-- advertisement --

คณาจารย์ นักศึกษา คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และ ศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี บูรณาการศาสตร์ความรู้ คว้าถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี การประกวดแกะสลักผัก – ผลไม้ ผสานงานใบตอง ดอกไม้สด ครั้งที่ 21 ในหัวข้อ “เฉลิมพระเกียรติมหามงคล บรมราชาภิเษกเอกอัครรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” จัดโดยโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ผศ.เสริมศรี สงเนียม ผู้จัดทำโครงการฯ และผู้ควบคุมทีมจากสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์กล่าวว่า ได้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นปีที่ 2 โดยเมื่อปี 2560 ได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เช่นกัน แนวคิดปีนี้ออกแบบงานเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยผสมผสานงานแกะสลัก งานดอกไม้และงานใบตอง ให้ตรงกับหัวข้อประกวด เช่น แกะสลักฟักทองเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันหมายถึง สิ่งของเครื่องใช้ 5 องค์ที่เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นพระราชา การแกะสลักเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ แกะสลักพสกนิกรร่วมถวายพระพรชัยด้วยเผือก และแกะสลักดอกไม้จากผักผลไม้นานาพันธุ์

ทั้งนี้ ได้บูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างศาสตร์ ฝ่ายศิลปกรรมจัดทำโครงสร้างหลัก แกะสลักพระบรมฉายาลักษณ์ แกะสลักชสีห์ ราชสีห์ และแกะสลักตัวคนจากเผือกในอิริยาบถต่าง ๆ ส่วนนักศึกษาเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ทำหน้าที่แกะสลักรายละเอียด เช่น เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ แกะสลักดอกไม้ และประดิษฐ์งานดอกไม้ใบตองแบบไทยประเพณี ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อนำทั้งสองศาสตร์มาเกื้อกูลกัน ทำให้เกิดเป็นผลงานที่มีความประณีตงดงามทั้งด้านศาสตร์และศิลป์อย่างลงตัว

อ.ดิษฐวัฒน์  อินนุพัฒน์  ผู้จัดทำโครงการฯ และผู้ควบคุมทีมจากสาขาวิชาประติมากรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของทีมคือนำเสนอสัญลักษณ์ภายใต้หัวข้อ “เฉลิมพระเกียรติมหามงคลบรมราชาภิเษก เอกอัครรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ได้อย่างโดดเด่น ผ่านทักษะการแกะสลักที่ใช้ความประณีตผสมผสานกับการจัดแต่งดอกไม้สด และความสวยงามจากการผสานใบตอง มีทั้งยึดตามรูปแบบการแกะของรุ่นครูบาอาจารย์ และสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ทำให้เกิดรูปแบบที่หลากหลายวิจิตรงดงาม

 “ปลา” นายธีร์คณาธิป ไพทูรย์ สาขาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่า ปีนี้เป็นปีที่สองที่ได้เข้าร่วมแข่งขัน หน้าที่หลักคือดูแลงานดอกไม้ประดิษฐ์และงานใบตอง ซึ่งทุกชิ้นถูกบรรจงเรียงร้อยด้วยความวิจิตรงดงาม เพื่อสื่อถึงการเฉลิมพระเกียรติฯ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10 

“ณัฐ” นายภูวิพัฒน์ สุภาศรีคงพัฒน์ สาขาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่า จุดเด่นของงานคือการจัดวางโครงสร้างของชิ้นงานที่สามารถสื่อความหมายตรงกับโจทย์ที่ได้รับมาอย่างชัดเจน ซึ่งผู้ชมสามารถเข้าใจความหมายที่สื่อออกมาจากผลงาน ได้นำความรู้หลายแขนงมาปรับใช้ในการทำงาน ครั้งนี้ ถือเป็นการท้าทายอย่างมาก เพราะการที่รักษามาตรฐานเเชมป์แกะสลักรางวัลถ้วยพระราชทาน จากครั้งที่ผ่านมานั้นสร้างความกดดันให้กับทีมเป็นอย่างมาก

          “ปู” นายชลตกานต์ เณรเถาว์ นักศึกษาสาขาวิชาประติมากรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า ได้เข้าร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรก การทำงานย่อมมีอุปสรรคแต่ทุกคนช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ เพื่อให้ผลงานออกมาอย่างสมบูรณ์ที่สุด ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ที่ได้รับชม

          “ขวัญ” นางสาวขวัญฤดี ภูเต้านา นักศึกษาสาขาวิชาประติมากรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงาน หน้าที่หลักร่วมทำงานกับเพื่อน ๆ ในสาขาวิชาประติมากรรมอีกหลายคน คือการแกะโฟมรูปคน ในอาริยาบทต่างๆ เช่นกำลังถวายชัยพรแด่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นต้น 

ขณะที่ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ “บอย”นายพัฒนพงษ์ เกิดพุฒ ว่าดีใจและภูมิใจมาก ที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานในครั้งนี้ และภูมิใจอย่างยิ่งที่สามารถทำชื่อเสียงให้กับมหาลัยที่ตนเองรัก ซึ่งแต่ละชิ้นต้องแกะและตั้งใจทำออกมาให้ดีที่สุด ในการทำงานการวางแผนร่วมกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องทั้งสองคณะ เป็นหนึ่งเดียวทำให้เกิดเป็นผลงานชิ้นเอกที่สวยงามและประสบความสำเร็จในการแข่งขันครั้งนี้

-- advertisement --