-- advertisement --

คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ”

งานประกวด “นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศ ครั้งที่ 10” เวทีเกียรติยศที่พร้อมท้าทายไอเดียความคิดของเยาวชน และคนรุ่นใหม่ ในยุคดิสรัปชัน (Disruption) ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ผศ.ดร.วิภู ศรีสืบสาย คณบดี วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า งานประกวดนี้เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่นวัตกรจิ๋วและคนรุ่นใหม่ ที่สามารถบูรณาการองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความคิดสร้างสรรค์ และนาโนเทคโนโลยี สู่การตกตะกอนทางความคิด และก่อร่างสร้างนวัตกรรมต้นแบบ (Prototype) ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยและสังคม ตลอดจนมองเห็นโอกาสต่อยอดงานวิจัยที่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบตั้งต้นทางความคิด และ วัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติ ได้อย่างมีศักยภาพ

สำหรับปีนี้มีนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีฝีมือเยาวชนระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป กว่า150ผลงาน ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลทรงเกียรติ “ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” แบ่งออกเป็น 2 ประเภทรางวัล ครอบคลุม 6หมวดนวัตกรรม ดังนี้

ประเภทรางวัลระดับมัธยมศึกษา แบ่งออกเป็น 5 หมวดนวัตกรรม

นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ คือ “วัสดุก่อสร้างจากโฟมรีไซเคิล” ดัดแปลงปัญหาสู่นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม จากโรงเรียนชลราษฎรอำรุง จังหวัดชลบุรี

นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ คือ “วิกผมเทียมจากเส้นใยธรรมชาติ” วิกผมคุณภาพสูงแต่ต้นทุนต่ำถึง10 เท่า จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย

นวัตกรรมส่งเสริมด้านการเกษตร “สารสกัดธรรมชาติแก้ปัญหาเพลี้ยกระโดด” หนุนซับน้ำตาชาวนาไทย โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย

นวัตกรรมเชิงสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม “แม่เหล็กอัจฉริยะดูดซับโลหะหนักในแหล่งน้ำเสีย” จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์ จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช

นวัตกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น “นวัตกรรมเพิ่มเฉดสีปีกแมลงทับเพิ่มมูลค่าเครื่องประดับไทย” อีกขั้นของการยกระดับงานคราฟต์ไทย จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย

ประเภทรางวัลระดับอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไป มีรายละเอียดดังนี้

นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี ได้แก่ “ผงนาโนอัจฉริยะพิชิตลายนิ้วมือแฝง” ยอดนักสืบจิ๋วช่วยตำรวจพิสูจน์หลักฐาน นวัตกรรมผงฝุ่นสี–เรืองแสง จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ที่ช่วยตรวจหาลายนิ้วมือได้ทุกสภาพพื้นผิว พร้อมหนุนภาครัฐลดนำเข้าสารเคมี จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี กรุงเทพฯ

ถือเป็นการตอกย้ำศักยภาพของเยาวชนไทย ที่สามารถบูรณาการสิ่งต่างๆ สู่การรังสรรค์นวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิต-สังคมไทย และพร้อมก้าวสู่การเป็นหนึ่งใน “ดิสรัปเตอร์” (Disruptor) ที่มีความกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก กล้าเผชิญกับความท้าทายในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง บนพื้นฐานของทักษะความรู้และความสามารถที่ได้รับการหล่อหลอมจากสถาบัน

สอดคล้องกับนโยบายของ สจล. ที่ตั้งเป้าพัฒนาบัณฑิตคุณภาพ ควบคู่กับการหล่อหลอมจิตวิญญาณแห่ง สจล. “ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ สู้งาน” เพื่อป้อนบุคลากรคุณภาพให้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่สามารถผลิตองค์ความรู้หรือนวัตกรรมตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมประเทศไทยเสมอมา ผศ. ดร. วิภูกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ www.facebook.com/kmitlofficial, www.kmitl.ac.th

-- advertisement --