-- advertisement --



แม่ผู้ยอมแลกชีวิต ออกจากงาน เพื่อทุ่มเทฝึกฝนพัฒนาการลูก จากเด็ก “ดาวน์ซินโดรม” สู่ “ดาวเด่น” จนประสบความสำเร็จ เรียนจบปริญญาตรีเหมือนคนทั่วไป ทั้งยังมีความสามารถหลายด้าน เป็นนักกีฬาทีมชาติ ครูจิตอาสาช่วยเหลือสังคมอีกมากมาย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ลูก อยู่ร่วมกับสังคมได้

ยอมออกจากงาน เพื่อพัฒนาการของลูก

“อย่าอาย ถ้าลูกเป็นเด็กพิเศษ เขาเหมือนเมล็ดๆ หนึ่ง แม้มีตำหนิ ถ้าเราหมั่นรดน้ำพรวนดิน ก็งอกงามได้ดีพอสมควร”

นั่นคือ ความรู้สึกของคุณแม่ “โสภา สุจริตกุล” หลังรู้ว่า ลูกคนเล็กอย่าง “ลูกเสือ-ฉายวิชญ์ สุจริตกุล” เกิดมาพร้อมกับภาวะดาวน์ซินโดรม ทั้งที่ลูกชายคนแรกก็ปกติดี

เมื่อลูกชายคนเล็กลืมตาดูโลกได้ไม่กี่วัน ผู้เป็นแม่ก็ตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อทุ่มเทฝึกพัฒนาการลูกจากเด็กดาวน์สู่ดาวเด่นจนประสบความสำเร็จ เพราะไม่เพียงเป็นเด็กดาวน์ที่เรียนจบปริญญาตรี แต่ยังมีความสามารถหลายด้าน เป็นครูสอนเด็กๆ นักกีฬาทีมชาติ ทั้งยังมีจิตอาสาช่วยเหลือสังคมอีกด้วย

หลายคนอาจไม่รู้ว่าในแต่ละปี ประเทศไทยมีคุณแม่ให้กำเนิดลูกที่เป็นดาวน์ซินโดรมประมาณ 500 คน หรือเฉลี่ยเป็น 1-2 คนต่อวัน

เมื่อเด็กดาวน์มีภาวะบกพร่องทั้งการเรียนรู้ และสติปัญญา พ่อแม่บางคนอาจเลือกที่จะเก็บลูกไว้ ไม่พาออกไปไหน อาจจะเพราะอายหรืออะไรก็ตามที แต่ไม่ใช่กับคุณแม่ท่านนี้

[แม่ผู้ยอมแลกชีวิต ออกจากงาน เพื่อมาดูแลลูก]

“ต้องทำใจให้ได้ ยังไงเขาก็เป็นลูกเราแล้ว ก็คุยกับแฟนว่า แลกแล้วนะ เขาอายุแค่นี้จะจ้างคนมาดูแลไม่ได้แล้ว จะมาให้เขานอนติดเตียงไม่ได้นะ ไม่เคลื่อนไหวไม่ได้แล้ว

เราก็ไปพาลูกออกจากโรงพยาบาล แล้วก็ไปสถาบันราชานุกูลเลย อายุ 21 วันเอง เขาจะไปอาทิตย์ละครั้ง ไปกระตุ้นพัฒนาการ ฝึกเด็กดาวน์จะฝึกยากหน่อย คือ เขาจะอ่อนหมดเลย ลิ้นก็ยาว ดูดนมไม่ได้ ก็กระตุ้นเขามาเรื่อยๆ ต้องขอบคุณทางสถาบันราชานุกูลที่ให้เขามีทุกวันนี้

ตัวแม่เองคิดว่าคุ้มค่า แม่แลกชีวิตเขากับตัวแม่ ที่ตัวแม่ไม่ได้ทำงาน แม่ก็แลกมาแล้ว ทำให้เด็กดาวน์คนหนึ่งเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ เป็นคนที่มีงานทำเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม”

ไม่ใช่แค่เรื่องพัฒนาการที่ต้องฝึก แต่ยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพ มีต้อในตา จึงต้องผ่าตัด และยังมีภาวะหัวใจรั่วอีกด้วย โชคดีที่เป็นคนชอบออกกำลังกาย ทำให้มีความแข็งแรง และช่วยให้ภาวะหัวใจรั่วหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด

“เริ่มแรกเขาเกิดมาพร้อมกับโรคดาวน์ซินโดรม มีต้อในตาต้องไปผ่าตัด แล้วก็ผนังหัวใจรั่วทั้งข้างล่างกับข้างบนสองรู ใครที่มีลูกอยู่กลุ่มดาวน์แนะนำพยายามให้เขาออกกำลังกาย เพื่อเขาจะได้แข็งแรง ไม่ได้เฉพาะข้างนอก ข้างในเขาก็ได้ด้วย อย่างเสือไม่ต้องผ่าตัดหัวใจเลยนะคะ โชคดีมากคือมันหายไปเอง ปิดไปเอง”



ต้องยอมรับว่า เด็กพิเศษอาจจะใช้ชีวิตยากกว่าเด็กทั่วไปอยู่บ้าง เมื่อถึงวัยที่ควรได้เรียนอนุบาล กลับปรากฏว่า ไม่มีโรงเรียนไหนอยากรับ เพราะคิดว่าดาวน์ซินโดรมเป็นโรคติดต่อ แม้คุณแม่จะยืนยันว่าไม่ใช่โรคติดต่อ และถึงขั้นต้องกราบ เพื่อให้รับลูกเข้าเรียน แต่หลายแห่งก็ยังปฏิเสธ โชคดีมีโรงเรียนที่เข้าใจและรับเข้าเรียน

และยังสามารถเรียนจบปริญญาตรีได้สำเร็จ จากรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี คณะดุริยางคศาสตร์ สาขาสหการดนตรี อีกด้วย

“สมัยก่อนนึกถึงแล้วน้ำตาจะไหล เพราะว่าคนเขาไม่รู้ว่าลูกเราจะเป็นโรคติดต่อ แม่ต้องบอกว่าคนเป็นดาวน์ซินโดรมไม่ใช่โรคติดต่อนะ แทบจะไปกราบเขาให้เสือได้เข้าเรียนอนุบาล ทางราชานุกูลก็รับรองว่ายังไงเสือก็ไปเรียนกับเด็กปกติได้ ตอนนั้นไปฝึกจนถึง 3 ขวบ ก็มาเรียนกับโรงเรียนอนุบาลเปี่ยมปัญญาใกล้ๆ บ้าน ไปหลายที่มาก เขากลัวลูกเราไปแกล้งคนอื่น

พอมาเรียนที่โรงเรียนราชวินิตประถมบางแค โชคดีอีกที่คุณครูเข้าใจทุกคน ได้เพื่อนดีด้วย แม่จะคุยกับคุณครูตลอดว่าการเรียนการสอนขาดอะไรบอกนะ เราก็จะมาเสริม ถ้าเสริมโรงเรียนไม่ทัน แม่ก็จะมาสอนที่บ้าน ทุกที่แม่ก็จะเป็นอย่างนี้ ทำอย่างนี้มาจนถึง ปวช. แม่ถึงปล่อยให้เขาดำเนินชีวิตของเขาเอง ให้เขาไปโรงเรียนเอง กลับเอง”



ครูจิตอาสา สู่นักกีฬาทีมชาติ

เมื่อคุณแม่พยายามเสริมทุกอย่างให้ลูก ทำให้เขาไม่กลัวการเข้าสังคม ชอบไปโรงเรียนตั้งแต่ประถม จนกระทั่งเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทำให้มีโอกาสฉายแววตั้งแต่เด็ก ค้นพบในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ นั่นคือ ทางด้านการดนตรี แม่จึงให้เรียนเครื่องดนตรีที่ช่วยฝึกกล้ามเนื้อให้ลูกได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น เปียโน ระนาด

และไม่ใช่แค่เล่นดนตรีเท่านั้น คุณแม่ยังเล่าอีกว่า ลูกชายสุดที่รักยังชอบเต้นเป็นชีวิตจิตใจ หากใครที่เห็นลีลาการเต้นที่พลิ้วไหว กับวัย 32 ในวันนี้แทบไม่น่าเชื่อว่า เขาคือผู้ที่เติบโตมากับภาวะดาวน์ซินโดรม

ไม่เป็นเพียงเด็กดาวน์ซินโดรมที่สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติจนจบปริญญาตรีได้สำเร็จ แต่เขายังสามารถนำวิชาความรู้ด้านดนตรีมาประกอบอาชีพและมีรายได้

“พี่ชายของลูกเสือเขาเป็นนักดนตรี ทุกวันเสาร์เขาก็จะไปส่งพี่เขาเรียนดนตรีที่สยามกลการ มีอยู่วันหนึ่งก็ให้เขาไปสมัครเรียนเปียโน พี่เขาเรียนเครื่องอิเล็กโทนเขาก็ชอบ

ไปปรึกษาคุณหมอก่อนนะคะ คุณหมอก็บอกว่าเรียนเครื่องดนตรีที่เป็นไฟฟ้าไม่ได้นะคะ ต้องเป็นไม้ ไฟฟ้ามันกดแป๊บเดียวก็ไปแล้ว เปียโนมันต้องใช้กล้ามเนื้อ มันก็ได้กล้ามเนื้อมัดเล็กก็เป็นพัฒนาการของเขา แม่ก็ให้เขาเรียนเปียโนตั้งแต่ประมาณ 7 ขวบ

ส่วนเรื่องเต้นก็มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผ่านห้องซ้อมเต้นก็ไปเกาะสองครั้ง ไปดูเขาเต้น ไปจำท่าเขามาหมดเลย เขาบอกว่าแม่ขอเรียนได้ไหมครับ แม่ก็ไปคุยกับคุณครู คุณครูก็เปิดเพลงให้เต้น ก็ตกใจทำไมทำได้ ที่เขามาเกาะดูเขาจำไปหมดเลย ตั้งแต่ 7 ขวบมาก็เรียนมาเรื่อยๆ หลายที่เหมือนกัน”



ไม่เท่านั้น เด็กดาวน์ผู้นี้ เขายังมีหัวใจจิตอาสา ด้วยการกลับไปเป็นครูสอนนันทนาการดนตรีและเต้นให้เด็กพิเศษที่โรงเรียนราชวินิตประถมบางแค โรงเรียนที่เขาได้มีโอกาสร่ำเรียนมา พร้อมสร้างความประทับใจให้ทั้งครูและเด็กๆ ที่นั่นเป็นอย่างมาก

อีกเสียงที่ยืนยันความสามารถของเขาได้เป็นอย่างดี คือเสียงจากคุณครูประจำชั้น อย่าง “สมยศ พวงเกตุแก้ว” อาจารย์โรงเรียนราชวินิตประถมบางแค ที่บอกว่ารู้สึกภูมิใจกับลูกศิษย์คนนี้มาก ยอมรับว่าเป็นคนเก่ง และมีความสามารถ

“ภูมิใจมาก กลับมาอีกทีคือเด็กเราจบปริญญาตรีแล้วนะ มีความสามารถบางทีเก่งกว่าครูอีก เต้นแอโรบิก ออกท่าเก่งกว่าครูอีก เขาออกสเต็ปเท้าสเต็ปร่างกายได้รู้มากเลย ก็เพิ่งรู้ว่าเขาเรียนสาขานี้โดยตรง และดีใจมากอีกคือเขาอาสาที่จะมาพัฒนาเด็กในสายชั้นการศึกษาพิเศษด้วย เห็นเป็นรูปเป็นร่าง เป็นที่ประจักษ์ด้วย”

จากครูจิตอาสาด้านดนตรี คุณแม่ยังเล่าอีกว่า เขายังมีความสามารถด้านกีฬาไม่แพ้ใครอีกด้วย ด้วยความที่ชอบเล่นโบว์ลิ่งมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ฝึกฝน พัฒนา ก้าวสู่การเป็นนักกีฬาโบว์ลิ่งทีมชาติไทย ที่ได้รางวัลชนะเลิศประเภททีมโบว์ลิ่งคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย และยังเป็นนักกีฬาโบว์ลิ่งพาราลิมปิกดาวน์ซินโดรมคนแรกของไทยอีกด้วย

“สภาการกีฬาเขาคัดตัว กีฬาโบว์ลิ่งสติปัญญา มีอาจารย์ท่านหนึ่งแนะนำให้ไปคัด เพราะว่าเวลามีงานโบว์ลิ่งการกุศลเสือไปโยน อาจารย์เขาก็เห็นหน่วยก้านว่าโยนดีให้ไปลองคัดเลือกดู สมัยแรกก็ได้ติดทีมชาติ เก็บตัว 6 เดือน ก็มีโค้ชฝึกให้

จริงๆ ทีมชาติไทยเขาได้มาสองสมัยแล้วนะ ปี 62 เขาได้รองชนะเลิศอันดับ 2 ส่วนปี 63 ที่ผ่านมาได้รางวัลชนะเลิศ”

นอกจากฝีมือมือด้านดนตรี กีฬา กิจกรรมช่วยเหลือสังคมอีกก็เป็นอีกอย่างที่เขาชอบเป็นชีวิตจิตใจ และได้ทำมานานแล้วกับมูลนิธิ Five For All ที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเด็กพิเศษมาโดยตลอด

“เสือไปช่วยเหลือ ไปค่ายมา 15 ปีแล้ว ก็ไปช่วยเหลือคนพิการ ทั้งคนหูหนวก ตาบอด สนุกครับ ไม่เหนื่อย ต้องออกกำลังกายบ้าง ต้องเดินบ้าง ไม่เคยเหนื่อย ไม่ท้อ ต้องอดทน แดดร้อนก็อดทนครับ”



ครอบครัวภูมิใจ อยู่ร่วมสังคมได้

แม้เป็นเด็กพิเศษแต่หัวใจของเขาเปี่ยมด้วยการให้ เขาพร้อมถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญที่ตัวเองมีให้น้องๆ เด็กพิเศษ รวมทั้งแบ่งปัน สิ่งดีๆ สู่สังคมผ่านกิจกรรมต่างๆ

ด้วยหัวใจแห่งการให้และทำงานเพื่อสังคม ทำให้เขาได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น รางวัลนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น รางวัลคนพิการดีเด่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้ตัวเองและครอบครัวภูมิใจมาก

คุณแม่บอกถึงความภาคภูมิใจให้ฟังอีกว่า กว่าที่เด็กดาวน์คนหนึ่งจะพบความสำเร็จและมีหัวใจจิตอาสาขนาดนี้ คงไม่ง่าย และต้องผ่านความทุ่มเทมากมายจากวันนั้นที่แม่ยอมแลกชีวิตตัดสินใจออกจากงาน ถือว่าคุ้มค่ามากในวันนี้ และคาดหวังเพียงแค่ให้เขาอยู่ได้ในวันที่ไม่มีแม่อยู่แล้ว

“ภูมิใจที่เขาเกิดมาอย่างนี้ ไม่ต้องคิดมาก ที่พัฒนาการเขาได้อย่างนี้ รางวัลที่เขาได้รับ การช่วยเหลือสังคม รู้จักแบ่งปัน รู้จักให้ ภาคภูมิใจในตรงนี้มากกว่า

ให้เขาอยู่ในสังคมได้ เลี้ยงตัวเองได้ อยู่กับครอบครัวของเขาได้ อยู่กับพี่กับน้องได้ อยู่กับชุมชนได้ ณ ตอนนี้เขาก็โอเคอยู่นะ ถ้าตอนเราจากไปแล้ว แม่ก็ว่าเขาน่าจะอยู่ได้ คาดหวังให้เขาอยู่ได้ ถ้าเราไม่อยู่แล้ว

ส่วนความประทับของเสือเขาจะมีทุกปี มีการ์ดวันวาเลนไทน์ วันพ่อ วันแม่ วันปีใหม่ เขาจะทำส่งให้เลย ทุกเทศกาลเขาจะทำแล้วส่งมา ทำไม่ใข่เป็นแบบธรรมดานะ วันเกิดก็มี เขาเอาสิ่งรอบข้างมาทำ เขาจะทำให้ทุกปี”



คุณแม่เล่าด้วยความภูมิใจอีกว่า เด็กดาวน์ไม่เพียงรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมได้ แต่เขายังเปี่ยมด้วยความกตัญญูและรับผิดชอบต่อครอบครัวอย่างสูง ทำงานได้เงินมา ก็จะให้พ่อแม่เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว เพราะเห็นพ่ออดทนทำงานเพื่อตัวเองมาตลอด รวมทั้งยังให้พี่ชายและพี่สะใภ้ด้วย

“ไม่ใช่แบ่งให้แม่คนเดียวนะคะ สมมติว่า ถ้าได้มา 10,000 บาท ปีใหม่เขาจะเตรียมไว้เลยให้แม่กับพ่อคนละ 3,000 บาท ให้พี่สะใภ้ 2,000 บาท ให้พี่ชาย 2,000 บาท เขาจะต้องแบ่งแบบนี้ มันเป็นกิจวัตรประจำปีของเขา”

ท้ายนี้ คุณแม่ท่านนี้ยังฝากไปถึงพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษว่า ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องอาย เพราะความพยายามได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า 32 ปีที่ผ่านมา คนเป็นแม่ยอมแลกชีวิตการงาน เพื่อทุ่มเทพัฒนาลูก มาถึงวันนี้ ผลที่ออกมาน่าชื่นใจเพียงใด

เพราะไม่ใช่แค่สามารถช่วยเหลือตัวเองและอยู่กับสังคมได้ แต่เขายังรักและมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ที่สำคัญ ยังเป็นครูส่งต่อความรู้ความสามารถให้น้องๆ และยังเป็นตัวอย่างให้เด็กพิเศษเจริญรอยตามได้ และน่าจะเป็นแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี

“ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องอาย อย่าเก็บเขา ถ้าเรามีความสามารถไปฝึกพัฒนาการเถอะ จะได้กับลูกเต็มๆ ค่ะ ถึงจะช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร ขอให้ทำ

ลูกเรามันเหมือนเมล็ดหนึ่งที่เราจะไปเพาะ แต่เขามีตำหนิ เราหมั่นรดน้ำพรวนดิน ผลผลิตที่มันจะออกมา ถึงมันไม่งอกงามเหมือนต้นปกติ มันก็จะทำให้เราภูมิใจได้ว่าลูกที่เราบ่มเพาะมา มันก็งอกงามได้ดีพอสมควร เขาจะอยู่ในสังคมได้ เขาจะอยู่กับเพื่อนๆ ได้ จะอยู่กับครอบครัวได้ จะอยู่ในชุมชนได้”

สัมภาษณ์ : รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ

เรียบเรียง : MGR Live

เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

-- advertisement --