-- advertisement --

เขียนวันที่

วันศุกร์ ที่ 16 กันยายน 2565 เวลา 17:42 น.

Trabggg

ป.ป.ช.ตรัง-ชมรมตรังต้านโกง ลงพื้นที่ตรวจอาหารกลางวันเด็กโรงเรียนดัง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง หลังผู้ปกครองร้องเรียนเสิร์ฟอาหารกลางวันไม่ครบ เบื้องต้นพบอาหารน้อย วัตถุดิบด้อยคุณภาพ ไม่มีไข่ต้มตรงตามในเมนูรายวัน ส่วนครูได้อาหารครบชุดอ้าง เพราะจ่ายเงิน ขณะการตรวจสอบการบริหารงบ พบมีหักค่าหัวเด็กมาใช้จ้างแม่ครัวด้วย ด้าน ผอ.ป.ป.ช.แจงยังมีอีกหลายแห่งเจอปัญหา


สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวว่าเมื่อวันที่ 16 ก.ย.นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำ จ.ตรัง มอบหมายให้ นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ พร้อมด้วย ชมรมตรังต้านโกง ลงสุ่มตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนวัดศรีรัตนาราม ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ปกครอง เบื้องต้นพบว่าทางโรงเรียน ไม่ได้มีการเผยแพร่เมนูอาหารกลางวัน และทางแม่ครัวแจ้งว่ามีไข่ต้มให้กับเด็กนักเรียนด้วย แต่จากการสอบถามนักเรียนบอกว่าวันนี้ไม่มีไข่ต้ม ปรากฏว่าเมนูที่แจ้งเอาไว้ มีบางเมนูที่หายไปจากเมนูอาหารที่วางแผนไว้ และทางโรงเรียนเลือกใช้วิธีการซื้อวัตถุดิบมาเองและจ้างคนปรุงอาหาร

โดยเมื่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้ลงพื้นที่ ก็พบว่าเมนูอาหารที่โรงเรียนได้ทำให้กับนักเรียนนั้นมีข้าวสวย ต้มไก่ใส่ผักกาดดอง ผัดเผ็ดถั่วฝักยาวลูกชิ้นและหมู ไข่ต้มครึ่งใบ ผลไม้เป็นแตงโมหั่นชิ้น (ดูภาพประกอบ)

Fooddddd

ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่าเมนูไข่ต้มไม่มี แต่ทางแม่ครัวยืนยันมาว่ามี เปลือกไข่ได้เอาไปทิ้งแล้ว แต่เมื่อไปสอบถามเด็กนักเรียนเด็กยืนยันว่าไม่มี จนแม่ครัวยอมรับว่าทำไม่ทัน จึงต้องยกเลิกเมนูไข่ต้มออกไป ส่วนอาหารกลางวันของคณะครูพบว่า เป็นเมนูเดียวกับเด็กนักเรียน แต่มีเมนูเพิ่มขึ้นมาคือ ปลาทูทอด น้ำพริก ผักเหนาะ จัดไว้เป็นสำรับ ได้รับการชี้แจงว่า ทางคณะครูและบุคลากรโรงเรียน ได้จ่ายค่าอาหารกลางวันคนละ 400 บาท ต่อเดือน ส่วนทาง ผอ. จ่าย 500 บาท ต่อเดือนสำหรับค่าอาหารกลางวัน

นายธีรยุทธ ปานสังข์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ชี้แจงว่า การที่ ป.ป.ช.ลงพื้นที่ตรวจโครงการอาหารกลางวัน ทางโรงเรียนได้รับข้อแนะนำในเรื่องการประกอบอาหาร แนะนำให้ใช้วิธีรับเหมาเป็นการลดภาระคุณครู และให้ทางโรงเรียนตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบคุณภาพและปริมาณของอาหารว่าเหมาะสมหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสชาติอาหาร และองค์ประกอบและจากกรณีที่จะมีการเพิ่มค่าหัวอาหารกลางวันเด็กจาก 21 บาท เป็น 28 บาทนั้น ตนมองว่าเป็นผลดีมาก ๆ การเพิ่มงบอาหารอย่างน้อยในปัจจุบันวัตถุดิบค่อนข้างจะแพง ปริมาณอาหารเกี่ยวกับเนื้อหมู เนื้อไก่ จะมีราคาสูงถ้ามีการเพิ่มรายหัวให้เป็น 28 บาทก็ถือว่าเด็กได้ทานอาหารได้เต็มที่มากขึ้น ได้กินอิ่ม มีความสุขมากขึ้นกับการทานอาหาร การบริหารจัดการก็จะดีขึ้น

นายยุทธนา เจ้าพนักงาน ป.ป.ช.ชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า ตามหนังสือสั่งการและตามระเบียบในทางปฏิบัติก็ประกฎว่า เรื่องแบบนี้ต้องให้มีการมามีส่วนร่วมในการตรวจรับวัตถุดิบให้ครบตามจำนวนหรืออย่างไร ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการ ส่วนเมนูที่เห็นก็มีหมูชิ้นสองชิ้น และเป็นมันหมูด้วยไม่ใช่หมูเชิงคุณภาพ ก็เห็นว่าเมนูอาหารมีปัญหาในเรื่องคุณภาพและปริมาณที่เด็กได้รับประทานด้วย ก็ได้กำชับให้ทางโรงเรียนได้ปรึกษาหารือกันว่าถ้าจะใช้รูปแบบ แบบจ้างเหมาไปเลย จะเป็นการลดภาระให้คุณครูดีกว่าหรือไม่อย่างไร เพราะวันนี้ครูก็ต้องไปซื้อวัตถุดิบอีก บางครั้งก็มีภารกิจอื่นที่ไม่สามารถไปซื้อได้ วันนี้ไม่มีใครมาตรวจรับได้ จึงเป็นปัญหาเหมือนเช่นวันนี้

นายยุทธนา กล่าวว่า ในส่วนเรื่องร้องเรียนปัญหาอาหารกลางวันโรงเรียนยังมีหลายแห่งที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาให้ข้อมูล ให้เบาะแสกับทาง ป.ป.ช. ว่าโครงการดังกล่าว ขาดความโปร่งใสและขาดความมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและอยากให้ทาง ป.ป.ช.ลงตรวจสอบเยอะ ๆ ซึ่งทาง ป.ป.ช.เองจะพยายามไปลงตรวจสอบทุกที่ ที่ให้ข้อมูลมา แต่ด้วยข้อจำกัดของบุคลากรก็ดี และอาจจะไม่สามารถลงพื้นที่ตรวจสอบได้ทุกที่ ทั้งนี้ขนาดของโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็กมีความแตกต่างกัน ตรงที่โรงเรียนขนาดเล็กไม่สามารถมีงบประมาณที่เข้ามาบริหารเพียงพอ เช่น 50 คน มีงบ 1,000 กว่าบาท มันก็เป็นการยากในการดำเนินการซื้อจ้าง หรือจ้างเหมาบริการได้ บางโรงเรียนก็ต้องใช้วิธีการปลูกผัก เลี้ยงไก่ เอามาเสริม ก็เป็นการดี แต่โรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ยังมีงบปริมาณเพียงพอก็น่าจะใช้วิธีการให้มันถูกต้องและเป็นไปตามคุณภาพได้

สำหรับโรงเรียนวัดศรีรัตนาราม สังกัดสำนักงานศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตรัง เขต 2 มีนักเรียนทั้งหมด จำนวน 160 คน ได้รับค่าหัวอาหารกลางวัน หัวละ 21 บาท รวมรายได้ต่อวัน 1,600 บาท โดยจ้างแม่ครัวจำนวน 1 คน โดยจากการตรวจสอบพบว่าทางโรงเรียนไม่เข้าใจในระบบการดำเนินงาน ได้มีการนำเงินค่าหัวของเด็กมาจัดสรรเงินมาเป็นค่าจ้างแม่ครัวอีกด้วย โดยทางโรงเรียนเลือกแบบการซื้ออาหารสด อาหารแห้งมาประกอบเอง โดยให้ครูเวรมาช่วยบริการตักอาหารให้เด็ก

-- advertisement --