-- advertisement --

ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่โรงเรียนของจังหวัดพิษณุโลก ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Onsite เรียนที่โรงเรียนได้ ในขณะที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิษณุโลก มีมติให้ปรับการเรียนการสอนไปถึงวันที่ 31 สิงหาคมอีก ซึ่งโรงเรียนต่าง ๆ ได้ปรับการสอนในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่นที่ โรงเรียนวัดแตน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1  (สพป.พล.1) โรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กที่มีนักเรียนเพียง 86 คน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอบางระกำ ติดกับอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย  ผู้บริหารโรงเรียน ได้ให้คุณครูจัดการเรียนการสอนได้หลายรูปแบบตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้ เพื่อจัดการสอนให้แก่เด็กนักเรียน ทั้ง ONLINE, ON-AIR, ON-DEMAND และ ON-HAND ตามความเหมาะสม ตามสภาพและบริบทของครอบครัวนักเรียน

เช่นวันนี้ ( 6 ส.ค. 64 ) ผู้บริหารและคณะครู ได้ลงไปดูที่บ้านของเด็กชายธัญเทพ  รุ่งโรจน์ นักเรียนชั้น ป.2 หลังพบว่า เด็กนักเรียน ไม่ได้เข้าเรียนออนไลน์พร้อมกับเพื่อนและไม่ได้อ่านรับ line สั่งงานจากคุณครู ซึ่งพบว่า เด็กชายธัญเทพ ต้องรอให้พี่ชายซึ่งเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และกำลังใช้สมาร์ทโฟน สอบออนไลน์พร้อมกับเพื่อนๆว่างเสียก่อนจึงจะสามารถนำมาเรียนและรับงานสั่งจากคุณครูได้ ส่วนพี่สาวอีกคนเรียน ม.3 ก็ต้องรอให้พี่ ม.4 ใช้เสร็จก่อนเช่นกัน เพราะทั้งบ้าน มีสมาร์ทโฟน เพียง 1 เครื่องที่สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้  โดยต้องจ่ายค่าอินเตอร์เน็ต 200 บาทต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างจะสูงสำหรับครอบครัวหนึ่งที่มีลูก 3 คนที่กำลังอยู่ในวัยเรียน  คุณครูจึงนำใบงานลงมาให้ทำถึงที่บ้าน และติดตามสภาพความต้องการของเด็กนักเรียนที่คุณครูจะสามารถบูรณาการเรียนการสอนให้เด็กได้

ส่วนที่บ้านของนางสาวน้ำอ้อย  จ้อยทอง ผู้ปกครองของเด็ก 3 คนที่บ้านมีความพร้อมในการใช้อินเตอร์เน็ตที่ติดตั้งให้กับลูกมาตั้งแต่เริ่มมีการเรียนที่บ้านจากสถานการณ์โควิด จึงตัดสินใจติดตั้งในราคาที่สูงเพื่อให้มีสัญญาณที่ดีต่อการเรียนจากสมาร์ทโพนได้ และได้เผื่อแผ่ให้กับเพื่อน ๆ ของลูกที่มาใช้สัญญาณจากที่บ้าน เข้าเรียนร่วมกัน พร้อม ๆ กับที่คุณครูสอน

นางสาวน้ำอ้อย  จ้อยทอง  บอกว่า “ตอนนี้คุณครูก็จะมาเป็นบางช่วง บางช่วงก็จะโทร ค่าอินเตอร์เน็ตก็จะเสียเป็นรายเดือน ๆ ละ 855 บาท  ที่นี้ก็จะมีเด็กมาช่วยมา บางทีเขาก็มาช่วยกันทำการบ้าน เพราะที่นี่มี WiFi ก็จะเปิดให้เด็กตลอด เด็ก ก็จะมาเรียนกับครูกันประมาณ 8-9 คน บางคนไม่มีโทรศัพท์ก็จะมาเรียนกันที่นี้ค่ะ”

ด้าน เด็กหญิงธิดาพร  ยังเจริญ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  บอกว่า การเรียนในช่วงสถานการณ์โควิดที่บ้าน ก็มีความพร้อมมากค่ะ แต่บางทีเน็ตก็มีสะดุด แต่ก็ยังเรียนได้ค่ะ อย่างเพื่อน ๆบางคนเน็ตเขาไม่มี ก็จะมาทำการบ้านด้วยกันหรือเรียนด้วยกัน อย่างเพื่อนบางคนไม่มีโทรศัพท์ก็จะมาเรียนรวมกันอยู่ที่นี่ค่ะ

ทางด้าน นางพเยาว์  ลีลา  ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดแตน ได้เล่าถึงการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิดว่า “สำหรับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนวัดแตนนะคะ ภายใต้การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งตอนนี้เราไม่สามารถ onsite ใช้ได้นะคะ วิธีการก็คือตอนนี้เราใช้รูปแบบการบูรณาการ คือรวมการจัดการเรียนการสอนทุกรูปแบบนะคะ ให้เป็นรูปแบบของโรงเรียนเราเองนะคะนั่นก็คือ ออนไลน์เราก็ใช้นะคะ ออนดีมานด์เราก็ใช้ ออนแอร์เราก็ใช้นะคะ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่มีหลากหลายรูปแบบมากนะคะ ตอนนี้ก็คือ ในทุกๆวันจันทร์ เราจะให้หาคุณครูเตรียมใบงานแล้วก็แบบฝึกให้เด็กๆ โดยที่ผู้ปกครอง ใบงานที่โรงเรียนภายใต้มาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดนะคะ  เมื่อเด็กได้ใบงานไปแล้วนะคะ คุณครูทุกท่านก็จะสื่อสารผ่านกลุ่ม Application LINE บ้าง Facebook บ้าง การจัดการเรียนการสอนผ่านกลุ่ม Line ผ่านกลุ่ม application facebook ไม่สามารถจัดการสอนได้ 100% ก็จะมีบ้างที่เด็กๆบางคน ผู้ปกครองบางคนไม่ได้มีความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยีหรือไม่มีโทรศัพท์  คุณครูก็จะวิธีการไปหาที่บ้านแต่คุณครูก็ต้องป้องกันตัวนะคะขณะที่เราไปเราก็ต้องป้องกันตัวเราก็ต้องดูก่อนว่าปลอดจากโรคไหม เราเป็นห่วงคุณครูด้วยเป็นห่วงเด็กด้วย คุณครูก็จะใช้โทรศัพท์สอบถามนะคะ สอนทางโทรศัพท์ก็สอน ไปหาที่บ้านก็ไปสอนเพื่อไปอธิบายนะคะไปอธิบายใบงานที่แจกไปว่า เด็กๆ สามารถทำได้ไหมติดขัดปัญหาอะไรบ้าง

เพราะฉะนั้นตอนนี้ เราออนไลน์ได้ไม่ 100 % แต่เราใช้วิธีการอื่นที่ให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ เราก็บูรณาการตามที่ สพฐ.ได้มีนโยบายมาก็คือการเรียนโดยตัวชี้วัดที่ควรรู้  จาก 8 สาระบูรณาการเรียน 4 สาระหลักนะคะ แล้วก็เสริมประวัติศาสตร์นะคะบูรณาการวิชาอื่นเข้าด้วยกันลดภาระงานเด็กให้น้อยนะคะแต่เด็กจะต้องเกิดการเรียนรู้นะครับ ให้เด็กๆเนี่ยไม่ได้เครียดกับการเรียนมากจนเกินไปแต่ก็ต้องได้เรียนรู้นะคะในท่ามกลางโรค covid-19 ที่กำลังแพร่ระบาดนี้

สำหรับปัญหาที่พบนะคะ ก็จะมีแบ่งเป็นหลายกรณีกรณีที่ 1 คือเด็กไม่มีอุปกรณ์การสื่อสารเลย อยู่กับคนแก่ อยู่กับปู่ย่าตายาย ที่ก็ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ตรงนี้ได้เลย เราก็แก้ปัญหาด้วยวิธีการให้เด็กมาที่โรงเรียน 1 คน แล้วก็คุณครูก็สอนที่โรงเรียนและคุณครูก็ไปหาเด็กที่บ้านด้วยก็จะใช้วิธีการสลับกันตรงนี้ อีกอย่างหนึ่งผู้ปกครองบางคนอินเทอร์เน็ตไม่แรง ก็คือบางกิจกรรมไม่สามารถเปิดดูได้ ไม่สามารถเข้าเรียนได้อย่างต่อเนื่อง บางทีอินเทอร์เน็ตหมดตรงนี้ก็มี ก็เราก็จะบอกผู้ปกครองว่าตรงนี้ไม่ต้องเป็นกังวล คือถ้าเข้าเรียนได้ให้เข้าเรียนถ้ายังเข้าเรียนไม่ได้ คุณครูก็จะใช้วิธีการโทรเป็นรายบุคคลอธิบายเป็นรายบุคคล แล้วก็ในทุกๆ วันจันทร์ เด็กก็จะต้องนำไปงานเดิมมาส่ง แล้วก็มารับใบงานใหม่เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ผู้ปกครองท่านใดที่มีปัญหาก็จะเข้ามาคุย เข้ามาบอกกับผู้ปกครองเพราะว่าเราบอกเสมอว่า ไม่ต้องกังวลถ้ามันเหนือบ่ากว่าแรง ไม่มีโทรศัพท์ไม่มีค่าเน็ตก็ไม่เป็นไร เราจะใช้วิธีอื่นเพื่อที่จะช่วยเหลือให้เด็กๆกับผู้ปกครองสามารถจัดการเรียนรู้ควบคู่กันไปกับโรงเรียนได้ค่ะ”

เป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนของผู้ปกครอง ครู นักเรียน ในการเรียนการสอนออนไลน์ ในสถานการณ์โควิด ซึ่งพบว่าปัญหาหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนที่กระทรวงศึกษาธิการ ควรสนับสนุนเป็นอันดับแรก ๆ คือ การเข้าถึงเทคโนโลยี  ซึ่งสถานะทางครอบครัวของผู้ปกครอง มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะ ครอบครัวที่ค่อนข้างขาดแคลน ทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยี การใช้สมาร์ทโฟน เป็นไปได้ยาก  หากต้องเรียนออนไลน์ไปอีกในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 อาจจะต้องทำให้คุณครูต้องปรับและบูรณาการการเรียนการสอนให้เข้าถึงเด็กให้มากยิ่งขึ้นกว่าปัจจุบัน

…………………………………………………………………..

แสดงความคิดเห็น