-- advertisement --

วันพุธ ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.

“ถ้าหากไปดูว่าครอบครัวเปราะบางคืออะไร ซึ่งจะพบว่าส่วนใหญ่จะให้คำนิยามว่าเปราะบางที่มาจากสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ เปราะบางจากความยากจน การถูกตีตราจากสังคม และเปราะบางที่มาจากประวัติในอดีต ทว่า เรื่องของการย้ายถิ่นเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ โดยอีกมุมทำให้มีประโยชน์กับเศรษฐกิจในครัวเรือน แต่อีกมุมจะทำมาซึ่งความเปราะบางหรือไม่ เพราะมีคนที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง และเรื่องการย้ายถิ่นยังส่งต่อรุ่นต่อรุ่น ซึ่งในครอบครัวแหว่งกลางรุ่นปู่ย่าอาจจะเป็นผู้ย้ายถิ่นมาก่อนและส่งต่อถึงรุ่นลูก จึงทำให้รุ่นปู่ย่าต้องเลี้ยงดูรุ่นหลาน”

ผศ.ดร.สร้อยมาศ รุ่งมณี อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วยอึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในวงเสวนา (ออนไลน์) “คิด for คิดส์ Research Roundup 2022 : พลวัตของครอบครัวเปราะบางในสังคมไทยในสถานการณ์โควิด-19” เมื่อเร็วๆ นี้ ถึง “ครอบครัวแหว่งกลาง” อันหมายถึงครอบครัวที่รุ่นพ่อแม่หายไป และคนรุ่นลูกอาศัยกับปู่ย่าตายาย ซึ่งครอบครัวประเภทนี้เพิ่มขึ้นมาในระยะหลังๆ ตามการสำรวจระหว่างปี 2530-2556

กล่าวคือ ในขณะที่ครอบครัวขยายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26.5 เป็นร้อยละ 35.7 แต่ในกลุ่มครอบครัวขยายร้อยละ 2.1 เป็นครอบครัวแหว่งกลาง หรือคิดเป็นถึง 1.4 ล้านครัวเรือน ขณะเดียวกัน ยังมีความเปราะบางที่มีการทับซ้อนด้วย ซึ่งใน 1 ครอบครัวอาจไม่ได้มีความเปราะบางประเภทใดประเภทหนึ่ง โดยจากการลงพื้นที่วิจัยในจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากอันดับต้นๆ ของไทย นอกจากนี้ยังลงพื้นที่จังหัดพิษณุโลกที่เป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท และยังลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดตาก ที่มีกลุ่มแรงงานข้ามชาติอีกด้วย

พบ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ครอบครัวไทยมีความหลากหลาย-ซับซ้อน-ลื่นไหล เมื่อไปดูครัวเรือนพื้นที่ย้ายถิ่นจึงคำถามว่า “จะรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดอย่างไร?” ซึ่งพบว่ามีความซับซ้อนและไม่ค่อยมีความสมบูรณ์ในครอบครัว ที่ไม่สามารถให้คำจำกัดความได้ และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ไม่ได้เป็นครอบครัวแหว่งกลาง

(ปู่ย่าตายายเลี้ยงลูกแทนพ่อแม่) ตลอดไปและไม่ได้เป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว (พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเลี้ยงลูกเพียงลำพัง) ตลอดไป ฉะนั้นความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงข้ามเวลาและข้ามพื้นที่ด้วย

2.ความแหว่งกลางในครอบครัวอาจจะไม่ได้ถูกเติมเต็ม เมื่อพูดถึงครอบครัวแหว่งกลางมักนึกถึงการแหว่งหรือการแยกจาก แต่ว่าในสถานการณ์จริงครอบครัวจำนวนมาก มีการย้ายถิ่นกลับมาอยู่รวมกัน โดยเฉพาะช่วงหลัง

โควิด-19 จะพบเจอกับแรงงานกลับบ้านเป็นภาพที่ดูเหมือนครอบครัวจะถูกเติมเต็มอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน แต่จริงๆ กลับยิ่งแหว่งกว่าเดิม

เช่น ผู้ที่ย้ายออกจากครัวเรือนกลับไปแล้วมีปัญหาสุขภาพกาย จิตใจ และติดยาเสพติด จะยิ่งทำให้แหว่งกว่าเดิม

รวมไปถึงพ่อแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกมาและออกจากบ้านไปเป็นเวลานาน เวลากลับมาความสัมพันธ์ในครอบครัวจะไม่เหมือนเดิม และ 
3.ไม่รู้ว่าจะนิยามครอบครัวแรงงานข้ามชาติว่าอย่างไร ครอบครัวดังกล่าวอยู่กับสังคมไทยมานานถึง 2-3 ทศวรรษ แต่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในแง่ของความเป็นครอบครัวมากนักเมื่อเทียบกับในมุมของความเป็นแรงงาน

“เนื่องจากบางครอบครัวอยู่ไทยมา 3 รุ่น ซึ่งรุ่นปู่ย่า รุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูก เกิดมาคนละที่กันและสถานภาพไม่เหมือนกัน โดยบางทีอยากกลับไปที่บ้านเกิดแล้วแต่กลับไม่ได้เพราะสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตัดสินใจง่ายๆ ว่าจะอยู่หรือจะไป เพราะว่าการตัดสินใจของครอบครัวแรงงานข้ามชาติขึ้นอยู่กับครอบครัวด้วย โดยทั้งหมดของงานวิจัยจะพบว่าผู้ย้ายถิ่นหรือผู้ที่อยู่ในงานวิจัยเป็นการเคลื่อนไหวย้ายกันที่ทำเพื่อครอบครัว ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือนไทยและครัวเรือนแรงงานข้ามชาติ” ผศ.ดร.สร้อยมาศ ระบุ

ขณะที่ บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ขยายความประเด็นครอบครัวแหว่งกลางต่อไปอีกว่า “เมื่อพูดถึงปัญหาของครอบครัวแหว่งกลางซึ่งพ่อแม่ไม่สามารถที่จะดูแลได้อย่างเต็มที่ โดยทั่วไปมักเข้าใจว่าความแหว่งกลางคือพ่อแม่ไม่อยู่ ซึ่งเกิดจากการที่ไปหารายได้ต่างพื้นที่” ไม่ว่าจะเป็นต่างเมืองหรือต่างประเทศ แต่จากการศึกษาพบว่า“ความแหว่งกลางซับซ้อนมากกว่านั้น” เช่น บางทีพ่อแม่ของเด็กไม่ได้ย้ายถิ่นไปไหน แต่มีปัญหาเรื่องของคดีอาชญากรรมที่ต้องจำคุก ปัญหาติดยาเสพติดเรื้อรัง ปัญหาติดการพนัน

หรือมีหนี้สินรุงรังที่ไม่สามารถอยู่ดูแลเด็กได้ ยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นมาจนปัจจุบัน จึงทำให้เป็นปัญหาต่อเนื่องและทับซ้อนขึ้นจากเดิม นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือ “การเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มเด็กที่อยู่ในครอบครัวเปราะบางทับซ้อน” พบว่า “ปัญหาไม่ใช่การเข้าถึงการศึกษาไม่ได้แต่คือการเตรียมพร้อมในชีวิตประจำวันที่ผู้ปกครองไม่สามารถจัดการได้ ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและต่อเนื่อง” ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก

“บางครอบครัวพ่อแม่ติดยาเสพติดหรือปู่ย่าตายายมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ที่ไม่สามารถพาลูกหลานไปโรงเรียนได้ทั้งที่โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กอยู่ใกล้ที่พักมาก บางรายอาศัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ถนนเข้า-ออกไม่สะดวก หรือเวลาฝนตกน้ำท่วมทำให้ไปโรงเรียนไม่ได้ ฉะนั้นปัญหาเป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน พ่อแม่ที่เป็นแรงงานรับจ้างต้องส่งลูกตอนเช้าแต่ตอนเย็นไปรับไม่ได้ ทำให้ภาระตกอยู่ที่โรงเรียน บุศรินทร์ กล่าว

สอดคล้องกับ ผศ.ดร.วาสนา ละอองปลิว วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราวที่พบจากการลงพื้นที่ อาทิ 1.ในพื้นที่บ้านครก ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก พบครอบครัวที่แม่ของเด็กมีลูก 3 คนมีอายุ 3 ขวบ 6 ขวบ และ 20 ปี โดยเป็นเด็กที่มีพ่อคนละคน และลูกคนเล็กคลอดในขณะที่จำคุกเพราะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพราะฉะนั้นเด็กจึงถูกส่งให้อยู่ในการดูแลของยาย แต่ยายก็มีฐานะยากจนเช่นกันและมีปัญหาสุขภาพด้วย ซึ่งต้องพึ่งพิงรายได้จากสามีใหม่ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับเด็ก

และแม้ในเวลาต่อมาแม่ของเด็กจะพ้นโทษออกมาแล้ว แต่ไม่สามารถที่จะดูแลลูกๆ ได้เนื่องจากยังมีพฤติกรรมใช้ยาเสพติด โดยสิ่งที่เด็กเผชิญความเปราะบางคือสุขภาวะของเด็กต่ำกว่าโภชนาการ ซึ่งมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวและเด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้ “ทั้งที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่มีศูนย์เด็กเล็กที่ห่างจากบ้านเพียง 1 กิโลเมตร แต่ไม่มีคนที่จะพาเด็กไปที่ศูนย์เด็กเล็ก” อนึ่ง บางครั้งแม่จะพาลูกออกไปข้างนอกด้วย ซึ่งสุ่มเสี่ยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

เมื่อดูถึงสวัสดิการที่เด็กได้รับพบว่า สวัสดิการที่เด็กและผู้ปกครองได้รับ เป็นสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนบุตร สิทธิบัตรสุขภาพถ้วนหน้า และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งคนเหล่านี้เข้าถึงสิทธิการเรียนฟรีที่ อบต. จัดให้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กอายุ 6 ขวบในครอบครัวนี้ ทาง อบต. ได้ประสานงานทีมสหวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปช่วยเหลือและปัจจุบันเด็กคนดังกล่าวอยู่ในการดูแลของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพิษณุโลก

2.ในพื้นที่บ้านหัวทุ่ง ต.บ้านใหม่พัฒนา อ.เกาะคง จ.ลำปาง ครอบครัวนี้เป็นเด็กที่อาศัยกับยายและพ่อแม่แยกทางกัน พ่อเด็กขาดการติดต่อขณะที่แม่ย้ายถิ่นไปต่างจังหวัด ซึ่งแม่เด็กไม่สามารถสนับสนุนทางการเงินให้กับเด็กและยายได้ อีกทั้งเด็กมีปัญหาด้านพัฒนาการและเป็นออทิสติกที่จำเป็นต้องการดูแลเป็นพิเศษ เมื่อดูสวัสดิการที่เด็กและครอบครัวได้รับ พบว่าเป็นสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ของรัฐ เช่น

เบี้ยยังชีพคนพิการ เรียนฟรี และสิทธิบัตรสุขภาพถ้วนหน้า แต่สวัสดิการที่เข้าถึงไม่เพียงพอสำหรับเด็กที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ

“เมื่อดูความเปราะบางทั้ง 2 กรณีดังกล่าว พบว่า ภาระในการดูแลเด็กถูกวางไว้บนบ่าครอบครัว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการดูแลเด็ก แต่ว่าภาระในดูแลเด็กไม่ควรจะอยู่ที่ครอบครัวโดยที่หน่วยงานอื่นๆ ไม่ได้ให้การช่วยเหลือ จากครอบครัวที่ศึกษาทั้งหมดจะพบว่า คนในรุ่นพ่อแม่ของเด็กเกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่น และหลายกรณีที่สายสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ที่ย้ายถิ่นหายไป ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก

และคนรุ่นพ่อแม่จำนวนหนึ่งไม่ได้ให้การสนับสนุนต่อการดูแลเด็กและคนรุ่นปู่ย่าตายาย ในส่วนของชุมชนพบว่ามีชุมชนในไทยที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการดูแลกลุ่มเปราะบางแต่ก็มีชุมชนไม่น้อยที่มีศักยภาพน้อยจนไม่สามารถดูแลกลุ่มเปราะบางได้” ผศ.ดร.วาสนา กล่าว

ผศ.ดร.วาสนากล่าวต่อว่า ในส่วนของโรงเรียนซึ่งส่วนใหญ่เด็กจะใช้เวลาที่โรงเรียนค่อนข้างมาก ซึ่งโรงเรียนสามารถมีส่วนในการพัฒนาเด็กและแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาทางพฤติกรรม เป็นต้น ซึ่งข้อค้นพบในงานวิจัยในพื้นที่พบว่า มีเด็กจำนวนหนึ่งที่ครูสังเกตว่ามีปัญหาทางพฤติกรรมและต้องการความช่วยเหลือ ครูจึงประสานงานกับผู้ปกครองและนักจิตวิทยาเพื่อหาทางแก้ไข ซึ่งค่อนข้างจะช่วยเหลือเด็กได้ แต่ปัญหาคือภาระที่ครูต้องทำขึ้นอยู่กับโรงเรียน ฉะนั้นบางโรงเรียนให้ความสำคัญมาก บางโรงเรียนอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว

ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปัจจุบันพบว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ช่วยดูแลเด็กในพื้นที่ แต่บทบาทสำคัญยังไม่เพียงพอ ถึงแม้ อปท.มีความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเปราะบางแต่อำนาจหน้าที่ในการดูแลกลุ่มเปราะบางค่อนข้างน้อย ถ้าหาก อปท. สามารถเข้ามามีบทบาทเชิงรุกในการแก้ปัญหาจะเป็นการแก้ปัญหาค่อนข้างด

“จากปัญหากลุ่มเปราะบางที่ได้ศึกษา ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาดูแลในเรื่องการจัดสวัสดิการในการดูแลเด็กซึ่งปัจจุบันอาจจะไม่มีกลไกในการดูแลเด็กที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษที่ดีพอนอกจากนี้การดูแลเด็กไม่สามารถแยกออกได้จากความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัว เพราะฉะนั้นการส่งเสริมให้พ่อแม่สามารถที่จะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ” ผศ.ดร.วาสนา ฝากทิ้งท้าย

-- advertisement --