-- advertisement --

เด็กไทยกับสถาบันกวดวิชาอยู่คู่กันจนดูเหมือนจะเป็นวัฒนธรรมของเด็กไปแล้ว นั่นเป็นเพราะระบบการศึกษาที่ล้มเหลว ไม่ได้ผลักดันให้เด็กเข้าใกล้อาชีพที่อยากเป็น (ไม่แม้แต่จะให้เด็กสำรวจตัวเอง) ก็ทำให้เด็กหลายคนได้ความรู้จากในห้องเรียนที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีเป้าหมายที่แน่ชัดว่าจะเรียนไปทำไม เรียน ๆ ไปก่อนค่อยคิดทีหลัง ทั้งที่เรียนหนักวันละ 8-9 ชั่วโมง

และด้วยค่านิยมเรื่องอาชีพที่มองว่าอาชีพที่มีคุณค่ามีแค่หมอ พยาบาล วิศวกร แต่ความรู้แค่ในโรงเรียนไม่สามารถทำให้เด็กไปถึงจุดนั้น ไม่แปลกที่เด็ก (และผู้ปกครอง) จะพยายามหาทางออกด้วย “โรงเรียนกวดวิชา” มาดูกันหน่อยว่าเพราะอะไร เด็กไทยจึงต้องเรียนพิเศษ

ค่านิยมมีหน้ามีตาจากโรงเรียนลูก

รู้ไหม? ว่าแค่เด็กที่จะเข้าอนุบาลยังต้อง “สอบเข้า” เพราะโรงเรียนใหญ่ โรงเรียนที่มีชื่อเสียง มักจะกรองเด็กในระดับหนึ่งก่อน แน่นอนว่าชื่อสถาบันที่ปักบนอกเสื้อนักเรียนสร้างหน้าตาทางสังคมได้ โดยเฉพาะกับ “ป้าข้างบ้าน” ที่มักจะมีส่วนร่วมกับเรื่องของคนอื่นเสมอ การที่เด็กเรียนโรงเรียนมีชื่อ ทำให้ป้าข้างบ้านสงบปากสงบคำลงได้ และยังดู เหมือนเป็นครอบครัวรายได้สูงพอจะส่งเด็ก ๆ เรียนกวดวิชา เพิ่มโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีอันดับ

โรงเรียนไทยไม่ได้สอนให้เด็กค้นหาตัวเอง

ระบบการศึกษาของเมืองไทยสอนหนังสือให้เด็กเหมือน “เป็ด” ที่สอน ๆ เรียน ๆ อัดเข้าไปก่อนทุกอย่าง แต่ไม่ชำนาญหรือเชี่ยวชาญอะไรสักอย่าง ไม่มีการส่งเสริมวิชาเฉพาะด้าน และเน้นให้เด็กใช้สมอง “จำ” มากกว่า “คิด” เรียนแต่อะไรเดิม ๆ ที่กี่ปีก็ไม่เก่งขึ้น อย่างเช่นวิชาภาษาอังกฤษ การที่เด็กไม่เคยรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ถนัดอะไร ทำให้เด็กบางคนมาตัดสินใจช่วงวินาทีสุดท้ายว่าจะเรียนอะไรในระดับปริญญาตรี และถ้าไม่ชอบก็ต้องออกอีก

เน้นวิธีลัด เข้าใจได้ง่ายกว่า

ต้องบอกก่อนว่าการศึกษาไทยคือการเรียนเพื่อสอบ เพราะฉะนั้น แค่ทำวิธีไหนก็ได้ให้ได้ผลลัพธ์ก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำให้ยากด้วยวิธีคิดยุ่งยากอะไรมากมาย ซึ่งตามสถาบันกวดวิชาจะเน้นสอนเทคนิคลัดให้นักเรียน แน่นอนว่ามันเร็วกว่า จำได้ง่ายกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่ากวดวิชาไม่สอนวิธีคิดเต็ม ๆ เพียงแต่เน้นทางลัด เด็กจะประหยัดเวลาในการทำข้อสอบที่สำคัญ เวลาทำงานจริงก็คงไม่ได้วิธีคิดยุ่งยากในการหาคำตอบ เพราะเราต้องการแค่ “คำตอบ”

เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้จริง

การเรียนการสอนการศึกษาไทยบูชาสิ่งที่เรียกว่า “เกรดเฉลี่ย” นั่นหมายความว่าเด็ก “เรียนเอาเกรด” ทั้งที่เกรดเฉลี่ยวัดระดับความรู้ทางวิชาการไม่ได้ และความรู้ทางวิชาการก็วัดความสำเร็จในการทำงานจริงไม่ได้ด้วยเช่นกัน แต่ในเมื่อโรงเรียนแบ่งนักเรียนตามเกรดที่เรียน ก็คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกอยู่อันดับต่ำ ๆ พ่อแม่ที่อยากให้ลูกเกรดดีขึ้น ก็จะไปหาเรียนพิเศษเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มเกรด และเพิ่มโอกาสการสอบแข่งขันเข้าเรียนในระดับต่าง ๆ

เรียนตามเพื่อน

เด็กที่เรียนพิเศษมา มักจะได้วิธีคิดแบบลัด วิธีคิดแบบเร็ว ๆ หรือวิธีจำง่าย ๆ มาจากติวเตอร์ ซึ่งมันทั้งไวกว่า ประหยัดเวลากว่า และง่ายกว่า ซึ่งพอนำมาใช้จริงในห้องเรียน ก็ส่งผลให้เด็กคนนั้นดูโดดเด่นกว่าคนอื่น จึงไม่แปลกที่จะมีเด็กคนอื่นจะรู้สึกอยากได้เทคนิคเหล่านั้นบ้างเพื่อให้การเรียนและการสอบง่ายขึ้น จะได้เรียนได้ทันเพื่อน คิดได้ไวเหมือนเพื่อน เข้าใจที่ครูสอนได้ง่ายขึ้น เข้าสังคมได้ง่ายขึ้น

ต้องเป็นหมอ ต้องเป็นวิศวกร แต่ความรู้ในโรงเรียนมันไม่พอ

ระบบการศึกษาไทยไม่ได้ผลักดันให้เด็กค้นหาตัวเอง ไม่ได้สอนให้เด็กรู้ตัวว่าชอบอะไร เด็กก็จะยังไม่รู้ว่าต้องเรียนอะไร ก็พยายามทำคะแนนมาก ๆ ไว้ก่อนถึงจะได้เปรียบคนอื่น รวมถึงหลาย ๆ ครอบครัวก็ยัดเยียดว่าลูกต้องเรียนหมอ ต้องเป็นวิศวกร แต่ความรู้พื้นฐานในห้องเรียนมันไม่พอที่จะทำให้เด็กสอบเข้าได้ ก็ฉวยโอกาสนี้ยัดเยียดการเรียนพิเศษให้ลูกด้วย เด็กที่ฝืนบัญชาพ่อแม่ไม่ได้ก็จำต้องเรียน เพื่อให้ได้ความรู้พิเศษที่ในห้องเรียนไม่มี

ครูไม่ได้เต็มใจจะสอน

สถาบันกวดวิชาเป็นธุรกิจ และการเรียนพิเศษก็เป็นเหมือนสินค้าที่ขายอยู่ในตลาด คนที่มีกำลังจ่ายก็จะได้ของดี ทำให้มีครูประเภทเข้าสอนช้า เลิกเร็ว เปิดหนังสือแล้วอ่านให้เด็กฟัง ไม่ให้ความสำคัญกับ “เด็กทุกคน” สอนแบบไม่เต็มใจจะสอนให้เห็นอยู่ไม่น้อย แต่พอได้เวลาเลิกเรียน กลับกระตือรือร้นที่อยากสอน (เฉพาะนักเรียนที่จ่ายเงินเรียนพิเศษกับตัวเอง) ทำให้เด็กอีกกลุ่มต้องกระเสือกกระสนเอง ถ้าอยากตามเพื่อนให้ทันก็แค่จ่ายเพิ่ม

-- advertisement --