-- advertisement --

การรับฟังเพลง การเปิดเพลง การขับร้องเพลงของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตในปัจจุบัน อาจเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ ต่างจากอดีตที่ผู้คนนำมาใช้ได้ง่าย เช่น การเปิดเพลงตามเทศกาล หรือการขับร้องเพลงในโอกาสต่างๆ แต่เมื่อเจ้าของค่ายเพลงนำบทเพลงและเสียงดนตรีมาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ประกอบกับสังคมโลกมีการนำกฎหมายลิขสิทธิ์มาบังคับใช้ประเทศไทยจึงต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายให้เป็นไปตามสากล   

งานดนตรีกรรม เช่น คำร้อง ทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสาน รวมถึงโน้ตเพลงที่แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว ถือได้ว่าเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ประเภทหนึ่ง

ในอดีตในยุคที่ค่ายเพลงระดับแนวหน้ามีความเฟื่องฟู ศิลปินนักร้องในสังกัด สามารถสร้างรายได้ให้กับค่ายเพลงนับพันล้านบาทต่อปี จากการออกอัลบั้มเทปคาสเซ็ท ที่ต่อมาเป็นแผ่นซีดี การจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ต ตัวศิลปิน นักร้องต่างมีรายได้ที่สูงมากเช่นกัน

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน พฤติกรรมผู้ฟังได้เปลี่ยนตาม รายได้จากการขายอัลบั้มเพลงซึ่งเป็นรายได้หลักได้ลดลง แฟนเพลงสามารถฟังเพลงจากสื่อออนไลน์ต่างๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน บรรดาค่ายเพลงจึงหันมาเคร่งครัดกับการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์มากขึ้น

เห็นได้จากเหล่านักดนตรี นักร้อง ที่หาเลี้ยงชีพด้วยการร้องและเล่นเพลงที่มีลิขสิทธิ์ของค่ายเพลง ตามร้านอาหาร บาร์ ไนท์คลับ จากเดิมที่ไม่เคยถูกเรียกเก็บลิขสิทธิ์ ปัจจุบันกลับต้องเสียค่าลิขสิทธิ์

ค่ายเพลงที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิที่เก็บค่าลิขสิทธิ์ได้ เพราะตามกฎหมายลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชน หากกระทำโดยไม่รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์  

เคยมีคดีที่ร้านกาแฟเปิดเพลงที่มีลิขสิทธิ์จากยูทูบ (Youtube) ให้ลูกค้าในร้านฟังโดยไม่ได้เก็บเงินค่าอาหารเพิ่ม หรือร้านคอมพิวเตอร์เปิดเพลงที่มีลิขสิทธิ์ในแผ่นซีดีให้ลูกค้าฟัง โดยไม่ได้เรียกเก็บเงินเพิ่ม แต่กลับโดนค่ายเพลงเจ้าของลิขสิทธิ์ดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะถือว่าเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชน คือ ประชาชนทั่วไป แม้ว่าจะไม่ได้เรียกเก็บเงินจากการฟังเพลง

สำหรับเพลงใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย บางครั้งค่ายเพลงมีการนำเสนอแบบยัดเยียดให้คนทั่วไปได้รู้จัก เช่น ขอให้ทางร้านช่วยเปิด ต่อมาเมื่อได้รับความนิยม กลับจะตักตวงเก็บผลประโยชน์โดยไม่ยกเว้นถึงขนาดจะดำเนินคดีกับผู้ที่เปิดเพลงที่ซื้อแผ่นซีดีซึ่งมีลิขสิทธิ์ถูกต้องให้แก่ลูกค้าในร้าน โดยไม่ได้เก็บค่าบริการเพิ่ม ซึ่งดูจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ที่เคร่งครัดเกินไป โดยไม่คำนึงตอนนำเสนอผลงานครั้งแรกๆ ที่ต้องอาศัยประชาชนทั่วไปที่จะกลายเป็นฐานลูกค้าในอนาคต เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจล้วนๆ โดยแท้

ผู้ประกอบธุรกิจส่วนมากอาจมุ่งผลประโยชน์เป็นสำคัญ เจ้าของลิขสิทธิ์บางรายให้ความสำคัญต่อการเรียกเก็บเงินค่าลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรม จนไม่ทราบว่าความพอดีควรจะอยู่ที่ตรงไหน

กรณีของแดนอาทิตย์อุทัยหรือประเทศญี่ปุ่น ได้เกิดปัญหาขึ้นสู่ศาลสูงทรัพย์สินทางปัญญาของญี่ปุ่น (Intellectual Property High Court) กรณีการที่นักเรียนเล่นดนตรีให้ครูฟังในโรงเรียน ถือเป็นการเล่นดนตรีต่อสาธารณชนหรือไม่?

ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศญี่ปุ่น สิทธิในการแสดงบนเวทีและสิทธิในการแสดงดนตรี ผู้สร้างสรรค์ผลงานมีสิทธิ แต่เพียงผู้เดียวในการจัดแสดงบนเวทีหรือการแสดงดนตรีของงานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นหรือได้ยินงานสร้างสรรค์นั้น

คดีนี้สืบเนื่องมาจากสมาคมเพื่อสิทธิของนักแต่งเพลงและผู้เผยแพร่ของญี่ปุ่น หรือ JASRAC -The JapaneseSociety for Rights of Authors, Composers and Publishers ซึ่งเป็นสมาคมที่รวบรวมผลงานเพลงลิขสิทธิ์ของประเทศญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้โรงเรียนสอนดนตรีของญี่ปุ่นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมลิขสิทธิ์เพลง เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการโรงเรียนสอนดนตรีหลายแห่งในประเทศญี่ปุ่น ทนไม่ไหวจึงรวมตัวกันยื่นฟ้องร้องการกระทำของ JASRAC ต่อศาลทันที

JASRAC ก่อในปีพ.ศ.2482 มีหน้าที่บริหารจัดการเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ การขึ้นทะเบียนผู้ประพันธ์เพลง การเรียกเก็บเงินค่าลิขสิทธิ์ รวมถึงการสอดส่องดูแลว่ามีใครนำผลงานที่ขึ้นทะเบียนไปใช้ ใครต้องการนำเพลงที่ขึ้นทะเบียนกับ JASRAC ไปใช้จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงให้กับ JASRAC JASRAC มองว่า การสอนของโรงเรียนดนตรีต่างๆ ถือเป็นการนำเพลงไปบรรเลงแบบเป็นสาธารณะ โรงเรียนสอนดนตรีไม่ถือเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่จะได้รับการยกเว้นตามกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ทางโรงเรียนสอนดนตรีมองว่าการเล่นดนตรีในโรงเรียนสอนดนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา จึงไม่ถือว่าเป็นการเสนอหรือทำให้งานปรากฏต่อสาธารณชน

เรื่องนี้ได้ต่อสู้มาจนศาลสูงทรัพย์สินทางปัญญาของญี่ปุ่น ที่ตัดสินว่า บรรดานักเรียนในโรงเรียนสอนดนตรี ไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องเสียเงินค่าลิขสิทธิ์เพลงในกรณีที่เล่นตามบทเรียนในโรงเรียนสอนดนตรี เพราะนักเรียนเล่นดนตรี เพื่อพัฒนาทักษะการเล่นดนตรีให้ครูสอนดนตรีได้ชี้แนะ ต่างจากกรณีครูสอนดนตรีและโรงเรียนสอนดนตรี ครูสอนดนตรีเล่นเพลง ให้นักเรียนในห้องฟังภายใต้การควบคุมของโรงเรียนสอนดนตรี นักเรียนในโรงเรียนสอนดนตรีจึงถือเป็นสาธารณชน จึงต้องชำระค่าลิขสิทธิ์ให้แก่ JASRAC

หากประเทศไทย เมื่อโรงเรียนสอนดนตรีถูกเก็บค่าลิขสิทธิ์ โรงเรียนสอนดนตรีจะเก็บจากพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กอีกทอดหนึ่ง ถือเป็นการเพิ่มภาระ แม้เป็นการเรียนการสอนดนตรีที่เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ แต่ควรจะอะลุ้มอล่วย ถ้าโรงเรียนสอนดนตรีเก็บค่าเรียนพอสมควร เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ควรเก็บค่าลิขสิทธิ์ เพราะถือว่าเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ให้แก่วงการดนตรี เปรียบเสมือนใบไม้ผลัดใบ แต่ในกรณีที่โรงเรียนสอนดนตรีเก็บค่าเรียนแพงเกินไปจนเป็นเรื่องธุรกิจมาก เป็นเหตุสมควรที่จะเก็บค่าลิขสิทธิ์จากโรงเรียนสอนดนตรี

ทางเลือก คือ โรงเรียนสอนดนตรีอาจต้องเลือกเพลงที่เจ้าของลิขสิทธิ์และค่ายเพลงใจดี อยากเผยแพร่งานโดยไม่เก็บค่าลิขสิทธิ์ เมื่อนำมาสอนนักเรียน

-- advertisement --