-- advertisement --

กลายเป็นดราม่าระดับประเทศ หลังมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทางภาคใต้เชิญ รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์ประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มาสอนโดยระบบออนไลน์  ความเห็นแบ่งเป็นสองส่วน จากฝั่งหนึ่งวิจารณ์มองว่าไม่เหมาะสม รศ.ดร.ปวิน เป็นบุคคลที่ลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศไทย อีกฝั่งมองว่าเป็นเสรีภาพทางวิชาการ

ฝ่ายไม่เห็นด้วยอย่าง ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เชิงตำหนิ บอกว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ กรณีนี้เป็นเรื่องที่ไม่อยากเชื่อว่าจะเกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นแสดงว่าเป็นปัญหาของมหาวิทยาลัย โดยส่วนตัวมองว่าคนที่มีปัญหาอยู่แล้ว และถูกเชิญให้มาสอน แสดงว่าผู้เชิญเป็นคนมีปัญหา และหากมาสอนจริง มีการถ่ายทอดสิ่งที่เป็นปัญหาสารพัดให้กับเด็กโยงกันไปหมด ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะฉะนั้นคนที่เป็นผู้เชิญต้องมีปัญหา โดยจะสั่งการให้กระทรวงอว.ตรวจสอบเรื่องนี้เป็นกรณีเป็นพิเศษ”

ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ปัจจุบันเป็นบทบาทวิชาการในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง ม.รังสิต และโดยเฉพาะในฐานะ นักศึกษาเก่า ม.สงขลานครินทร์ โพสต์ข้อความปกป้องการบรรยายดังกล่าว โดยมองว่าเป็นเสรีภาพวิชาการ และนักศึกษามีความสามารถวิจารณาญานในการแยกแยะได้

“1. ผมเชื่อในเสรีภาพทางวิชาการ 2. ผมเชื่อว่านักศึกษา ม.สงขลานครินทร์ฟังแล้วแยกแยะสิ่งถูกผิดได้ 3. ผมไม่คิดว่า อ.ที่เชิญ หรือ ม.ที่เชิญมีปัญหา 4. ผมคิดว่า พี่ดอน (พี่ รร.เก่าผม) มีปัญหา” นายสมชัย ระบุ

ร้อนจน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงเพิ่มเติม ว่า เป็นการประสานงานเชิญวิทยากรเป็นการส่วนตัวโดยอาจารย์ผู้สอนซึ่งค่อนข้างกระชั้นชิดและไม่ได้ผ่านช่องทางของคณะ โดยได้เชิญมาบรรยายพิเศษในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ US, China, ASEAN ในวิชาเรียน เป็นการบรรยายทางวิชาการตามความเชี่ยวชาญของผู้รับเชิญ ผู้เข้าฟังคือนักศึกษาในรายวิชาและนักศึกษาบางส่วนที่สนใจ จำนวนรวมประมาณ 28 คน เเละเป็นการบรรยายออนไลน์ระบบปิด ไม่มีการถ่ายทอดสู่สาธารณะ และไม่มีการพาดพิงสถาบันหรือปลุกระดมยุยงปลุกปั่น”

ด้าน รศ.ดร.ปวิน กล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงการบรรยายดังกล่าว  ระบุที่มาของการเชิญไปสอนว่า เป็นวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อยากให้เจาะลึกเป็นพิเศษเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีน กับสหรัฐอเมริกา แล้วก็ผลกระทบต่ออาเซียน เพราะโดยทั่วไปตนเองก็สอนวิชาเกี่ยวกับเรื่องอาเซียน คิดว่าสาเหตุที่อาจารย์ผู้สอน เชิญตนเองไปร่วมให้ความรู้ความเห็นในรายวิชาดังกล่าว เพราะอาจารย์คนดังกล่าวติดตามอ่านงานวิชาการที่ตนเองเพิ่งเขียนและตีพิมพ์เป็นหนังสือ ตนเองก็เพิ่งได้รับเชิญจาก California State University, Sacramento ให้ไปเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ ผู้สอนวิชานี้ก็ตามมาฟังที่ podcast ซึ่งมีเซกชัน ที่พูดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เค้ามองว่าสิ่งที่ตนเองพูดนั้นตรงกับสิ่งที่เขากำลังสอนพอดี ทั้งนี้ตนเองก็ไม่เคยรู้จักกับอาจารย์ผู้สอนคนดังกล่าว แต่มีการติดต่อมาหลังไมค์ และอยากให้พูดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอเมริกา ผลกระทบและความขัดแย้ง รวมถึงความสัมพันธ์กับอาเซียน

“ตอนแรกเห็นข้อความเชิญผมก็ยังไม่ได้ตอบหรอก คือมันก็มีมหาลัยอื่นเชิญผมเยอะ ผมไม่ได้ตอบทุกมหาลัย แต่อันนี้ผมอยากตอบรับ เพราะว่าเขาไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ผมคิดว่าการได้ พูดเรื่องนี้กับนักศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดี และตัววิชาผมก็รู้สึกว่ามันไม่น่าหนักใจด้วย คือถ้าเชิญผมพูดเรื่องการเมืองไทย ผมก็อาจจะปฏิเสธด้วยซ้ำ แต่อันนี้มันเป็นอะไรที่ non-political ออกจะเป็นแนววิชาการมากๆ ก็เลยตอบตกลง”

รศ.ดร.ปวิน เล่าเพิ่มว่า ในรายละเอียด เราคุยกันเรื่องพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตั้งแต่ยุคสงครามโลก สงครามเย็น สหรัฐฯมีความสัมพันธ์ยังไงกับไทย แข่งขันยังไงกับจีน แล้วอาเซียนไปอยู่ตรงไหนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดังกล่าว ไม่มีการเมืองไทยเลย

การสอนดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 45 นาที หลังจากนั้น 20 นาที เป็นเรื่องถามตอบ โดยอาจารย์ผู้เชิญก็เป็นคนเปิดคำถามก่อน เป็นคำถามแบบวิชาการมากๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยอีก เช่นแล้วเราจะเอายังไงกับอาเซียนดี การวิเคราะห์หลักการอาเซียน ผลกระทบการสร้างชุมชนด้านการเมืองของอาเซียน โดยรวมพูดกันแต่เรื่องอาเซียน แต่เมื่อนักศึกษาถาม เขาก็ถามเรื่องเกี่ยวกับการชุมนุม แต่นักศึกษาเขาก็ถามโดยไม่ได้จงใจให้เป็นเรื่องการเมือง นักศึกษาเค้าถามในมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความเป็นไปได้ใน การยกระดับความร่วมมือ การสร้างเครือข่าย ในระดับอาเซียน ซึ่งอันที่จริงแล้วมันก็เป็นคำถามวิชาการ

ส่วนกรณีรูปถ่ายที่มีการแชร์ในโลกออนไลน์และเป็นปัญหาถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น รศ.ดร.ปวิณ ระบุว่า เกิดจากหลังจากจบบรรยาย อาจารย์และนักศึกษาก็ชวนถ่ายรูป ตอนแรกยังคิดว่าจะถ่ายได้อย่างไร เป็นการถ่ายผ่านฉาก ตามที่เห็นในรูป ที่จริงการรับเชิญแล้วบรรยายทางวิชาการแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยเพียงแค่มันไม่เป็นข่าวแล้วถูกโจมตีแบบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

เมื่อถามว่ามีการเรียนการสอนในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนกับนักศึกษาต่างชาติ รศ.ดร.ปวิน ระบุว่า เป็นเรื่องปกติมากเลย ยิ่งช่วงนับตั้งแต่วิกฤตโควิดต้นทำแบบนี้ตลอดเวลาเลย ยกตัวอย่างที่เพิ่งทำpodcast กับCalifornia State University, Sacramento และเร็วๆนี้ก็จะทำกับอีกมหาลัยหนึ่งในนิวยอร์ก ผมมีตลอดเวลาเพียงแต่ว่ามันไม่ใช่ทุกครั้งที่จะต้องออกมาประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะถ้าเป็นมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ก็ไม่รู้จะประชาสัมพันธ์ให้คนไทยฟังทำไม

เมื่อถามว่าหัวข้อที่พูด มีประเด็นการศึกษาที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองไทยหรือไม่ รศ.ดร.ปวิน ระบุว่า มีเป็นเรื่องปกติ เช่นวิชาที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองเอเชียตะวันออกเชียงใต้ หรือประเด็นเกี่ยวกับ การเมืองความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา หรือที่พูดให้กับมหาวิทยาลัยมิชิแกนล่าสุด ก็พูดเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเอเชียตะวันออกเสียงใต้

รศ.ดร.ปวิน ยืนยันว่า ความสนใจและความชำนาญทางวิชาการของตนไม่ใช่การพูดแต่ก็เรื่องการเมืองไทย

“ผมพูดประเด็นวิชาการเยอะแยะ (คลิก) แต่เขาเลือกที่จะไม่โฟกัส ไม่กี่เดือนมานี้ผมเพิ่งออกหนังสือ เรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านในพม่า เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ วิชาที่ตนเองสอนอยู่ที่เกี่ยวโตก็เป็นวิชาการเมืองการปกครองเอเชียตะวันออกเชียงใต้ ผมยังเป็นบรรณาธิการของ วารสาร Kyoto review of South east Asia ด้วย”

-- advertisement --