรรทัดฐานในการช่วยเหลือดูแลเด็กนักเรียนที่มีบอบซ้ำจากสภาพแวดล้อมทางสังคม และระบบการศึกษาของไทย ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยทำให้เด็กเผชิญกับความกดดันความตึงเครียด และอาจรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถรับมือได้ด้วยตัวเอง

 จิตใจเด็กบอบซ้ำ ผู้ใหญ่ต้องโอบอุ้ม 

สำหรับปัญหาในมุมของเด็กหญิงวัย 14 ที่จบชีวิตตัวเองนั้น เดิมเด็กอยู่กับครอบครัวใน จ.สงขลา หลังจากจบ ป.6 ได้เข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนชื่อดังของ จ.พัทลุง แต่ในระยะเวลา 2 ปี เด็กเผชิญปัญหาด้านครอบครัว พ่อแม่แยกทางกัน ผู้ปกครองติดการพนัน มีปัญหาเรื่องการเงินมาตลอด จนทางบ้านเริ่มเกิดปัญหาไม่มีเงินส่งเสียเลี้ยงดูบุตรสาว

ด้วยความที่เด็กใฝ่ดีอยากเรียนต่อ จึงขอทางครอบครัวออกมาเช่าบ้านและหารายได้เอง เพราะไม่อยากย้ายโรงเรียน แต่ทุกอย่างต้องได้รับการอนุญาติจากผู้ปกครอง และความที่เด็กอายุยังน้อยจึงถูกปฏิเสธไปขณะเดียวกัน เด็กหญิงเข้ารับคำปรึกษาจากครูที่ปรึกษาแต่ดูเหมือนจะตีความคำพูดครูในเชิงบั่นทอนจิตใจ พูดให้เด็กเข้าใจว่าการย้ายโรงเรียนเป็นทางออก

กระทั่งในเวลาต่อมาทราบว่าเด็กหญิงฆ่าตัวตาย หลังข่าวการเสียชีวิตแพร่สะพัดออกไปเกิดกระแสโจมตีพุ่งเป้าไปยังโรงเรียนต้นเรื่องอย่างหนัก

ในมุมของผู้ใหญ่กลายเป็นวาระร้อนต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าว โดย นางมาลี แก้วละเอียด ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีพัทลุง อธิบายว่า เรื่องที่เกิดเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างครูกับนักเรียน และประเด็นต่อมา ทางโรงเรียนอ้างว่า ได้เตรียมความพร้อมในการดูแลหลังจากที่ได้พูดคุยกับเด็ก แต่สุดท้ายเด็กคิดสั้นฆ่าตัวตายไปเสียก่อน และอ้างอีกว่าเพิ่งมาทราบเรื่องราวว่าเด็กหญิงไม่อยู่ในพื้นที่ จ.พัทลุง แต่อยู่กับแม่ ที่ จ.สงขลา และเพิ่งทราบว่าเด็กไม่สามารถมาเรียนในโรงเรียนเดิมได้ เนื่องจากไม่มีที่พักและไม่มีผู้ปกครองคอยดูแล

สำหรับ  ครูที่ปรึกษา ที่ตกเป็นจำเลยในกรณีการเสียชีวิตของเด็กนักเรียนหญิงเปิดใจว่าไม่ได้เป็นการพูดบั่นทอนเด็ก โดยแนะแนวทางเลือกให้เด็กไป 2 ทาง คือ 1. ให้เด็กกลับไปเรียนที่สถานศึกษาใกล้บ้าน ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และ 2. หากเรียนโรงเรียนเดิมที่ จ.พัทลุง จะต้องไปพักอาศัยที่ศูนย์บ้านพักเด็กและครอบครัว แต่ต้องให้ผู้เป็นแม่หรือผู้ปกครองมาเซ็นยินยอมในวันที่ 17 พ.ค. 2565 แต่ทราบว่าเด็กเสียชีวิตเสียแล้ว เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2565

ทั้งนี้ ทางโรงเรียนอ้างว่าคณะครูและโรงเรียนให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหามาโดยตลอด แต่โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใกล้ชิดและมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรมสุขภาพจิต มอบหมายให้ทีมสุขภาพจิต รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ประสานรพ.พัทลุง ติดต่อโรงเรียน เพื่อเข้าไปดูแลเด็กกลุ่มเพื่อนที่ใกล้ชิด รวมทั้งกลุ่มคุณครูที่มีพาดพิงถึง

สำหรับในรอบหลายปีที่ผ่านมา อัตราการฆ่าตัวตายเริ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ข้อมูลจากของกรมสุขภาพจิต สาเหตุการฆ่าตัวตายอันดับต้นๆ มาสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคทางด้านจิตเวชที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ

และน่าจับตาว่าเด็กนักเรียนนักศึกษาในระบบการศึกการศึกษาของประเทศไทย มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น  พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่ากรมสุขภาพจิตได้ประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 183,974 คน ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ตั้งแต่ 1 ม.ค.2563 – 30 ก.ย.2564 พบว่าวัยรุ่นมีความเครียดสูง 28% เสี่ยงซึมเศร้า 32% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 22% เราพบว่าเด็กวัยรุ่นมีความเครียดสูงขึ้น เข้าสังคมลดลง ติดจอและเกมออนไลน์มากขึ้น มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งและความรุนแรงในครอบครัว จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายในบางราย

ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตเด็กวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงไปมาก เด็กจำนวนหนึ่งอาจไม่สามารถปรับตัวกับการเรียนรูปแบบใหม่ เกิดผลกระทบต่อการเรียนและพัฒนาการหลายด้าน ทั้งผลกระทบต่อผู้ปกครองและครอบครัวทำให้การเลี้ยงดูทำได้ไม่เต็มศักยภาพ ปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวเปลี่ยนแปลงจากการเจ็บป่วย การเว้นระยะห่าง การงดกิจกรรมนอกบ้าน และการสวมหน้ากากอนามัย ทั้งนี้การขาดความรู้ความตระหนักในสุขภาพจิต ปัญหาการตีตรา และขาดแคลนทรัพยากรด้านสุขภาพจิต ทำให้หลายคนพลาดโอกาสได้รับการดูแล

และที่ต้องกลับมาทบทวนคือประเทศไทยมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ในหน่วยงานรัฐประมาณ 200 คน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรวัยรุ่น 15 ล้านคน

 เพิ่มจิตวิญญาณครู

เน้นงานจิตวิทยาแนะแนวเด็ก

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีเด็กนักเรียนหญิงฆ่าตัวตายที่ตกเป็นข่าวเสทือนวงการศึกษาในเวลานี้ นายอัมพร พินะสา  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดพัทลุง รายงานว่าเด็กมีปัญหา 2 ส่วน คือ “ปัญหาการเรียน” และ “ปัญหาครอบครัว” ซึ่งปัญหาครอบครัวมาจากผู้ปกครองอยากให้เด็กย้ายไปเรียนที่โรงเรียนใหม่ แต่เด็กอยากเรียนโรงเรียนเดิม ส่วนปัญหาการเรียนคือ เด็กไม่สามารถมาเรียนออนไซต์ได้เหมือนเพื่อน เพราะไม่สามารถหาที่พักได้ทัน โดยมองว่าปัญหาในกรณีนี้คือกโรงเรียนและผู้ปกครองพูดคุยกันน้อยเกินไป ถ้าพูดคุยกันมากกว่านี้ ใส่ใจมากกว่านี้ ปัญหานี้อาจจะยังไม่เกิด

และในประเด็นที่เกิดขึ้นนี้เอง   น.ส.ตรีนุช เทียนทอง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกมาสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคมว่า กระทรวงศึกษาฯ ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ผลักดันมาตลอด รวมทั้ง ตั้ง  ศูนย์สถานศึกษาปลอดภัย หรือ MOE SAFETY CENTER  โดยมีช่องทางให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง เข้ามาร้องทุกข์ ผ่านแอพพลิเคชั่น MOE SAFETY CENTER ร้องเรียนผ่าน www.MOESafetyCenter.com, LINE @MOESafetyCenter หรือโทร 0-2126-6565

และจากกรณีการเสียชีวิตของเด็กนักเรียนหญิง กระทรวงศึกษาฯ เน้นย้ำให้ทุกโรงเรียนเพิ่มเติมเรื่องงานแนะแนวเด็กมากขึ้น แม้โรงเรียนจะมีระบบแนะแนวอยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนให้โรงเรียนกลับมาดูระบบแนะแนวมากขึ้นเช่นเดียวกัน โรงเรียนจะต้องงานแนะแนวให้เข้มแข็งและเข้มข้น โดยต้องดูรายละเอียดปัญหาของเด็กให้มากขึ้น เพราะสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อน เด็กอาจจะมีปัญหาครอบครัว มีปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นครูควรทำงานใกล้ชิดกับนักเรียนมากขึ้น

อาทิ แนะแนวเรื่องอาชีพ แนะแนวเรื่องครอบครัว ฯลฯ ซึ่งขึ้นบริบทที่แตกต่างกันไป แต่ข้อสำคัญหากพบเด็กมีปัญหาครอบครัว ขอให้โรงเรียนสร้างความเข้าใจ ทำให้เด็กรู้สึกว่ามีคนที่จะช่วยเหลือสนับสนุนและคอยประคองจิตใจให้เข้มแข็งอยู่ในสังคมต่อไปได้ นอกจากนี้ โรงเรียนต้องดูแลสนับสนุนหาทุนการศึกษาให้เด็กเข้าถึง และได้รับการศึกษาทุกคน

สำหรับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนั้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีกำหนดให้สำนักเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในสังกัด จัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างครบวงจรได้มาตรฐาน โดยการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คือ การส่งเสริม พัฒนา การป้องกัน และแก้ไขปัญหา เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนา เต็มตามศักยภาพ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่เข็มแข็ง คุณภาพชีวิตที่ดี มีทักษะ การดำรงชีวิต และรอดพ้นจากวิกฤตทั้งปวง

กล่าวสำหรับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คือ กระบวนการดำเนินงานดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนชัดเจนพร้อมทั้งมีวิธีการและเครื่องมือที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และมีหลักฐานการทำงานที่ตรวจสอบได้ โดยมีครูที่ปรึกษาเป็นบุคลากรหลักในการดำเนินงาน โดยการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและนอกสถานศึกษา ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้บริหาร และครูทุกคน มีวิธีการและเครื่องมือที่ชัดเจน มีมาตรฐานคุณภาพ และมีหลักฐานการทำงานที่ตรวจสอบได้

พิจารณาตามหลักการของระบบศึกษาได้ระบุการช่วยเหลือเด็กไว้อย่างครอบคลุม ย้อนกลับมาที่บทบาทของโรงเรียนและครู สังคมกำลังเกิดคำถามว่าได้ทำเต็มที่แล้วหรือยัง

 ยิ่งปฏิรูปการศึกษา ยิ่งเละ!? 

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า ปัญหาระบบการศึกษาไทยของไทยครอบทับกันอยู่หลายเรื่อง ที่เห็นได้ชัดหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มขึ้น รวมทั้ง ขาดการปฏิสัมพันธ์เพราะเรียนผ่านระบบออนไลน์เป็นเวลานาน ทำให้นักเรียนขาดทักษะการเข้าสังคม ซึ่งอาจจะเป็นตัวกระตุ้นปัญหาสุขภาพจิต

ในเวทีเสวนา “ปลดล็อกกรุงเทพฯ เมืองหลวงแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำของกรุงเทพฯ หรือแม้แต่เมืองใหญ่เมืองอื่นในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาของเด็กและเยาวชนมีมานาน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจในภาวะวิกฤตผู้ปกครองต้องตกงานหรือโยกย้ายถิ่นฐานจากจังหวัดอื่นๆ เข้ามาอยู่เมืองใหญ่ หรือแม้แต่เมื่อเกิดวิกฤตแล้วพ่อกับแม่ต้องย้ายออกจากเมืองใหญ่กลับไปบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด ทำให้กระทบการเรียนของเด็ก และกระทบต่อการดำรงอยู่ของระบบการศึกษา ความต่อเนื่องและความแตกต่างระหว่างโรงเรียน โรงเรียนที่มีคุณภาพสูงในกรุงเทพฯ หรือโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากรที่อยู่ในชุมชนยากจน เพราะฉะนั้นทำให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษา เรื่องของทรัพยากรในโรงเรียนและคุณภาพของเด็กเรียกได้ว่ากรุงเทพฯ ก็ไม่ได้แพ้เมืองอื่น ๆ ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำเลย

จากข้อมูลกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่าจากสถานการณ์ของโควิดส่งผลต่อสวัสดิการของเด็กและผู้ปกครองค่อนข้างมาก มีเด็กนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษในช่วงโควิดเพิ่มขึ้นประมาณ 3 แสน คน และรายด้ายตัวครัวเรือนของเด็กลดลงจากประมาณ 1,200 บาท ต่อคน ต่อเดือน ลดลงเหลือประมาณ 1,000 บาท

นักวิชาการผู้คร่ำหวอดในแวดวงการศึกษา  ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าประเทศไทยถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลกในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ยิ่งมีสถานการณ์โควิด ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำหนักสุด

นอกจากนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ สะท้อนสถานการณ์ในระบบการศึกษาภายใต้การบริหารของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ปักหมุดปฏิรูปการศึกษาแม้ได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาไปบ้าง แต่ยังมีเรื่องที่ยังไม่ได้ดำเนินการอยู่จำนวนมากเช่นกัน ซึ่งภาพรวมการปฏิรูปการศึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างต่ำ

 “ไม่มีอะไรที่ดีขึ้น ไม่ปฏิรูปจริงจัง วนเวียนอยู่กับกรอบแนวคิดเดิม อีกทั้ง ระบบราชการโตขึ้น งบประมาณกว่า 80% ของ ศธ.นำไปใช้จ่ายในระบบราชการ เงินเดือน ค่าตอบแทน เงินวิทยฐานะ เพื่อให้ข้าราชการเจริญเติบโตขึ้นเท่านั้น ทำให้เห็นว่าการเมืองกำลังนำการศึกษา การปรับเปลี่ยนต่างๆ เพื่อหาเสียงของรัฐบาลเท่านั้น แต่เด็กที่เป็นกลุ่มที่ ศธ.ต้องดูแล กลับได้รับงบพัฒนาเพียง 20% เท่านั้น” 

การศึกษาไทยยังคงประสบปัญหาและย่ำแย่ลง โดยเฉพาะคุณภาพการศึกษา เกิดความถดถอยทางการศึกษา และการรวมศูนย์อำนาจ การตัดสินใจ ยังอยู่กับกระทรวงศึกษาณ ทำให้นโยบายเชิงปฏิรูปที่ออกมาก็แก้ปัญหาการศึกษาที่อยู่ในวัฏจักรการศึกษาเดิม

กล่าวสำหรับระบบการศึกษาในปัจจุบัน ยังเป็นระบบที่เน้นการเรียนการสอน เนื้อหาสาระ เน้นการเรียนจากหนังสือ เน้นท่องจำ เน้นการวัดผลที่คัดเด็กออกด้วยระบบผลักออก ไม่ว่าจะเป็นการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อ และการสอบเพื่อเลื่อนชั้น จะมีเด็กเพียง 20-30% เท่านั้น ที่ได้รับประโยชน์จากระบบการศึกษานี้ เด็กอีก 70-80% ถูกทำให้ออกจากระบบการศึกษา ซึ่งแต่ละปีจะมีเด็กประมาณ 60,000 -70,000 คน ที่ถูกทำให้หลุดจากระบบด้วยการสอบคัดเลือก

และในขณะนี้มีเด็กที่ถูกผลักออกจากระบบการศึกษาเกือบ 9 แสนคน ในจำนวนนี้กลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือต่อไป ซึ่งจะเห็นว่าระบบการศึกษาเอื้อให้เด็กที่เชื่อฟัง และปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ พยายามสอบแข่งขันเท่านั้น ใครที่คิดต่าง หรือมีปัญหา จะถูกคัดออก ถูกผลักออกจากระบบการศึกษา

ทว่า การปฏิรูปการศึกษาก็เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการ การตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อปฏิรูปการศึกษาอย่างน้อย 5 คณะ ออก พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ พ.ร.บ.นวัตกรรมการศึกษา ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ การปรับเปลี่ยนหลักสูตร เป็นต้น แต่หากให้ประเมินการปฏิรูปการศึกษาประเทศไทยยังถือว่าสอบตก เหมือนผู้ใหญ่ที่ไม่ฟังเสียงของเด็กที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษา คือรับปาก แต่ไม่ได้ปฏิรูปอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกมาประกาศชัดว่าปีการศึกษา 2565 ให้สถานศึกษาในสังกัด ศธ. โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการเรียนการสอนที่เน้นซ่อมสร้างเพื่อให้เกิดคุณภาพ ไม่ใช่จัดการเรียนการสอนเพื่อต่อยอดสู่ความเป็นเลิศ

 นายอรรถพล สังขวาสี  เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า สกศ. ได้สำรวจ วิจัย สังเคราะห์ ข้อมูลของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ พบว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผู้เรียนมีภาวะการเรียนรู้ถดถอย ซึ่งภาวะการเรียนรู้ถดถอยในแต่ละชั้นปีแตกต่างกัน และผู้เรียนในแต่ละพื้นที่ มีภาวะการเรียนรู้ถดถอยที่แตกต่างกัน ผลวิจัยยังพบว่าผู้เรียนในเมืองที่มีอุปกรณ์การเรียนครบ จะมีความรู้ถดถอยเล็กน้อย ขณะที่ผู้เรียนในต่างจังหวัด หรือชนบท ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ มีความรู้ถดถอยมากถึง 2 ปี

อย่างไรก็ตาม ภาวะการเรียนรู้ถดถอยควรชูเป็นวาระของประเทศ และกระทรวงศึกษาฯ ต้องไม่ดเพียงออกนโยบาย ต้องเน้นปฏิบัติให้เป็นที่ประจักษ์ในสังคม

ดังเช่นที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ตั้งข้อสังเกตุว่า ถ้า ศธ.ไม่วางแผนให้ดี นโยบายที่ออกมาจะกลายเป็นนโยบายลอยลม จะรู้ได้อย่างไรว่านโยบายที่ให้โรงเรียนกว่า 30,000 แห่ง นำไปปฏิบัตินั้น มีการขับเคลื่อน หรือทำให้เปลี่ยนแปลงจริง?


-- advertisement --