-- advertisement --

คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ”

อีกหนึ่งพลังของคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่หยิบจับสิ่งแวดล้อมรอบกายมาขยายต่อยอด กลายเป็นสื่อสร้างสรรค์รูปแบบการออกกำลังกาย ที่สะท้อนอัตลักษณ์วิถีของชุมชน

ด้วย “ปฏิบัติการไข่เค็ม” ของนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่ได้ร่วมกันออกแบบสื่อสร้างสรรค์โดยนำท่าทางการประกอบอาชีพต่างๆ ของชาวใต้มาประยุกต์เป็นท่าออกกำลัง

ประกอบด้วย วิถีของชาวสวนมะพร้าว ชาวสวนปาล์ม ชาวสวนยางพารา และชาวประมง ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมสื่อสุขภาวะที่สร้างสรรค์ขึ้นจากวิถีชุมชน เป็นท่าออกกำลังกายชุด“พร้าว–ปาล์ม–ยาง–คลอง” ภายใต้การสนับสนุนของโครงการคิดดีไอดอล (Kiddee Idol) โดยศูนย์สื่อสารเด็กไทยฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

น.ส.สายธาร เดชดี หัวหน้าทีมไข่เค็มAcademyกล่าวว่า สื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของทีม เกิดขึ้นจากที่กลุ่มเยาวชนในทีมมองบริบทรอบตัว คือสังเกตเห็นว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายายของเรามีร่างกายที่แข็งแรงและอายุยืน และยังคงมีกิจวัตรประจำวันและทำงานอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นไปทำสวนมะพร้าว สวนปาล์ม ยางพารา รวมถึงบางครอบครัวก็ทำประมง จึงช่วยกันคิดรูปแบบการนำเสนอสื่อที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพวกเราเองขึ้นมา โดยการประยุกต์ท่าออกกำลังกายจากวิถีชุมชนซึ่งเป็นอาชีพต่างๆ ของชาวใต้ ประกอบด้วย พร้าว ปาล์ม ยาง และคลอง

“ท่าออกกำลังกายที่เราคิดขึ้น มีชื่อว่า พร้าว-ปาล์ม-ยาง-คลอง ซึ่งประกอบด้วยท่าออกกำลังกายต่างๆ เช่น ยาง มีท่ากรีด คือการกรีดยาง ท่าเก็บคือการก้มลงเก็บถ้วยใส่น้ำยาง และท่ากวาด คือการใช้มือข้างหนึ่งถืออุปกรณ์ที่ใช้กวาดน้ำยางลงถังเก็บ ซึ่งปฏิบัติการไข่เค็มได้จัดกิจกรรมขึ้นในโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา 2 โดยมีน้องๆ นักเรียนชั้นปีที่ 1 ร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน และยังสามารถติดตามการผลิตสื่อสร้างสรรค์ของทีมเราได้จากเฟซบุ๊คเพจชื่อ Kaikem Academy (ไข่เค็มอะคาเดมี)”

นายพรชัย จันทร์รงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา 2 กล่าวว่า นักเรียนในโรงเรียนนี้ส่วนหนึ่งก็ช่วยพ่อแม่ทำงานตั้งแต่เด็ก บางคนตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อช่วยพ่อแม่เก็บน้ำยาง ก่อนจะอาบน้ำแต่งตัวมาโรงเรียน ซึ่งจ.สุราษฎร์ธานี ส่วนใหญ่ก็ปลูกมะพร้าวและทำประมง ซึ่งสื่อรณรงค์การออกกำลังกายของทีมไข่เค็ม Academy ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่เป็นการประยุกต์ท่าทางจากอาชีพต่างๆ สามารถดึงดูดความสนใจนักเรียนและสร้างการมีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดี

รวมถึงทำให้เด็กและเยาวชนที่ในปัจจุบันใช้เวลาส่วนมากไปกับการเล่นมือถือ หรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานได้หันมาให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายและเห็นประโยชน์ของการช่วยพ่อแม่ทำงาน ซึ่งนับเป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของโครงการนี้

อาจารย์ ดร.ทัศนาวดี แก้วสนิท ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า การทำกิจกรรมของนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี หรือปฏิบัติการไข่เค็ม ในโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา 2 เป็นการบูรณาการองค์ความรู้เรื่องการสื่อสารวัฒนธรรมท้องถิ่นและการเสริมทักษะเชิงปฏิบัติการเรื่องการสื่อสารประเด็นสุขภาวะเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมสื่อสุขภาวะเพื่อสร้างสรรค์ชุมชน ซึ่งทำให้นักศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ผ่านสื่อดิจิทัลและสื่อกิจกรรม

อีกทั้งยังเป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่ไม่เพียงทำให้นักศึกษามีคุณลักษณะการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยี ยังยกระดับคุณภาพการศึกษาและการจัดการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 ที่สร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าควบคู่ไปกับการรับใช้ชุมชนท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยด้วย

-- advertisement --