-- advertisement --

เผยไม่ห้ามทำกิจกรรมแต่ต้องอยู่ในกรอบข้อบังคับ มีอาจารย์คอยดูแล ทุกครั้งที่จัดต้องทำหนังสืออนุญาตก่อน ห้ามว๊าก

รศ.พัชรี สวนแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวถึง การรับน้อง หรือ กิจกรรมสร้างสัมพันธ์ไมตรีรุ่นพี่รุ่นน้อง ประจำภาคเรียนปีการศึกษา 2562 ว่า มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเปิดเทอมมาได้สักระยะ ซึ่งกิจกรรมรับน้อง หรือ ชื่อเรียก กิจกรรมสร้างสัมพันธ์ไมตรีรุ่นพี่รุ่นน้อง นั้น ทางมหาวิทยาลัยอนุญาตให้ดำเนินการได้ แต่ต้องอยู่ในกฎระเบียบข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ซึ่งการจัดกิจกรรมต้องคำนึงถึงข้อบังคับและกฎเกณฑ์ที่ตามกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) หรือมหาวิทยาลัยยึดปฏิบัติ โดยนักศึกษาไม่ว่าจะคณะใดที่จัดกิจกรรมรับน้อง ต้องทำหนังสือขออนุญาต ชี้แจงรายละเอียด พร้อมรายชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาที่เป็นผู้ดูแลในการทำกิจกรรมแนบมาด้วย

ทั้งนี้ ข้อบังคับส่วนใหญ่นักศึกษาล้วนปฏิบัติตามและยอมรับ อาทิ ห้ามจัดกิจกรรมรับน้องนอกสถานที่, ห้ามใช้กลองในการรับน้อง เพื่อป้องกันการเกิดเสียงดังเกินเหตุ ส่งผลรบกวนบุคคลรอบข้าง และควบคุมการใช้ภาษาของรุ่นพี่ ให้ใช้มธุรสวาจา สื่อสารกับรุ่นน้อง และใช้เหตุผลในการพูดคุยกันมากกว่าการใช้อารมณ์ในทุกด้าน ซึ่งกฎระเบียบข้างต้น มหาวิทยาลัยได้ยึดปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพิ่งมาออกกฎระเบียบ หรือเพิ่งเคร่งครัด เพราะคณะผู้บริหารเล็งเห็นความสำคัญของทุกๆกิจกรรม ต้องควบคู่ไปกับความถูกต้อง ศีลธรรม และความปลอดภัยของนักศึกษาเป็นหลัก

รศ.พัชรีกล่าวว่า วันปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 5-7 ส.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด เรียนสวนดุสิต รู้สวนดุสิต รักสวนดุสิต ซึ่ง รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี บรรยายเรื่อง ปฐมนิเทศอย่างไรจึงจะถูกใจนักศึกษา และมีไฮไลท์สาระสำคัญ คือ การปลูกฝังจิตสำนึกวัฒนธรรมแบบสวนดุสิต โดยสอนการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยที่ถูกต้องและเหมาะสม เน้นย้ำ เรื่องบุคลิกภาพ การแต่งกาย การเดิน การนั่ง โดยเฉพาะเรื่องของการกินตามแบบฉบับชาวสวนดุสิต ถือเป็นการดึงจุดแข็งด้านอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมาถ่ายทอดให้กับนักศึกษา เพราะเชื่อว่า องค์ความรู้ทางวิชาการสามารถแข่งขันและพัฒนาได้ แต่การสอนทักษะการใช้ชีวิตในสังคม ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้นักศึกษา

ดังนั้น มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พยายามผลักดันให้นักศึกษากลายเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในทุกมิติ เพื่อสร้างความแตกต่าง ตอบสนองตลาดแรงงานในปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

-- advertisement --