-- advertisement --

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2565

นายนาวิน สังฆมาตร นายอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจรบนทางหลวงหมายเลข 113 ช่วง อ.ชนแดน- ต.ดงขุย เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าผลการศึกษา และสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาของโครงการ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม

สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอแนวคิดเบื้องต้นในการพัฒนาแนวเส้นทางโครงการโดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 113 กม.27+000 และมีจุดสิ้นสุดโครงการบนทางหลวงหมายเลข 113 กม.54+000 รวมระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร โดยจากเดิมแนวเส้นทางดังกล่าว มี 2 ช่องจราจร บางช่วงเป็น 4 ช่องจราจร ซึ่งกรมทางหลวงมีแผนดำเนินการเพื่อจะขยายช่องทางจราจรให้มีขนาด 4 ช่องจราจร เพื่อให้มีความเหมาะสมกับโครงข่ายทางหลวง และรอบรับปริมาณการจราจรในอนาคต

ซึ่งที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอรูปแบบการพัฒนาโครงการ 3 รูปแบบ โดยมีรายละเอียดดังนี้ รูปแบบที่ 1 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบยก (Raised Median) รูปแบบที่ 2 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแท่งคอนกรีต (Barrier Median) รูปแบบที่ 3 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบกดเป็นร่อง (Depressed Median) ซึ่งจากการพิจารณาหลักเกณฑ์ต่างๆ ทั้งด้านวิศวกรรมและการจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า รูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่นอกเขตชุมชน ได้แก่ รูปแบบ ที่ 2 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแท่งคอนกรีต (Barrier Median)

ข้อดี คือ ถนนมีความปลอดภัย หากเกิดอุบัติเหตุรถชนกับกำแพงคอนกรีต รถสามารถพลิกกลับมาอยู่ในช่องจราจรของตัวเองได้ รวมถึงค่าบำรุงรักษาต่ำที่สุดและใช้พื้นที่เกาะกลางน้อย ส่วนรูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ในเขตชุมชน ได้แก่ รูปแบบที่ 1 ทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบยก (Raised Median) ข้อดี คือ มีความสะดวกปลอดภัยต่อผู้ใช้รถและการข้ามถนน เหมาะสำหรับพื้นที่ชุมชนที่จำกัดความเร็วรถ เนื่องจากมีช่องจราจรรอเลี้ยวกลับรถและมีพื้นที่เกาะกลางสำหรับยืนรอข้ามถนน รวมทั้งค่าก่อสร้างถูกกว่ารูปแบบเกาะกลางแท่งคอนกรีต

ส่วนรูปแบบจุดตัดทางแยกของโครงการ จากการตรวจสอบพื้นที่ตามแนวเส้นทางพบ 6 จุด โดยมีรายละเอียดจุดตัดทางแยก ดังนี้ จุดตัดที่ 1 บริเวณสามแยกบ้านโคกเจริญ (กม.27+296) จุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 2398 จำนวน 4 ช่องจราจร จุดตัดที่ 2 บริเวณวัดพระพุทธบาทชนแดน (กม.28+619) จุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 1205 จำนวน 2 ช่องจราจร และจุดตัดที่ 3 บริเวณแยกตะกุดไร-ชนแดน (กม.43+532) จุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 1069 จำนวน 4 ช่องจราจร ที่ปรึกษาพิจารณาให้ใช้สัญญาณไฟจราจรเดิม ส่วนจุดตัดที่ 4 บริเวณแยกเข้าบ้านตะกุดไร ใกล้ Lotus สาขาดงขุย (กม.144+615) จุดตัดกับทางหลวงชนบท พช.3036 จำนวน 2 ช่องจราจร ที่ปรึกษาพิจารณาให้เพิ่มสัญญาไฟจราจร จุดตัดที่ 5 บริเวณแยกเข้าโรงเรียนหนองระหมาน (กม.49+435) จุดตัดถนนท้องถิ่นชุมชนบ้านบุ่งคล้า จำนวน 2 ช่องจราจร ที่ปรึกษาพิจารณาให้ปิดทางแยกและใช้ทางกลับรถแทน จุดตัดที่ 6 บริเวณ หน้าโรงเรียนบ้านท่าข้าม (กม.36+746) จำนวน 2 ช่องจราจร ที่ปรึกษาพิจารณาเปิดเป็นทางแยกในอนาคตและเพิ่มสัญญาณไฟจราจร 

รูปแบบจุดกลับรถแนวเส้นทางของโครงการ มี 3 รูปแบบ ดังนี้ รูปแบบที่ 1 จุดกลับรถแบบแท่งคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร กว้าง 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ช่องจราจรช่วงจุดกลับรถกว้าง 3 เมตร  ไม่มีทางเท้าด้านข้าง ช่วงที่มีรูปแบบจุดกลับรถรูปแบบที่ 1 ได้แก่ กม.30+500 , กม.32+500 , กม.33+100 , กม.34+650 , กม.39+200 , กม.40+300 , กม.46+800 , กม.48+800 , กม.50+100 , กม.51+800 , กม.53+000 รูปแบบที่ 2 จุดกลับรถแบบเกาะยก ขนาด 4 ช่องจราจร กว้าง 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ช่องจราจรช่วงจุดกลับรถกว้าง 3 เมตร มีทางเท้าด้านข้าง ช่วงที่มีรูปแบบจุดกลับรถรูปแบบที่ 2 ได้แก่ กม.28+933 , กม.29+100 , กม.29+316 , กม.29+428 , กม.29+950 รูปแบบที่ 3 จุดกลับรถแบบเกาะยกแบบไม่มีทางเท้า ขนาด 4 ช่องจราจร กว้าง 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ช่องจราจรช่วงจุดกลับรถกว้าง 3 เมตร  ไม่มีทางเท้าด้านข้าง ช่วงที่มีรูปแบบจุดกลับรถรูปแบบที่ 3 ได้แก่ กม.27+374, กม.27+800 , กม.35+600 , กม.35+913 , กม.36+300 , กม.36+690 , กม.37+027 , กม.37+400 , กม.42+700 , กม.43+309 , กม.43+600 กม.43+850, กม.44+119, กม.44+300 , กม.44+600 , กม.45+050 , กม.45+256 , กม.45+650 , กม.45+878

ทั้งนี้ แนวเส้นทางโครงการมีสะพานข้ามลำน้ำ จำนวน 11 สะพาน จากการตรวจสอบโครงสร้างสะพานเดิมแม้ยังใช้งานได้ แต่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ รื้อสะพานเดิมและก่อสร้างสะพานใหม่ 5 แห่ง ขยายสะพาน 4 ช่องจราจร 2 แห่ง และปรับปรุงผิวทางสะพาน 4 แห่ง นอกจากนี้ที่ปรึกษาได้ออกแบบระบบระบายน้ำ โดยการเพิ่มช่องเปิด เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมผิวทางในพื้นที่ ได้แก่ ปรับปรุงอาคารระบายน้ำตามยาว 11 ตำแหน่ง ปรับปรุงอาคารระบายน้ำตามขวาง 49 แห่ง และปรับปรุงท่อ 9 ตำแหน่ง

สำหรับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา ที่ปรึกษาได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ สำรวจและเก็บตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาประกอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE โดยมีประเด็นที่ศึกษาครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดลอมทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งจากผลการศึกษา IEE พบว่า มีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของโครงการอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะนำไปศึกษาต่อในขั้นรายละเอียด (EIA) จำนวน 22 ปัจจัย เพื่อเตรียมกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยมีกำหนดจัดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) ในช่วงประมาณเดือนมีนาคม 2566 เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาในทุกด้านให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์  www.highway113-chondaen-dongkhui.com 2.แฟนเพจเฟซบุ๊ค : โครงการสำรวจออกแบบ ทางหลวง 4 ช่องจราจร ทล.113 ช่วง  ชนแดน-ดงขุย และ 3.Line Official : @324ecuud

-- advertisement --