-- advertisement --



ศูนย์ข่าวขอนแก่น- KKU Smart Learning ประสบผลสำเร็จเกินคาด ชูโครงการนำร่องที่โรงเรียนอุบลรัตน์พิทยาคมเป็นโมเด็ล เพิ่มสมรรถนะครูต้นแบบเพื่อพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศ ด้าน “อัครวัฒน์” ปธ.กมธ.วิทยาศาสตร์ฯ รับเป็นโครงการดี ทุกมหาวิทยาลัยควรสร้างความร่วมมือจัดทำเป็นหลักสูตรทุกวิชา

แนะรัฐต้องต่อยอดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงเรียนอุบลรัตน์พิทยาคม อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำคณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงาน ตามโครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม หรือ KKU Smart Learning ซึ่งโรงเรียนอุบลรัตน์พิทยาคม จ.ขอนแก่น เป็นโรงเรียนต้นแบบการดำเนินงานดังกล่าวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มี ศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข ประธานโครงการ KKU Smart Learnning, ดร.อาทิตย์ ธำรงชัยชนะ รอง ผอ.สพม.25 (ขอนแก่น) และนางเพ็ญประภา ซุยกระเดื่อง รองผู้อำนวยการโรงเรียนอุบลรัตน์พิทยาคม ร่วมให้ข้อมูล ท่ามกลางความสนใจจากบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ภาคอีสาน ร่วมชมนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าวเป็นจำวนมาก

คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน ตามโครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม หรือ  KKU Smart Learning ที่โรงเรียนอุบลรัตน์พิทยาคม อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร

ศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข ประธานโครงการ KKU Smart Learnning เปิดเผยว่าโครงการพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม KKU Smart Learningหรือ KKU Smart Learning Academy เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจของนักเรียนในสาระวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ และส่งเสริมทักษะนวัตกรรมพัฒนาการเรียนรู้ ทักษะด้านสื่อ สารสนเทศและเทคโนโลยี และทักษะด้านชีวิตและอาชีพ เป้าหมายสำคัญคือ พัฒนาการสอบของเด็กนักเรียนในการวัด PISA ครั้งต่อไปต้องดีขึ้น, ผลสอบคะแนน O-Net ของนักเรียนต้องดีขึ้นและสมรรถนะการเรียนรู้ของนักเรียนต้องดีขึ้นด้วย

บุคคลที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนตอบโจทย์โครงการได้ คือครูในโรงเรียน ดังนั้นโครงการฯตลอดการทำงานมากว่า 3 ปี คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในโครงการฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อช่วยกันพัฒนาเพิ่มศักยภาพการจัดการเรียนการสอนของครูของกระทรวงศึกษาธิการ โดยส่งเสริมความรู้ความสามารถด้านการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ พัฒนาความรู้ความเข้าใจในเนื้อหารายวิชาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน

ปัจจุบันมีโรงเรียน 2 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มแรกโรงเรียนสังกัด สพฐ. ครอบคลุม 20 จังหวัด (สพม. 15 เขต) จำนวน 204 โรงเรียน มีจำนวนครูที่ 3 สาระวิชารวม 3,149 คน มีนักเรียนรวม 78,000 คน มีผู้บริหารโรงเรียนและเขต 612 คนและศึกษานิเทศก์ที่ทำงานร่วมกับโครงการฯ 47 คน ส่วนกลุ่มที่สองคือ โรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น (อบจ.ขอนแก่น) 1 จังหวัด จำนวน 16 โรงเรียน มีจำนวนครูที่ 3 สาระวิชารวม 53 คน มีนักเรียนรวม 555 คน

ดร.อาทิตย์ ธำรงชัยชนะ รอง ผอ.สพม.25 (ขอนแก่น)

ศ.ดร.กุลธิดา กล่าวอีกว่าหลักสำคัญของ KKU Smart Learning คือการนำไปสู่สมรรถนะที่คาดหวัง ผู้เรียนจะต้องได้รับความรู้ในเนื้อหาของหลักสูตรในระดับชั้นที่เรียน ได้รับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อและเทคโนโลยี และชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหา

ส่วนความสำเร็จของโครงการจะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่ที่ความร่วมมือของโรงเรียนและครู ในการนำนวัตกรรมไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนเปลี่ยนชั้นเรียน ปรับวิธีสอน สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน นี่คือแนวทางของ KKU Smart Learning

ด้านนายอัครวัฒน์ อัศวเหม ประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าโครงการ KKU Smart Learning เป็นโครงการที่ดีมาก ความเห็นส่วนตัว โครงการนี้มหาวิทยาลัยชั้นนำควรมาคิดร่วมกัน จัดทำหลักสูตรเป็นมาตรฐาน ขณะเดียวกันควรส่งเสริมให้เป็นนโยบายรัฐบาลที่จะจัดการเรียนการสอนในทุกโรงเรียน

จากการมข.ได้ริเริ่มทำโครงการนี้ ใน 205 โรงเรียนเขตภาคอีสาน สามารถช่วยได้เพียงระดับหนึ่ง โครงการนี้ควรมุ่งให้ความสำคัญกับโรงเรียนขยายโอกาส กลุ่มโรงเรียนชั้นประถมศึกษาเดิม ที่เด็กไม่สามารถมาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาได้ เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสสูงสุด รัฐบาลควรเข้ามาดูแลกลุ่มนี้

“งบประมาณที่ใช้ต่อนักเรียน 1 รายเฉลี่ยรายละ 4,000 บาทต่อปี ซึ่งถือว่าสูงมาก หากเป็นไปได้ควรให้เป็นนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จะทำให้งบประมาณเฉลี่ยลดลง ซึ่งอยากให้ต่อยอดโครงการ KKU Smart Learning ขยายครอบคลุมทั่วประเทศ มั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียนทุกคน”นายอัครวัฒน์ กล่าวและว่า



หากรัฐบาลทบทวนโครงการนี้ โดยสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำ ร่วมกันจัดทำหลักสูตรให้ครอบคลุมทุกวิชา ไม่เฉพาะวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เท่านั้น ใช้เป็นมาตรฐานรวมจัดการเรียนการสอนทั่วประเทศ มีมาตรฐานดีขึ้น

การขยายโครงการ KKU Smart Learning รัฐบาลควรให้ความสำคัญ ทำเป็นนโยบายด้านการศึกษา เพราะโครงการนี้ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง โดยงบต่อปีสูงถึงรายละ 4,000 บาท ไม่ใช่เป็นแผนของแต่ละกระทรวง ควรเป็นอำนาจตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี จึงจะทำให้โครงการนี้เดินหน้าไปได้

ด้านดร.อาทิตย์ ธำรงชัยชนะ รอง ผอ.สพม.25 (ขอนแก่น) กล่าวว่าโครงการ KKU Smart Learning ทาง สพม.25 ได้เข้าไปร่วมประมาณ 3 ปี มีโรงเรียนเข้าร่วมทั้งหมด 18 โรงเรียน ห้องเรียนรวมทั้งหมดประมาณ 150 ห้อง โดยพื้นที่จ.ขอนแก่นมีนักเรียนประมาณ 3 หมื่นคนเศษ บุคลากรประมาณ 3,000 คน ผลสัมฤทธิ์จากการร่วมโครงการ Smart Learning ทำให้มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านสมรรถนะด้านผู้เรียน มีการคิด วิเคราะห์ และเรื่องของ PISA ที่ดีขึ้น

ผลการดำเนินงานช่วง 2 ปีที่แล้ว ที่ให้เด็กมาร่วมโครงการ KKU Smart Learning ให้ความรู้ทักษะกับเด็ก มีการจัดแคมปิ้ง โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้สนับสนุนหนังสือ สื่อ ให้เด็กได้ทำชิ้นงาน ทำให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์ และทำผลงานด้วยความภาคภูมิใจ ฉะนั้นจึงกระตุ้นให้เด็กคิด วิเคราะห์ และมีพัฒนาทางด้านนี้สูงขึ้น



ที่สำคัญโครงการ KKU Smart Learning มีความเหมาะสมเข้ากับการจัดการเรียนการสอนในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพราะเป็นการจัดการเรียนการสอนทางไกล ใช้สื่ออินเตอร์เน็ต ผ่านการเรียนทางไกลตามโครงการนี้ เด็กนักเรียนจะใช้การสื่อสารผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ครูสามารถสั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ตอบโต้สื่อสารกัน

-- advertisement --