-- advertisement --

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย:



หลังจากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์กรแพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมจัดทำโครงการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเชิงบูรณาการเพื่ออนุรักษ์เสือปลา (Prionailurus viverrinus) อย่างยั่งยืน (Development of fundamental science and innovation for sustainable fishing cat (Prionailurus viverrinus) conservation) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563

นายรุจิระ มหาพรหม คณะศึกษาวิจัย เปิดเผยว่า การลงพื้นที่สำรวจ ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจาก วนอุทยานเขานางพันธุรัต จ.เพชรบุรี ในการสำรวจจำนวนประชากรของเสือปลา ใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap) โดยใช้วิธีการสุ่มตั้งกล้องอย่างเป็นระบบ เพื่อสำรวจการแพร่กระจายของประชากร ในบริเวณพื้นที่โดยรอบวนอุทยานเขานางพันธุรัตและพื้นที่ใกล้เคียง

“จากการศึกษาเบื้องต้นพบจำนวนประชากรเสือปลา อย่างน้อย 8 ตัว มีการแพร่กระจายครอบคลุมอยู่ในพื้นที่อ.ชะอำ และ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยมีการใช้พื้นที่ (Habitat Site) อยู่บริเวณวนอุทยานเขานางพันธุรัต เเละพื้นที่ใกล้เคียง”

ถือว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าชนิดนี้อย่างมาก ส่วนแนวทางการจัดการเสือปลาในอนาคตต้องมีการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง ทั้งเฝ้าติดตามประชากรเสือปลา และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือกับชุมชนเจ้าของพื้นที่ให้คงสภาพพื้นที่ที่พบเสือปลาเอาไว้ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์เสือปลาที่ยั่งยืน



เสือปลา สัตว์ป่าหายากที่หาทางรอด!

เสือปลา หรือ เสือแผ้ว (Fishing cat: Prionailurus viverrinus) เป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็ก มีน้ำหนักอยู่ที่ 5-14 กก. ขนาดความยาวของลำตัว 65-85 ซม. และมีความสูง 40 ซม. จากพื้นดิน อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ มีพฤติกรรมการหากินปลา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มหนู และนกเป็นอาหารหลัก

ปัจจุบัน “เสือปลา” ได้ถูกจัดสถานภาพในระดับโลกตามบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red list) จัดให้เสือปลาอยู่ในสถานะมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ VU (Vulnerable species) ส่วนในประเทศไทยสำนักนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดสถานภาพเสือปลาให้มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ EN (Endangered species) และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลำดับที่ 183 ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

นางสาวเนตรนภา งามเนตรหัวหน้าวนอุทยานเขานางพันธุรัต เปิดเผยว่า ทางวนอุทยานฯ ให้ความสำคัญกับการป้องกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างมาก มีการลาดตระเวนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับพี่น้องประชาชนให้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้คงความอุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับลูกหลานสืบต่อไป ซึ่งการพบเสือปลาในครั้งนี้เป็นผลมาจากความสำเร็จของการทำงานด้านป้องกันของเจ้าหน้าที่ทุกคน และการเข้ามามีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน นอกจากวนอุทยานเขานางพันธุรัตจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ายานาชนิด วนอุทยานนี้ยังมีความสวยงามของธรรมชาติและเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เหมาะกับการเข้ามาศึกษาธรรมชาติของทุกเพศทุกวัยอีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิง ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เครดิตคลิป Mahidol Kids

“เสือปลา” มีลำตัวขนาดเล็กไม่ต่างไปจากสุนัขตัวหนึ่งเท่านั้นเอง และที่สำคัญมนุษย์เราไม่ใช่อาหารของพวกมัน เพราะเสือปลากินสัตว์ขนาดเล็ก เช่น นกหรือหนู Animals Speak จึงอยากพาน้องๆ ไปสัมผัสข้อเท็จจริงด้านต่างๆ ของเสือปลา ผ่านการทำงานของนักอนุรักษ์ ในการรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเสือปลา และประชาชนทั่วไปที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

-- advertisement --