</p>
กรรมการอิสระฯ ลงพื้นที่สำรวจ รร.บนดอย
ดัน รร.นิติบุคคล-ยืดหยุ่นหลักสูตรเลิกตัดเสื้อโหล
หมายเหตุ – ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็น ของเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ครู และนักเรียน ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในพื้นที่สูง ที่อยู่แนวสันเขาเดียวกัน จำนวน 5 โรงเรียน ใน 2 อำเภอ ได้แก่โรงเรียนบ้านผาแดง และโรงเรียนสันติวนา อยู่ในอำเภอไชยปราการ และโรงเรียนบ้านขอบด้ง โรงเรียนเทพศิรินทร์ 9และโรงเรียนบ้านหลวง อยู่ในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 8-9 ก.ย.60ที่ ผ่านมา ซึ่งสรุปประเด็นปัญหาต่างๆ จำแนกดังนี้
ประเด็นปํญหาโครงสร้าง พบว่าการบริหารโรงเรียนบนดอย ที่ต้องขึ้นตรงกับเขตพื้นที่การศึกษา หรือจังหวัด ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ ทำให้เสียเวลาเดินทางและงบประมาณจำนวนมาก และนโยบายที่ส่วนกลางสั่งตรงลงมาให้โรงเรียนปฏิบัติ ไม่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่
ประเด็นปัญหาการจัดการเรียนการสอน พบว่า หลักสูตรแกนกลาง มีมากเกินไปไม่สามารถสอนได้ครบถ้วน การวัดผลและประเมินผลของโรงเรียนบนดอย ไม่สามารถใช้เกณฑ์เดียวกับโรงเรียนในเมืองได้ อีกทั้งการใช้คะแนน O-NET มาประเมินผิดวิธี การเรียนไม่ได้ปฏิบัติจริงเรียนจากภาพและตำรา และสำคัญที่นักเรียนอ่านภาษาไทยไม่ออกเขียนไม่คล่อง เพราะในครอบครัวใช้ภาษาชนเผ่า
ประเด็นปัญหาของครู พบครูต่างถิ่นที่มาบรรจุในโรงเรียนบนดอย มักจะขอย้ายกลับทำให้การจัดการศึกษาไม่ต่อเนื่อง ครูถูกส่งไปอบรมมากกว่าสอนในห้องเรียน โรงเรียนไม่ได้ครูตรงตามความต้องการ
ขณะที่ปัญหาของนักเรียนบนดอยก็มีไม่น้อยเช่น ขาดอุปกรณ์การเรียน/กีฬา/คอมพิวเตอร์ ขาดโอกาสการพัฒนาทักษะทางด้านภาษา และการเป็นมัคคุเทศก์ โรงเรียนไม่ได้ครูตรงตามความต้องการ ตัวเด็กไม่มีบัตรประชาชนทำให้เสียโอกาสในการศึกษาต่อและทำงาน ตลอดจนการเดินทางมาโรงเรียนยากลำบาก
ซึ่งประเด็นปัญหาเหล่านี้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้มีข้อเสนอแนะในส่วนของโครงสร้าง คือให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล มีอำนาจการบริหารตนเอง เพื่อความสะดวกในเรื่องงบประมาณที่คล่องตัวและสามารถรับสมัครครูผู้สอนได้ตรงตามต้องการมากขึ้น ขณะที่ฝ่ายนโยบายควรจะต้องดูบริบทของท้องถิ่นด้วยการสั่งการลงมาแบบ One size fit all จะทำให้เกิดปัญหากับโรงเรียนบนดอยที่มีความแตกต่างของผู้เรียนสูง
ส่วนข้อเสนอแนะในเรื่องการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรควรมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ หลักสูตรควรจะลดจาก 8 สาระ เหลือ 5 สาระ รวมทั้งรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไว้ด้วย และยังต้องการให้เป็นหลักสูตรเหมือน พ.ศ.2521 ที่มีวิชา สลน.(สร้างเสริมลักษณะนิสัย) และ กพอ.(การงานพื้นฐานอาชีพ) เป็นต้น สำหรับการวัดและประเมินผล ควรดูบริบทของผู้เรียนแต่ละพื้นที่ไม่ใช่วัดด้วย O-NET เกณฑ์เดียวทั้งประเทศ สำหรับผู้ปกครองอยากให้นักเรียนเก่งภาษาอังกฤษและไอซีที เนื่องจากพื้นที่นี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก นักเรียนต้องการให้มีการสอนเรื่องพื้นฐานการเป็นมัคคุเทศก์ที่ดีเช่นภาษา กฎหมายจราจร เป็นต้น
ข้อเสนอแนะในเรื่องของครู ควรผลิตครูท้องถิ่นเพื่อให้กลับมาพัฒนาท้องถิ่นตนเอง และช่วยให้มีความเข้าใจวัฒนธรรมของท้องถิ่นภาษาง่ายขึ้น ครูควรมีภาระงานด้านการสอนอย่างเดียว ส่วนงานเอกสารหรือการจัดซื้อจัดจ้างควรจ้างคนที่มีความชำนาญมาดูแล ไม่ควรดึงครูไปอบรมนอกสถานที่บ่อยเกินไปทำให้ไม่มีใครดูแลเด็ก ความต้องการของเด็กในพื้นที่ เด็กต้องการสนับสนุนด้านอุปกรณ์กีฬา/ดนตรี/อุปกรณ์การเรียน/เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ อยากให้การเรียนรู้เป็นการปฏิบัติจริงมากกว่าเห็นจากภาพ -ต้องการสถานที่สำหรับเล่นกีฬาออกกำลังกาย ต้องการรถรับส่งรถประจำทางสำหรับเดินทางมาโรงเรียนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ต้องการสนับสนุนด้านอาหารเสริมนม จนถึงชั้นมัธยมศึกษา ต้องการเทคโนโลยีส่งเสริมการเรียนรู้เช่นอินเตอร์เน็ต ต้องการบุคลากรที่สามารถสอนได้ตรงตามสาขา และความถนัด รวมทั้งครูปฐมวัยต้องการประกอบอาชีพตามความต้องตามความฝันความถนัดเพื่อนนำมาพัฒนาชุมชนและบ้านเกิด
ทั้งหมดนี้ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า ข้อมูลเหล่านี้จะนำเข้าที่ประชุมของคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ เพื่อพิจารณากันต่อไป ส่วนเรื่องโรงเรียนที่เป็นนิติบุคคลมีความเห็นตรงกันว่า โรงเรียนที่เป็นนิติบุคคล ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งในพื้นที่นี้อาจแบ่งเป็น 2กลุ่ม คือ โรงเรียนที่มีความพร้อมบริหารจัดการเรียนการสอน และหลักสูตรตัวเองได้ และอีกรูปแบบ คือ การรวมกลุ่มโรงเรียน ดำเนินการร่วมกันเป็นนิติบุคคล ซึ่งจะต้องมาพิจารณาในรายละเอียดต่อไป ส่วนเรื่องหลักสูตรจะต้องมีความยืดหยุ่นตามบริบทของพื้นที่ ไม่ใช่ตัดเสื้อตัวเดียวแล้วใส่กันทั่วประเทศ
——————-
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ