-- advertisement --

ข่าวดึก 7HD – ต้องบอกว่าน่าเป็นห่วงจริง ๆ สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในพื้นที่ต่างจังหวัด หลังจากช่วงปีใหม่เริ่มลุกลามขยายวงกว้าง และผู้ติดเชื้อก็พุ่งสูงขึ้นทุกวัน ที่น่าเป็นห่วงเห็นจะเป็นทางภาคอีสาน สาเหตุหลักเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ระบุว่า มาจากการรวมกลุ่มสังสรรค์ ทำให้เชื้อกระจายอย่างรวดเร็ว

เชื้อโอมิครอนลามแล้วหลายจังหวัด จ.กาฬสินธุ์

สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จากคลัสเตอร์สามี-ภรรยา เดินทางกลับจากประเทศเบลเยียม และร้านอาหารกึ่งผับในตลาดโรงสี เพิ่มอีก 11 คน ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สะสมในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ได้รับการยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แล้วรวม 195 คน

นายแพทย์อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ บอกว่า การแพร่ระบาดมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ขอให้ทุกคนอย่าประมาท ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด และพรุ่งนี้จะนำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน ไปตั้งจุดคัดกรองตรวจหาเชื้อรอบ 2 ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้ง 2 คลัสเตอร์ รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน ที่ผ่านการตรวจรอบแรกเมื่อช่วงสัปดาหที่ผ่านมา เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยไม่ติดเชื้อ

ที่จังหวัดชัยภูมิ วันนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เพิ่มอีก 21 คน ทำให้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคมเป็นต้นมา มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สะสมแล้ว 43 คน กระจายอยู่ในพื้นที่ 11 อำเภอ และมากสุดที่อำเภอภูเขียว 22 คน มาจากกลุ่มญาติจากประเทศอินเดีย ร่วมงานแต่งงาน ซึ่งหลังจากปีใหม่สถานการณ์ก็น่าเป็นห่วง เนื่องจากผู้ติดเชื้อพุ่งสูง เพราะประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา และจับกลุ่มพบปะสังสรรค์กัน จึงทำให้เชื้อกระจายอย่างรวดเร็ว

คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดชัยภูมิ เตรียมออกคำสั่งประกาศจังหวัด เพื่อไม่ให้เชื้อลามเข้าสู่สถานศึกษา โดยให้ปิดโรงเรียนทุกแห่ง แล้วเรียนแบบออนไลน์แทน ตั้งแต่วันที่ 4-10 มกราคมนี้ จากนั้นจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง หลังจากเมื่อวานตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งไปอยู่อันดับ 3 ของประเทศ จากการพบคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับ เชื้อแพร่กระจายขยายวงกว้าง 18 อำเภอ และพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน 12 คน สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี จึงกลับมาเปิดโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี วิทยาเขตบ้านยางน้อย อำเภอเขื่องใน ขนาด 600 เตียงอีกครั้ง เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงเป็นรายวัน

ขณะที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุบลราชธานี ให้โรงเรียนทุกระดับปิดเรียน แล้วกลับมาเรียนออนไลน์ถึงวันที่ 17 มกราคม นี้ ส่วนโรงภาพยนตร์ก็ให้ก็ปิดถึงวันที่ 17 มกราคมนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน

ขณะที่สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี ยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แล้ว 3 คน โดยพบแบบการสุ่มตรวจ โดยผู้ติดเชื้อ 2 คนแรกเข้ารับการรักษาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร อีก 1 คน รักษาอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี และจากการสอบสวนโรคเบื้องต้น พบว่าผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวอยู่ในจังหวัดจันทบุรี มีประวัติเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา

ส่วนผู้ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงสูง 37 ราย ได้ตรวจหาเชื้อแล้ว และผลเป็นลบหรือไม่ติดเชื้อ แต่ยังต้องกักตัวสังเกตอาการ เฝ้าระวังโรคตามมาตรการอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งขอให้คนที่เดินทางไปท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ ต้องตรวจเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ก่อนกลับมาทำงาน พร้อมทั้งขอให้บริษัทต่าง ๆ พิจารณา Work From Home รวมทั้งให้งดกิจกรรมรวมกลุ่มสังสรรค์ เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อ

ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เพิ่มอีก 229 คน กราฟพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนสะสมแล้ว 1,780 คน จังหวัดที่พบมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, ชลบุรี และภูเก็ต และตอนนี้ยังพบนักท่องเที่ยว และผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนอย่างต่อเนื่อง

สั่งปิดเรียนโรงเรียน กทม. หนีโอมิครอน

กิจกรรมต่าง ๆ ต้องเลื่อนออกไปกันก่อน จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 หลังปีใหม่ ล่าสุด โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ในกรุงเทพมหานคร คุมเข้มให้เรียนออนไลน์ 1 สัปดาห์ก่อน และจะมีการตรวจหาเชื้อตรวจ ATK นักเรียน ที่จะกลับมาเรียนที่โรงเรียนกัน

กระทรวงศึกษาธิการ ออกประกาศ มาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายหลังจากเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ 2565 ให้โรงเรียนทั่วประเทศ ประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงอย่างรอบด้านของนักเรียนหรือครู ในช่วงการเปิดเรียน ถ้ามีนักเรียนหรือครูที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ให้โรงเรียนปรับการเรียนการสอนเป็นระบบการศึกษาทางไกล On air, Online, On hand หรือ On demand

นอกจากนี้ ให้ใช้มาตรการตามแผนเผชิญเหตุ กรณีตรวจพบนักเรียน ครู หรือบุคลากรในสถานศึกษาติดเชื้อ โดยร่วมมือกับสถานพยาบาลเครือข่ายในพื้นที่ ดูแลอย่างใกล้ชิด

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุว่า การจัดการเรียนการสอน หลังจากหยุดยาวปีใหม่  สพฐ. ได้ออกหนังสือถึงผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียนทุกแห่ง เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนออนไซต์ 1 สัปดาห์ โดยให้ผู้อำนวยการ สพท. และผู้อำนวยการโรงเรียน วินิจฉัยร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาว่าหลังจากหยุดปีใหม่แล้ว ควรจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร เช่น ควรให้งดเรียนออนไซต์ 1 สัปดาห์  เช่น โรงเรียน สพฐ. ในกรุงเทพมหานคร ให้เรียนออนไลน์ทั้งหมด เพราะมีนักเรียนและผู้ปกครอง เดินทางกลับจากต่างจังหวัดจำนวนมาก เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เด็ก ๆ พอครบ 1 สัปดาห์ แล้วอาจจะตรวจหาเชื้อ เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนที่จะเปิดเรียนออนไซต์

เช่นเดียวกับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 109 แห่ง ก็ได้เลื่อนเปิดเรียนที่โรงเรียนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันนี้ 4 ถึง 16 มกราคมนี้ ให้ครูจัดการเรียนการสอนจากที่บ้าน หรือ Work From Home และให้เด็ก ๆ เรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านเพื่อความปลอดภัย เพราะเด็กเล็กอายุ 5-11 ขวบ ก็ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วย

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร กลับขึ้นมาอยู่อันดับ 1 มีผู้ติดเชื้อ กว่า 300 คน ขณะที่จังหวัดชลบุรี ผู้ติดเชื้อลดลงมาอยู่อันดับ 2 แต่สถานการณ์ ยังน่าเป็นห่วง ในพื้นที่ยังมีการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

โดยสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อ 2,927 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,738 คน จากต่างประเทศ 168 คน และในเรือนจำที่ต้องขัง 21 คนผู้ป่วยรักษาหาย อยู่ที่ 2,903 คน ยังรักษาอาการ 33,114 คน และเสียชีวิต 18 คน ในจำนวนนี้ 16 คน เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

เมื่อวานนี้ จังหวัดชลบุรี มีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แซงหน้ากรุงเทพมหานคร แต่ว่าวันนี้กรุงเทพมหานคร กลับมาขึ้นอันดับ 1 มีผู้ติดเชื้อ 358 คน, ชลบุรี 351 คน, อุบลราชธานี 206 คน, ขอนแก่น 143 คน ส่วนจังหวัดอื่นมีรายงานผู้ติดเชื้อ ต่ำกว่า 100 คน

ส่วนตัวเลขผู้ที่เดินทางเข้ามาในไทย จนถึง 2 มกราคม ล่าสุด มีผู้เดินทางเข้ามากว่า 360,000 คน และในวันนี้ตรวจพบผู้ติดเชื้อในระบบ Test and Go มากที่สุด 112 คน Sandbox 31 คน และ Quarantine 22 คน และตั้งแต่วันปีใหม่ 2565 ประเทศที่มีผู้เดินทางเข้ามา แล้วตรวจพบการติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ รัฐเซีย, สวีเดน, สหราชอาณาจักร, อเมริกา และเยอรมนี ซึ่งทั้งหมดได้เข้ารับการรักษาแล้ว

หลังเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่กันมาพอสมควรแล้ว หลังจากนี้ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ต้องเพิ่มความระมัดระวังโรคระบาด โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ขอความร่วมมือสถานประกอบการ 6 หมื่นแห่งทั่วประเทศ คัดกรองพนักงานอย่างเข้มข้น

กำชับโรงงาน 60,000 แห่ง คุมเข้มสกัดโควิด-19

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กำชับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมทุกแห่ง แจ้งขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้ปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา เดินทางท่องเที่ยว หรือ ไปยังพื้นที่ที่มีการรวมกลุ่มของคนเป็นจำนวนมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด

พร้อมส่งหนังสือด่วนที่สุด ไปถึงหน่วยงานในสังกัด และสถานประกอบการโรงงานในกำกับกว่า 60,000 โรง ขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยมาตรการ D-M-H-T-T  อย่างเคร่งครัด เมื่อพนักงานกลับมาปฏิบัติงาน ให้ทำการคัดกรองพนักงานทุกคนผ่านแอปพลิเคชัน Thai Save Thai รวมทั้งสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK และพิจารณาดำเนินมาตรการ Bubble and seal เพื่อให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีผลกระทบต่อภาคการผลิต

นายกฯ ขอทุกหน่วยงานตรวจ ATK ก่อนเข้าทำงาน

นายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐและเอกชน ที่เปิดทำงานในวันพรุ่งนี้ให้ตรวจ ATK ทุกคน ที่เข้ามาทำงานในสำนักงาน ขณะที่การประชุมสภาฯ แม้จะมีการงด แต่ก็เตรียมความพร้อมในการประชุมในสัปดาห์หน้า เพราะยังมั่นใจว่า สส. ทุกคนจะตระหนักรู้ ระมัดระวังตัว และป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ ก่อนที่จะเข้าร่วมประชุม

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอความร่วมมือให้สถานประกอบการทุกประเภท หน่วยงานภาครัฐ, เอกชน,โรงเรียน, ธนาคาร, สถาบันการเงิน และกิจการธุรกิจต่าง ๆ ที่จะเปิดให้บริการเป็นวันแรก ทำการตรวจ หรือ สุ่มตรวจด้วย ATK เมื่อกลับเข้ามาปฏิบัติงาน หากพบผลเป็นบวก ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ทันที พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม และประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดหลังเทศกาลปีใหม่อย่างใกล้ชิด เตรียมแผนรองรับล่วงหน้า เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที

ขณะที่สภาฯ หลังจากที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ มีคำสั่งงดการประชุมในวันที่ 5-6 มกราคม และสำนักงานเลขาธิการสภาฯ มีคำสั่งให้ข้าราชการของสำนักงาน ทำงานที่บ้าน 100% จนถึงวันที่ 9 มกราคม แต่มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมมาตรการเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่อย่างเข้มข้น เพื่อเปิดประชุมในสัปดาห์หน้า

อีกทั้งเชื่อว่า สส. ที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ จะตระหนักรู้ ระมัดระวังตัวและป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ รวมถึงตรวจหาเชื้อเบื้องต้นก่อนเข้ามาภายในสภา ขณะที่การฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็มที่ 4 นั้น ต้องรอฟังทางกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง ทั้งนี้ยืนยันว่าฝ่ายนิติบัญญัติไม่เคยหยุดทำงาน และจะดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

-- advertisement --