-- advertisement --
สยามรัฐออนไลน์ 25 มีนาคม 2565 20:19 น. เกษตร

วันที่ 25 มี.ค.65 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการสัมมนาทดสอบความสนใจของนักลงทุนภาคเอกชน โครงการศึกษาวิเคราะห์ โครงการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยมี นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ นายวิทยา แก้วมี ผู้อำนวยการกองแผนงาน บริษัทที่ปรึกษา ภาครัฐและเอกชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล พ.ศ.2561 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พ.ศ.2564 เสนอให้มีการพัฒนาโครงการฯ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักสำคัญของประเทศ เนื่องจากน้ำในลุ่มน้ำยวมในฤดูฝนมีปริมาณน้ำมาก การพัฒนาโครงการผันน้ำยวม จึงเป็นการเพิ่มความมั่นคงทางด้านน้ำให้กับเขื่อนภูมิพลที่ยังสามารถเก็บกักน้ำได้อีกเป็นปริมาณมาก ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่รอบโครงการ ก่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงในการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งพื้นที่ตั้งองค์ประกอบสำคัญครอบคลุม 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก

“เนื่องจากมูลค่าการลงทุนของโครงการจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงมาก กรมชลประทานจึงได้มีการจ้างดำเนินการ “โครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” ตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มีรายละเอียดของการศึกษาที่สำคัญ เช่น การวิเคราะห์รูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมของการร่วมลงทุน การศึกษาความเป็นไปได้ด้านการเงินกรณีร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อนำเสนอผลการศึกษาต่อ คณะรัฐมนตรีในการพิจารณาตัดสินใจทางเลือกของการลุงทุนค่าก่อสร้างโครงการที่เหมาะสมระหว่างทางเลือกการดำเนินการโดยรัฐ และการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ทำให้มีข้อมูลที่ครอบคลุมรอบด้านก่อนพิจารณาอนุมัติเปิดโครงการต่อไป”นายเฉลิมเกียรติ กล่าว

การศึกษาครั้งนี้ จึงให้ความสำคัญในเรื่องการวิเคราะห์ราคาค่าก่อสร้างโครงการเป็นอย่างมากเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเนื่องจากที่ผ่านมามักมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยมักนำค่าดำเนินการและค่าบำรุงรักษา หรือค่าอื่นๆ มารวมเป็นค่าก่อสร้างโครงการ ทั้งที่ผลการวิเคราะห์ตามรายงาน EIA ปี พ.ศ.2559 ประมาณ 71,000 ล้านบาท ให้เป็นราคาปีปัจจุบัน (พ.ศ.2565) ซึ่งจะมีมูลค่าก่อสร้างโดยประมาณ 88,000 ล้านบาท ทั้งนี้ทางเลือกการลงทุนในรูปแบบของการ่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน จะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 170,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าลงทุนโครงการประมาณ 88,000 ล้านบาท และเป็นค่าดำเนินงานผันน้ำและบำรุงรักษาตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 25 ปี ของเอกชน เป็นเงินประมาณ 82,000 ล้านบาท ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมว่ามีค่าก่อสร้างที่สูง แต่โดยแท้จริงแล้วการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์ได้รวม ค่าก่อสร้าง ค่าดำเนินงานและค่าบำรุงรักษา เป็นต้นทุนทั้งหมด ในขณะเดียวกันการคำนวณยังได้พิจารณาถึงส่วนของผลประโยชน์จากโครงการด้านต่างๆ ที่ได้จากปริมาณน้ำที่ผันในแต่ละปีแล้วด้วย

ทั้งนี้ หากโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถสร้างประโยชน์ครอบคลุมทุกด้าน เช่น ด้านการเกษตร เกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 70,000 ครัวเรือน ด้านอุปโภคบริโภคจะมีการจัดสรรน้ำเฉลี่ยปีละ 300 ล้าน ลบ.ม.ได้รับประโยชน์ กว่า 1,300,000 ครัวเรือน ด้านการผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อนภูมิพลผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 426 ล้านหน่วย ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับประโยชน์ 100,000 ครัวเรือน ด้านประมงในเขื่อนน้ำยวม ด้านการท่องเที่ยว ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ด้วย

-- advertisement --