-- advertisement --

วันศุกร์ ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565, 06.00 น.

กทม.พัฒนาแผนดำเนินงาน อพ.สธ.ทำสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนแล้ว306 รร.

วันที่ 29 ก.ย. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2565 ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) ว่า โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุ์พืชเริ่มมาตั้งแต่ 2535 ปัจจุบันจะให้ครอบคลุมถึงทรัพยากรต่างๆ เรื่องวัฒนธรรม และการดำเนินการต่อยอดด้วย กรุงเทพมหานครมีคณะกรรมการฯขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะเรื่องของทรัพยากรและพันธุ์พืช เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจและเป็นสมบัติของเมืองที่สามารถต่อยอดและสร้างมูลค่าได้ ต้องพัฒนาแผนดำเนินงานตามแผนหลักที่ดำเนินการอยู่ทั่วประเทศ 

สำหรับการประชุมวันนี้เป็นการติดตามงานและกำหนดแผนดำเนินงานปี 2566 โดยคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีสนองพระราชดำริ โดย กรุงเทพมหานคร ขับเคลื่อนงานด้านต่างๆมีผลดำเนินงานโครงการฯ ดังนี้ สนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร ด้วยการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 306 แห่งจาก 437 โรงเรียน คิดเป็น 71% และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับข้าราชการครูกทม. เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้สนับสนุนการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น โดยแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานการจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น ประกอบด้วยคณะกรรมการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น อพ.สธ. – เขต และ คณะอนุกรรมการศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่น เขต 50 สำนักงานเขต 

นอกจากนี้ มีได้ดำเนินการสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร โดยสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขต ได้สำรวจพืช ทรัพยากรชีวภาพ และภูมิปัญญาควรค่าแก่การอนุรักษ์พันธุกรรมภายในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น เขตจตุจักร ต้นโพธิ์ทอง (ชุมชนพหลโยธิน 45) และ ต้นยางนา(ชุมชนโรงเจ : อายุ 100 ปี), เขตสาทรต้นกร่าง (ไทรกร่าง) ที่ชุมชนศรีสุริโยทัยด้านหลังโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัยซอยเจริญกรุง 57 อายุมากกว่า 200 ปีและ เขตบางกอกน้อย ต้นจันทน์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวงทรงปลูก ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ด้านภูมิปัญญาชุมชน เขตราชเทวี คือ ผ้าไหมบ้านครัว เป็นต้น

อีกทั้ง ได้ปลูกรักษาทรัพยากร โดยปลูกและดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ในสวนสาธารณะหลัก 39 แห่ง พื้นที่ 3,928 ไร่ 70 ตารางวา และต้นไม้อนุรักษ์หายากในพื้นที่สำนักงานเขต เช่น เขตบางกอกน้อยและเขตพระนครดูแลรักษาพืชอายุมาก ต้นเลียบต้นตะเคียนทอง ต้นโพธิ์ลังกาทางสั้นเป็นต้น, สำนักพัฒนาสังคมรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้หายากของไทย กล้วยไม้เศรษฐกิจของกทม. ต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กล้วยไม้พืชดั้งเดิม ไว้ที่โรงเรือนอนุบาลบริเวณดาดฟ้าอาคารสำนักพัฒนาสังคม รวมถึงมีการขยายพันธุ์พืชควรค่าแก่การอนุรักษ์เพื่อปลูกหรือแลกเปลี่ยน แจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไปด้วย

-- advertisement --